‘คนจรดาบ-ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ 2 เล่มเด่น ‘มติชน’ คว้ารางวัล สพฐ.

‘มติชน’ คว้ารางวัล สพฐ. 2 ปก ‘คนจรดาบ-ปราสาท’ อาจารย์สุดปลื้ม!

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ BOOKWALKER ในแนวคิด “Book Fluencer” ผู้นำอ่าน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสำนักพิมพ์มติชน ประจำที่บูธมติชน M49 ดึงศิลปินชื่อดัง “ไข่แมว” ผู้วาดการ์ตูนน้องตาใส ผสมอารมณ์ขันยั่วล้อการเมือง มาร่วมออกแบบบูธและของพรีเมียม เตรียมเสิร์ฟนักอ่านแบบจุใจ ในธีม “BOOKSELECTION” โดยถ่ายทอดเส้นสีแสบสันยั่วล้อไปกับโมงยามของการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ภายในบูธอัดแน่นด้วยหนังสือ ครอบคลุมทุกความสนใจ อาทิ แนวการเมือง ประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ รัฐสวัสดิการ การเมือง ไสยศาสตร์-ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น อำนาจ จิตวิทยา-แรงบันดาลใจ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ตลอดจนหนังสือสุขภาพ โดยหนังสือใหม่ที่เปิดตัวในงานนี้ ทั้ง 26 ปก ลด 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนังสือขายดีลดพิเศษถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีนี้หนังสือจาก สำนักพิมพ์มติชน ได้รับรางวัลถึง 2 ปก ได้แก่ “คนจรดาบ” คว้าหนังสือดีเด่น รางวัลชมเชย ในการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ.2566 ประเภทหนังสือนวนิยาย จาก สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

Advertisement

และ ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ “ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทหนังสือสารคดีด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และชีวประวัติ จาก สพฐ.พร้อมได้รับเกียรติรับโล่รางวัลดังกล่าว จากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อช่วงบ่ายวันนี้

ศ.ดร.เชษฐ์เผยว่า ดีใจมาก ไม่นึกว่าหนังสือของตัวเองจะมาถึงจุดนี้ได้

“หนังสือที่เราเขียน จริงๆ แล้วเป็นการย่อยจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ผมก็คิดว่าน่าจะทำให้คนทั่วไปที่รู้สึกว่า ‘ปราสาท’ เป็นเรื่องที่ยากมากๆ กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย เล่มนี้เขียนเองคนเดียวทั้งเล่ม ใช้เวลาแค่ 2-3 เดือนเอง เขียนเสร็จก็ได้รางวัลเลย พอทราบว่าทางมติชนอยากจะได้หนังสือเล่มนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดพอดี ผมเลยตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้มาก อัดไป 3 เดือนเสร็จ” ศ.ดร.เชษฐ์เผย

Advertisement

ศ.ดร.เชษฐ์กล่าวต่อว่า เนื้อหาในเล่มนี้ แยกออกเป็นประเทศ เพราะรู้ดีว่าคนที่ไปเที่ยวปราสาทส่วนใหญ่แล้วเขาจะใช้ประเทศเป็นหลัก

“อย่างไปเที่ยวประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย เขาก็จะไปเปิดหนังสืออินโดนีเซียดู แต่เราคิดว่า ถ้าเกิดทำเรื่องประสาทแล้วแบ่งย่อยประเทศอยู่ในนั้นครบทั้งเล่ม เขาอาจจะอ่านอินเดียแล้วข้ามไปอ่านอินโดนีเซียได้ เพื่อทำความเข้าใจการท่องเที่ยวให้มากขึ้น”

แล้วปราสาท คือสัญลักษณ์ของอะไร ?

ศ.ดร.เชษฐ์อธิบายว่า ความจริงแล้วปราสาท คือ ‘เรือนของเทพเจ้า’ มีห้อง มีเสา มีผนังห้อง และมีชั้นบน มีประตูที่สามารถเข้าไปได้ ไม่เหมือนสถูปที่เข้าไปไม่ได้

“สถูป เหมือนกับหลุมฝังศพ เทพเจ้าที่ตายแล้วถึงจะอยู่ในสถูป แต่ในศาสนาฮินดูนั้น เทพเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่ เขาจึงสร้างประสาทให้ไม่สร้างสถูป ดังนั้นจึงไม่มีสถูปพระศิวะ แต่พระพุทธเจ้าของเรา ถูกมองว่าปรินิพพาน (ตาย) ไปแล้ว เราจึงสร้างสถูป เจดีย์ให้กับพระพุทธเจ้า” ศ.ดร.เชษฐ์ชี้

เมื่อถามว่า ปราสาทของประเทศไทยมีเอกลักษณ์อย่างไร เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ?

