สุพจน์ แจ้งเร็ว บก.ศิลปวัฒนธรรม คว้ารางวัล ‘คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง’ ยก ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ให้โอกาส

สุพจน์ แจ้งเร็ว บก.ศิลปวัฒนธรรม คว้ารางวัล ‘คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง’ ยก ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ให้โอกาส

เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 พร้อมประกาศรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปีพุทธศักราช 2565” โดยนายสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒธรรม ได้รับรางวัลดังกล่าว

นายสุพจน์ กล่าวปาฐกถา ความดังนี้

“กราบเรียนท่านนายกและกรรมการบริหารสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดจนท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้มาร่วมงานประชุมในการถ่ายทอดนะครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วันนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมภาษาและหนังสือได้มอบ ‘รางวัลบรรณาธิการดีเด่น’ รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ซึ่งเป็นรางวัลที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับคนทำหนังสือและกระผม

Advertisement

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง หรือที่เราเรียกด้วยความเคารพ หรือเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า อ.นิลวรรณ นั้น เป็นบรรณาธิการที่เป็นแบบอย่างของคนทำหนังสือ อาชีวปฏิญาณของท่านคือหนังสือ ชีวิตของท่านก็คือหนังสือ เพราะฉะนั้นรางวัลที่ได้ตั้งขึ้นในนามของท่าน จึงเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติอย่างยิ่ง สำหรับทุกคนที่ได้รับ นอกจากจะขอขอบคุณท่านนายกและคณะกรรมาธิการบริหารสมาคมทุกท่านแล้ว ผมใคร่ขอโอกาสนี้ขอบคุณบรรดาครูบาอาจารย์ที่ได้ให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทางวิชาหนังสือ บางท่านให้รวมถึงโอกาสและในฐานะบรรณาธิการจนถึงวันนี้

ท่านแรกนะครับในชีวิตทำหนังสือของผม ก็คือ ‘อ.เปลื้อง ณ นคร’ ผมไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวแต่หนังสือคำบรรยาย วิชาการประพันธ์ และหนังสือพิมพ์ของท่าน ได้ให้ความรู้เป็นเล่มแรกตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมต้น หลายสิ่งหลายอย่างในหนังสือเล่มนั้น ผมยังจำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งการจัดเตรียมต้นฉบับเพื่อส่งพิมพ์ ก็ยังใช้ตามแบบ อ.เปลื้องแนะนำมาตลอด

ท่านต่อมาคือ ‘อ.สุภา ศิริมานนท์’ นักวิชาการทางด้านหนังสือพิมพ์ ท่าน อ.สุภาเป็นตัวอย่างของคนทำหนังสือที่เรียกได้ว่าปราณีต มีความละเอียด ตั้งแต่เรื่องผู้เขียน เนื้อหา จนไปถึงการจัดหน้าหนังสือ นี่ก็เช่นเดียวกับ ‘สุลักษณ์ ศิวรักษ์’

Advertisement

คุณ ‘อาจิน ปัญจพรรค์’ เป็นครูนอกตำราอีกหนึ่งที่เล่าถึงประสบการณ์การเป็นบรรณาธิการ การดำเนินกิจการทุกครั้งที่ได้มีการสนทนาในการทำหนังสือ ส่วนบรรณาธิการอีกสองท่านที่พิมพ์งานของผมสมัยยังเป็นนักศึกษา เป็นบรรณาธิการสองคนแรกก็คือคุณ ‘เสถียร จันทิมาธร’ และ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ซึ่งให้ความหวังดีเสมอมา

ที่สำคัญที่สุดคือคุณ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ ผู้ให้ทั้งคำสอน ให้ทั้งการปฏิบัติ ให้เวลาในการลองผิดลองถูก ตั้งแต่ผมเริ่มต้นเข้ามาทำงานในนิตยสารฉบับนี้ เมื่อ 44 ปีที่แล้วนะครับ ท่านสุดท้ายคือคุณ ‘ขรรค์ชัย บุนปาน’ ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ที่ให้โอกาสในการทำงาน ทั้งในฐานะบรรณาธิการหนังสือเล่มและบรรณาธิการนิตยสารติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน

