‘ตะวัน วัตุยา’ พาเปิดโรง ‘มติชน(ด)รามา’ กับ เทศกาลอ่านเอาเรื่อง

‘ตะวัน วัตุยา’ พาเปิดโรง ‘มติชน(ด)รามา’ กับ เทศกาลอ่านเอาเรื่อง

ขอบอกด้วยความมั่นใจ ว่าใครที่ไปงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12-23 ต.ค.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น่าจะชอบอกชอบใจการออกแบบบูธของ สำนักพิมพ์มติชน ที่ครั้งนี้มาในธีม ‘มติชน(ด)รามา เทศกาลอ่านเอาเรื่อง’ จากฝีมือการออกแบบของศิลปินดัง ตะวัน วัตุยา คีย์แมนผู้ออกแบบภายใต้แนวคิด ‘โรงหนังสะท้อนการเมืองไทย’

โดยตะวันซึ่งร่วมงานกับมติชนมานานเล่าถึงที่มาของภาพที่ดูแล้วเหมือนใบปิดภาพยนตร์ไทยในยุคเก่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยผ่านการ์ตูนเล่มละบาท แล้วก็มีโปสเตอร์ยุคสงครามเย็น ซึ่งพอคุยกับทางสำนักพิพม์มติชนก็เลยได้งานที่เหมือนกับต่อยอดจากงานนั้น แต่ครั้งนี้เปลี่ยนจากภาพการ์ตูนมาเป็นหนัง

“ผมก็ยังอยากเล่นกับความทรงจำ กับความคิดถึงเก่าๆ มันเป็นสิ่งที่ย้อนยุคที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังไทย ยุค 60-70″

Advertisement

สำหรับการออกแบบให้เข้ากับคอนเซปต์ ‘อ่านเอาเรื่อง’ ตะวันก็ว่า ในความเห็นเขา ทุกวันนี้เวลาดูข่าว บางทีก็รู้สึกเหมือนละคร เหมือนหนังมากๆ จนบางทีเราอาจจะงงว่าอะไรจริง ไม่จริง มันซ้อนกันอยู่

“ทุกวันนี้เราก็เห็นในสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเห็น จะเกิดขึ้น เรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องแต่ง มันกลายเป็นเรื่องจริงได้”

ซึ่งถ้าจะนำไปเปรียบกับหนัง ก็ต้องเรียกว่าเป็นงานที่ครบเครื่องครบรส

Advertisement

“หนังไทยในยุคที่เฟื่องๆ มันจะครบรส มีบู๊ มีดรามา มีตลก มีโป๊นิดๆ ถ้าทำหนังแบบนี้ออกมาค่อนข้างจะขายได้ดี เพราะมันถูกจริตคนไทย เหมือนรสชาติอาหารไทย”

ซึ่งเมื่อรวบรวมแนวคิดนั้นได้ ก็กลายเป็นงานออกแบบอย่างที่เห็น

ตะวันยังเล่าถึงการใช้เทคนิคการวาดที่ล้อไปกับการวาดโปสเตอร์หน้าหนังในยุคก่อนว่า “ก่อนนี้ผมจะทำด้วยสีน้ำลงกระดาษ แต่ว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมกลับมาทำงานลงแคนวาส ด้วยสีอะคริลิค”

“โปสเตอร์หนังนี้ มีใช้สีน้ำมันหรือสีโปสเตอร์ ก็จะมีความคล้ายๆ เทคนิคที่ผมทำมาก่อน ก็เลยเอาเทคนิคนั้นต่อเนื่องมาถึงงานชุดนี้”

เล่าด้วยว่า “ช่วงที่ลองผิดลองถูก รูปแรกๆ ของงานเซ็ตนี้ ผมค้นพบว่าผมอยากได้ความรู้สึกแบบที่มันเหมือนโรงหนังชั้น 2″

“สมัยผมเด็กๆ ยังไม่มีโรงหนังในห้าง จะเป็นสแตนด์อโลน แล้วจะมีโรงหนังหลายเกรด มีชั้น 1 ที่จะฉายเรื่องเดียว เข้าออกเป็นเวลา แต่โรงหนังชั้น 2 เราเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ จะฉาย 2-3 เรื่อง เป็นหนังวนทั้งวัน บางคนก็อยู่ในนั้นทั้งวันก็มี”

“ผมอยากได้อารมณ์แบบนี้”

“ช่างวาดโปสเตอร์สมัยก่อนเขาไม่มีเครื่องปริ้นท์ขนาดใหญ่ ทุกอย่างใช้มือทำหมด โปสเตอร์ที่อยู่ในโรงหนังชั้น 1 เขาจะใช้คนที่เก่งมากๆ ระดับเซียน”