ศ.ดร.เชษฐ์ระบุว่า ไทยเรามีทั้งปราสาททวารวดี ปราสาทเขมร อย่างประสาททวารวดีก็มีลักษณะพิเศษ คือสร้างปนระหว่างประสาทกับสถูป หน้าตาเหมือนปราสาทแต่เข้าไปไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งก็จะมีลักษณะพิเศษของแต่ละประเทศออกไป

แล้วการศึกษาเรื่องประสาทจะทำให้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?

ศ.ดร.เชษฐ์กล่าวว่า แน่นอนว่าเราจะได้เรียนรู้เรื่องความคิดของคนในสมัยโบราณ ซึ่งชีวิตเขาจะมี 2 อยู่อย่าง 1.ทำให้ตัวเขาเอง อยู่ง่ายๆ กินง่ายๆ และ 2.ทำให้กับพระเจ้า ส่วนนี้จะทุ่มแรงกายแรงใจทุกอย่าง สร้างความซับซ้อนขึ้นมา

“ความซับซ้อนของศิลปะ มันจะทำให้เราตามความคิดของคนได้มากกว่าชีวิตประจำวันของเขา ที่อาจจะอยู่บ้านง่ายๆ แต่เวลาเขาจะสร้างบ้านให้เทพเจ้า เขากลับไม่ได้เอาบ้านแบบที่เขาอยู่มาสร้าง มีการคิดว่าอินเดียวางกฎอย่างไร สร้างความซับซ้อนอย่างไร เราสร้างความซับซ้อนอย่างนั้น ซึ่งการที่เราได้รับอิทธิพลอินเดียมาแล้วคนในยุคก่อนเปลี่ยนอะไรไปบ้าง ก็จะกลายเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศอีกเช่นกัน

เพราะฉะนั้นศิลปกรรมโบราณ จึงบ่งบอกความคิดคน แต่เป็นความคิดที่สัมพันธ์กับเทพเจ้า” ศ.ดร.เชษฐ์ชี้

เมื่อถามว่า ความคิดของคนในยุคนี้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในด้านความเชื่อ ความศรัทธา ?

ศ.ดร.เชษฐ์กล่าวว่า ชีวิตคนในปัจจุบัน เราก็อยากจะทำอะไรที่หรูหราให้กับตัวเองบ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องเทพเจ้า เรื่องพระพุทธเจ้า เราก็ยังถวายของที่ดีที่สุดให้

“อย่างเช่นเข้าไปในวัด หรือในเทวาลัยฮินดูสมัยปัจจุบัน ก็ยังจะสร้างอาคาร หรือสถาปัตยกรรมที่คิดว่าดีที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ซับซ้อนเหมือนสมัยโบราณ แต่ก็มีการสร้างปราสาท แม้ว่าปราสาทในยุคปัจจุบันอาจจะไม่ได้สร้างด้วยหินแล้ว แต่ก็ยังมีร่องรอยที่ว่า ต้องทำอะไรให้ ‘เวอร์’ เทพเจ้าคือสิ่งสูงสุด เราต้องทำอะไรให้เวอร์ๆ” ศ.ดร.เชษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า จ้องหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชนเล่มไหนไว้บ้าง ?

ศ.ดร.เชษฐ์กล่าวว่า มีเล่มที่อยากอ่าน ทราบว่าสำนักพิมพ์มติชนมีการแปลเรื่องจักรพรรดิเดลีองค์สุดท้าย

“The Last Mughal – เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง เล่มนี้อยากอ่านมาก เพราะเมื่อ 2-3 วันในวันนี้ผมพึ่งกลับมาจากย่างกุ้ง ไปเยี่ยมสุสานของจักรพรรดิองค์นั้นที่ถูกจับไปที่ย่างกุ้ง ก็รู้สึกผูกพันกับกษัตริย์องค์นี้ อยากจะอ่าน แม้ว่ามันอาจจะมีความเป็นนิยายผสม อยู่ แต่ในความเป็นนิยาย ข้อดีคือทำให้เรารู้สึกได้เสพอารมณ์ อ่านง่าย อ่านแล้วมีอารมณ์ความรู้สึก ไม่เหมือนหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปที่จัดตรงๆ แข็งๆ เพราะเขากลัวว่าถ้าจะไปเขียนอะไรนอกเหนือจากนั้น คนจะบอกว่าผิด ถ้าเป็นงานประเภทนี้จะเป็นกึ่งนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ เพิ่งไปเที่ยวมา มีหนังสือมติชนออกพอดีเลย” ศ.ดร.เชษฐ์กล่าว

สำหรับ “ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดย ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี จำหน่ายที่บูธมติชน M49 จากราคา 700 บาท พิเศษ ลด 15 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 560 บาท

ส่วน The Last Mughal – เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง โดย William Dalrymple (เขียน) สุภัตรา ภูมิประภาส (แปล) ขาวดำแทรกรูป 4 สี จำนวน 728 หน้า ราคา 720 บาท เหลือเพียง 612 บาท

ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image