เมื่อได้เอ่ยถึงบรรดาบรรณาธิการทั้งหลายเหล่านี้มา ผมนึกถึงอาจารย์เจ้าของรางวัลก็คือ อ.นิลวรรณ ปิ่นทอง ความจริงผมได้รู้จักชื่อท่านมาก่อนบุคคลอื่นที่ได้กล่าวมานี้ แต่ไม่เป็นการส่วนตัว สถานที่ที่ผมได้รู้จักชื่อของท่านคือ ‘หนังสือวันเด็ก’ ประจำปี 2505 หนังสือวันเด็กของปีนั้นมีชื่อว่า ‘เด็กของเรา ฟัง ดู อ่านอะไร’ ซึ่งมันเป็นหนังสือสำหรับผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นหนังสือของเด็ก ไม่ได้มีเรื่องสนุกสนาน รื่นเริง บันเทิงใจ อะไรเลย มีแต่รายชื่อหนังสือ แต่รายชื่อหนังสือและรายชื่อบุคคลต่าง ๆ นานา เหล่านั้นมันเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับคนที่อ่าน ในบทความเรื่อง ‘ต้อยชอบหา’ ก็ได้กล่าวถึง ‘สตรีสาร’ ‘ดรุณสาร’ ‘สโมสรปรียา’ ซึ่งทั้งหมดนี้ อ.นิลวรรณเป็นคนสร้าง

หัวข้อที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ ความจริงใช้สุนทรกถาออกจะใหญ่โต คือบทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบัน เมื่อผมเอ่ยชื่อถึงรายชื่อบรรณาธิการทั้งหลายมาข้างต้นนั้น ผมก็นึกขึ้นได้ว่า ท่านเหล่านั้นมีบทบาทอะไรในฐานะคนทำหนังสือในช่วงเวลานั้น แล้วลองเทียบดูว่าในสังคมหนังสือปัจจุบันมีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป ซึ่งในการใช้คำว่าปัจจุบันนั้น เราคงเข้าใจร่วมกันว่ามันไม่ได้หมายความเพียงว่าเวลาขณะนี้ลอยๆ หรือวินาทีนี้ วันนี้ แต่มันหมายไปถึงความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่มันต่างไปจากอดีต

ทุกวันนี้สังคมหนังสือเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ผมได้ความรู้มากมายจากคุณมนทิรา (มนทิรา จูฑะพุทธิ) มันเปลี่ยน โดยเฉพาะนิตยสารหรือวารสารต่างๆ หนังสือเล่มอาจจะยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่า กับงานสัปดาห์หนังสือก็ยังคึกคักอยู่ตลอดมา นักเขียน นักแปลใหม่ๆ ก็ยังคงมีติดต่อกันมา

แต่นิตยสารและวารสารซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ประจำครอบครัว เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์เช้าและรายการโทรทัศน์ที่ดูพร้อมกันทั้งบ้าน มันไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว หลายปีมานี้ที่ติดต่อกันมา นิตยสารหลายเล่มต้องปิดตัวไปและที่เห็นชัดที่สุดก็คือแผงหนังสือริมทางซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเผยแพร่จำหน่ายหนังสือเหล่านี้แก่ผู้อ่านทั่วๆ ไป อาจจะเป็นคนรุ่นเก่า แทบหาไม่ได้แล้ว พูดได้ว่าไม่มีแล้ว ทุกวันนี้เรามีสมาร์ทโฟน มีโซเชียลมีเดีย มีทุกอย่างในตัวเอง มีหนังสือ มีโทรทัศน์ มีวิทยุ คุณจะฟัง ดู อ่าน อะไรในตัวมันได้ทั้งหมด แม้ระหว่างยืนรอรถประจำทางซึ่งยาวนานพอที่จะดู อ่าน ฟัง สิ่งเหล่านั้น

ข้อกังขาในปี 2505 ที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายหวั่นใจว่า ‘เด็กของเราฟังดูอ่านอะไร’ เมื่อมาถามในปีนี้ คำตอบมันจะได้ไม่เหมือนเดิมอีก

แล้วบทบาทของบรรณาธิการคืออะไรในสังคมหนังสือปัจจุบัน ผมคิดว่ารูปแบบหนังสือ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือว่าช่องทางการขาย หรือเนื้อหาการเขียน อะไรก็ตาม เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บทบาทของบรรณาธิการในฐานะบรรณาธิการ มันไม่น่าจะต่างกัน ตราบใดที่เรายังเรียงพิมพ์หนังสือด้วยตัวตะกั่วแบบในอดีต ตราบนั้นช่างเรียงก็ยังมีบทบาทอยู่ ตราบใดที่ยังมีหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่ม ตราบใดที่ยังมีผู้เขียน มีผู้อ่าน ก็ยังมีบรรณาธิการทำหน้าที่ของตน เพื่อให้หนังสือและผู้อ่านมาพบกัน