แต่ใขณะที่โรงหนังชั้น 2 ทุนรอนไม่มีมากพอที่จะจ้างระดับยอดฝีมือก็จะใช้ช่างในระดับที่รองลงมา

“ซึ่งผมชอบแบบนั้นมากกว่า” เขาบอกพลางยิ้ม

“มันดูมีรสชาติ ทำให้เรานึกถึงอะไรเก่าๆ เลยทำงานเซ็ตนี้ออกมา เพนท์เหมือนบ้าง ไม่เหมือนบ้าง เหมือนไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันเหมือนต้นแบบนัก”

ใครที่อยากจะเห็นผลงานดังกล่าวก็มาเจอะเจอกันได้ที่บูธมติชน

“มาแล้วเหมือนมาโรงหนัง เห็นคัตเอาต์ เห็นรูปดาราอะไรอย่างนี้”

“แล้วคนยุคนี้ก็ชอบถ่ายรูปกันอยู่แล้วใช่ไหม” ดังนั้นจึง “อาจจะมีเพนท์ติ้งของจริงไปอยู่ที่บูธด้วยให้ได้ถ่ายรูปครับ”

ไปเจอกับ ‘มติชน(ด)รามา’ ที่มาพร้อมกับหนังสือหลากหลายรสชาติ ที่รอให้ ‘อ่านเอาเรื่อง’ ได้ที่บูธ J47 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


เรื่องของศิลปะกับการเมือง

“จริงๆ มันเกี่ยวพันกันมานานแล้วนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าอาร์ทติสจะพูดถึงมันขนาดไหน แต่อาร์ทในโลกนี้มันมีเยอะแยะหลายประเภท อาร์ทติสที่ไม่เคยเอาเรื่องพวกนี้มาทำเลยก็มี หรืออาร์ทติสที่ทำแต่เรื่องพวกนี้ หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง อย่างผมก็ไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา บางครั้งก็ทำบ้าง บางครั้งก็ไม่ได้พูด”

“อาร์ทติสเขาก็ทำจากสิ่งที่เขารับรู้ ถ้าคนที่ทำเรื่องพวกนี้แสดงว่ามันมีผลกับชีวิตเขา มีผลกับความคิดเขา เขาถึงทนไม่ได้ที่ต้องเอามันออกมาทำเป็นงานศิลปะ”

ถ้าเทียบสถานการณ์การเมืองไทยช่วงนี้ เป็นหนังเรื่องหนึ่ง น่าจะเป็นแนวไหน?
“น่าจะเป็นหนังทริลเลอร์ แนวซับซ้อนเดาไม่ถูก มีเซอร์ไพร์ส ตอนนี้ก็มีบู๊ ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นระยะๆ ก็คล้ายๆ รูปที่ผมวาดทั้งหมดช่วงนี้แหละ”

คิดว่าการเมืองไทยช่วงหลังมีการกดดันศิลปินในเรื่องการแสดงความคิดไหม มีศิลปินหลายคนที่ถูกดำเนินคดีด้วย?
“จริงๆ ทุกอย่างก็มีลิมิตของมันนะครับ ไม่ว่าประเทศไหนก็มี ไม่มีที่ไหนที่ทำอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้หรอก แต่ที่นี่ก็อาจจะมีลิมิตเยอะหน่อย อาร์ทติสที่ทำเรื่องพวกนี้ผมว่ามันมาจากความรับรู้อ่ะ แต่จริงๆ อาร์ทติสที่ทำเรื่องการเมืองเยอะๆ ช่วงประมาณ 50 ปีที่แล้วน่ะ ช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา”

ในใจลึกๆ มีความอยากจะนำเสนอออกไป แต่พูดไม่ได้ ต้องไปเปิดเผยที่อื่นบ้างไหม?
“ถ้าเป็นอาร์ทมันมีหลายวิธีนะ ตรงไปตรงมาจนเกินไป ก็อาจจะมีผลกลับมา อย่างผมก็ทำในสิ่งที่ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง เป็นกลวิธีของการทำศิลปะน่ะ แต่ละคนมีวิธีในการสังเคราะห์ข้อมูลไม่เหมือนกัน วิธีในการทำอาร์ทออกมาไม่เหมือนกัน บางทีอาร์ทติสอาจจะชอบในสิ่งที่อาร์ทติสประเทศอื่น ชาติอื่นเขาทำ แต่ก็ต้องดูบริบทด้วย ว่าเขาทำที่ประเทศไหน พูดถึงเรื่องอะไร ก็ต้องดูด้วยว่าทำแบบนั้นที่นี่ได้ไหม เหมือนกันแหละบางอย่างที่เราทำทำที่นี่ได้ แต่ไปทำที่อื่นไม่ได้ อย่างที่บอกว่าทุกพื้นที่มันมีลิมิตของมันอยู่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image