ผมเคยคุยกับวงสนทนาเล่นๆ กับบรรณาธิการอาวุโสหลายท่าน ถามว่า บทบาทของบรรณาธิการคืออะไร ท่านนั้นก็ตอบสั้นๆ สั้นที่สุดเลย ‘ค้นหาเพชร’ ซึ่งไอ้คำตอบสั้นๆ นี้เราต้องมาขยายความนะครับ คือบรรณาธิการคนหนึ่ง ไม่ว่าจะหนังสือ หรือจอกระจก หรือจะเป็นหนังสือ หรืออะไรก็ตาม เมื่อต้องการให้หนังสือดำเนินไป ก็จะต้องหางานเขียนที่ดี ที่มีค่า น่าสนใจต่อผู้อ่านของเขา ต้องการนักเขียนในทางที่เขาต้องการ คือต้องสอดคล้องกับความต้องการของสถานะหนังสือ

บรรณาธิการท่านหนึ่งกล่าวว่า บรรณาธิการเป็นอย่างไร หนังสือก็เป็นอย่างนั้น นั่นคือนักเขียนอยู่ในดุลพินิจของบรรณาธิการว่าดี ว่าเหมาะ หรือบรรณาธิการชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งมันนำไปสู่การทำเป็นหนังสือออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

คราวนี้ นักเขียนก็ไม่ได้มีแต่นักเขียนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในทันที ในระหว่างที่หนังสือมันดำเนินการไปนั้น มันก็มีคนใหม่ๆ ปรากฏตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือเล่มนิยสารอะไรก็ตาม นี่คือ ‘เพชร’ ที่บรรณาธิการมีบทบาทในการนำเสนอต่อสังคมหนังสือ และที่สำคัญคือเพชรที่ว่านี้ มันไม่ได้สำเร็จรูปเสมอไป บางคนมีฝีมืออยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสเสนอตัวในสังคมหมู่มาก บางคนยังต้องการเจียระไน

ลองนึกถึงคุณ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ หรือ ‘ศรีบูรพา’ บังคับให้คุณ ‘โชติ แพร่พันธุ์’ เขียนหนังสือ เราก็ได้ ‘ยาขอบ’ นึกถึง อ.นิลวรรณกำลังจะถ่ายทอดวิชาบรรณาธิการให้แก่ คุณ ‘สุภัทร สวัสดิ์ลักษณ์’ สิ่งที่ตามมาในเวลาต่อมาคือ นิตยสาร ‘สกุลไทย’ และในหน้าของสตรีสารนั้นก็เป็นเวทีให้นักเขียนอีกหลายท่าน ได้เริ่มต้นหรือสร้างชื่อเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา กฤษณา อโศกสิน, โบตั๋น (สุภา สิริสิงห) และวาณิช จรุงกิจอนันต์ เริ่มมาจากตรงนี้

นึกถึง อ.สุลักษ์ ศิวรักษ์ เมื่ออ่านงานของ ‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นึกถึงคุณ ‘จำนง รังสิกุล’ แห่งไทยทีวีช่อง 4 ที่ขอร้องแกมบังคับถึง 2 ครั้งให้คุณ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ เข้ามารับทำหนังสือนิตยสารไทยทีวี ตอนนั้นคุณอาจินต์ยังเป็นแค่นักเขียนและประจำอยู่ช่อง 4 จากตรงนั้นเราจึงได้ ‘ฟ้าเมืองไทย’ ในเวลาอีก 10 ปีต่อมา และจากฟ้าเมืองไทยเราได้ ‘นิมิตร ภูมิถาวร’ ได้ ‘คำพูน บุญทวี’ หรือนักเขียนรางวัลซีไรต์ นี่คือเรื่องราวของเพชรที่บรรณาธิการในแต่ละรุ่น ๆ ได้สร้างและส่งต่อกันมา

คราวนี้ขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวสักนิดของศิลปวัฒนธรรม เมื่อ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ออกนิตยสารมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2522 คุณสุจิตต์ ได้รู้จักกับฝรั่งอังกฤษคนหนึ่ง ทำงานธนาคาร ไม่เคยเขียนหนังสือที่ไหน แต่มีความรู้ภาษาไทย มีความรู้ที่เขาศึกษาด้วยตนเองจนเขาอ่านศิลาจารึกได้ ฝรั่งคนนั้นเริ่มต้นเขียนหนังสือ เริ่มต้นเขียนบทความเป็นภาษาไทยครั้งแรกใน ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ในฉบับปฐมฤกษ์ เรื่อง ‘ส้วม สมัยสุโขทัย’ เขาเขียนด้วยความรู้ เขียนด้วยอารมณ์ขัน เป็นต้นฉบับลายมือเท่าหม้อแกงของเขาเนี่ย แล้วก็มีสะกดผิด สะกดถูก แต่สำนวนทั้งหมดเป็นของเขา 100% ไม่มีบรรณาธิการคนไหนไปแก้ได้และไม่สมควรจะแก้ นั่นคือ คุณ ‘ไมเคิล ไรท’ เจ้าของฉายาฝรั่งคลั่งสยาม ซึ่งน่าเสียดายที่ท่านล่วงลับไปแล้ว

อันนี้แน่นอนอย่างที่ว่าผมขยายบทบาทของ บก. ไปอีกนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นของแท้ตั้งแต่เริ่มต้นในบรรดาคาถา 3 คำของ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ในการเลือกเรื่องมาลงหนังสือก็คือ ‘ True’ ‘Kind’ ‘Necessary’

‘True’ นี่ก็คือของแท้แน่นอน เราเห็นต้นฉบับ เราเห็นนักเขียน เราเห็นงานของเขา เรารู้ว่าใช้ได้ ใช้ได้โดยไม่ต้องไปแตะต้องอะไรเลย ส่วน ‘Necessary’ คือความจำเป็น คือจำต้องลงพิมพ์เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่บรรณาธิการส่วนมากมีและพบ จำเป็นจะต้องลง ก็ต้องลง ไม่ต้องถาม ที่สำคัญที่สุดคือ ‘Kind’ คือเลือกชนิดที่ยังไม่ได้ 100% บรรณาธิการจะต้องขัดเกลา ต้องแนะนำด้วยความปรารถนาดี ผมว่าหน้าที่ของบรรณาธิการอยู่ตรงนี้มากกว่าที่อื่น อันนี้ไม่ได้กล่าวแค่ถึงในสิ่งที่ลงพิมพ์ในนิตยสารหรือวารสาร

แม้การพิมพ์ในหนังสือเล่ม หรือในหนังสือวิชาการ อะไรก็ดี ที่คัดเลือกมาจากวิทยานิพนธ์หรืองานเขียนอื่นๆ จะต้องมีบรรณาธิการเป็นผู้ช่วยขัดเกลาให้ตรงนี้ ซึ่งมันมีบทบาทของบรรณาธิการ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใดก็ตาม แทรกประกอบอยู่ในงานนั้นทั้งสิ้น ซึ่งผมเห็นว่าบทบาทในการค้นหาเพชร หรือนักเขียนใหม่ๆ ซึ่งต้องนับรวมไปถึงคนทำหนังสือใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการ พนักงานที่ทำอยู่ในหนังสือ พนักงานพิสูจน์อักษร ก็มีบทบาทในสิ่งเหล่านี้ นี่คือบทบาทของบรรณาธิการในการหาบุคคลเหล่านี้มาทำ ให้หนังสือมันดำเนินการต่อไปได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ บทบาทของการหาเพชร หรือนักเขียน ซึ่งรวมไปถึงคนทำหนังสือรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาสังคมหนังสือต่อไปได้ คือบทบาทของบรรณาธิการที่ผ่านมารุ่นต่อรุ่น นับตั้งแต่เรามีระบบการพิมพ์แบบตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นหนังสือมันไม่อยู่

ตราบใดที่ยังมีหนังสือไม่ว่าจะในรูปแบบกระดาษ หรือจอกระจก ตราบใดที่มีผู้ชอบเขียน ตราบใดที่ยังมีคนชอบอ่านตราบนั้นบรรณาธิการทั้งหลายก็ยังคงมีบทบาทดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นบทบาทในฐานะผู้ประสานทั้ง 3 ส่วน คือ คนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือ และคนอ่านหนังสือให้เขากัน และโดยบทบาทเช่นนี้ที่ได้ผลักดันให้สังคมหนังสือโดยรวมดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าของสังคมหนังสือจะเป็นอย่างไรก็ตาม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image