คนงามแห่งจักรวาล ผู้ยังรำลึกถึง ‘มาลาลา’

คนงามแห่งจักรวาล ผู้ยังรำลึกถึง ‘มาลาลา’

สำหรับผู้รู้ข่าวและยังจดจำเรื่องราวได้ อาจคิดว่า เพิ่งไม่นานมานี้เอง ที่เด็กหญิง มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yusafsai – มะลาละห์ ยูซัฟไซ) วัย 15 ปี ชาวปากีสถาน ซึ่งถูกมือปืนกลุ่มตอลีบันยิงศีรษะบาดเจ็บสาหัส เพราะเธอออกมารณรงค์เรื่องการศึกษาของเด็กผู้หญิง เนื่องจากเด็กหญิงถูกห้ามเข้าโรงเรียนเรียนหนังสือ

แต่ที่จริง เวลาผ่านมานานถึง 11 ปีแล้ว จากเหตุร้ายที่เกิดในปี 2555 ถึงปีนี้

ถึงกระนั้น อย่างน้อย ยังมีผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาลจากประเทศไทย วัย 27 ปี แอนโทเนีย โพซิ้ว เป็นผู้หนึ่งซึ่งยังจดจำเธอ และเรื่องราวของเธอได้

Advertisement

มาลาลาในวัยเพียง 11 ปี เริ่มเขียนบันทึกโดยใช้นามแฝง กุลมาไก ชื่อวีรสตรีในตำนานพื้นบ้านชาวปัชตุน ให้บีบีซีภาคภาษาอูรดูเล่าชีวิตในการปกครองของกลุ่มตอลีบัน โดยเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา แม้จะมีการคุกคาม ข่มขู่ จนในที่สุด ก็ถูกทำร้ายอย่างเปิดเผยในรถโรงเรียน

โดยกลุ่มก่อเหตุอ้างว่า ยิงเธอเพราะเธอมี “ค่านิยมตะวันตก” และเป็นผู้ “ส่งเสริมวัฒนธรรมตะวันตกในเขตชนเผ่าปัชตุน”

เผ่าปัชตุนคือ “ปาทาน” ที่รู้จักกันในไทย

Advertisement

เธอบาดเจ็บขนาดจะเป็นหรือตายไม่แน่ หมอโรงพยาบาลทหารต้องผ่าตัดฉุกเฉิน เอากระโหลกบางส่วนออกเพื่อลดอาการสมองบวม แล้วส่งตัวต่อไปยังเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เพื่อพักฟื้น ซึ่งเธอได้อาศัยอยู่ที่นั่นต่อมาพร้อมครอบครัว

จากนั้น อีก 2 ปีหลังถูกทำร้าย เธอกลายเป็นชาวปากีสถานคนแรก และเป็นผู้มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในวัย 17 ร่วมกับนาย ไกลาส สัตยาธิ ชาวอินเดียนักรณรงค์เพื่อสิทธิเด็ก วัย 58 ปีขณะนั้น

“มะลาละห์” ซึ่งหมายถึง “ความเศร้าโศกเสียใจ” ชื่อที่ถูกตั้งตามนาม มะลาไล แห่ง ไมวานด์ (Malalai of Maiwand) กวีหญิงชาวปาทานผู้เลื่องชื่อ ซึ่งเป็นนักรบสตรีจากทางใต้ของอัฟกานิสถาน จะด้วยเพราะครอบครัวไม่มีเงินพอจะคลอดเธอในโรงพยาบาล ทำให้ต้องคลอดที่บ้านโดยมีเพื่อนบ้านคอยช่วยหรือไม่

แต่ปัจจุบัน เมื่อวัย 20 ปี เธอมีคะแนนมัธยมปลายพอให้ถูกคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ในปี 2560 จนเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา จึงสำเร็จปริญญาตรีสาขาดังกล่าว โดยบอกว่า ยากที่จะกล่าวว่าเธอดีใจแค่ไหนที่เรียนจบ และไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า

“แต่ตอนนี้ ขอดูเนทฟลิกซ์ อ่านหนังสือ และนอน” ก่อน

“แอนโทเนีย” นางงามจักรวาลไทย เดินทางเป็นตัวแทนไปร่วมประกวดนางงามจักรวาล ครั้งที่ 72 ที่กรุงซาน ซัลวาดอร์ สาธารณรัฐเอล ซัลวาดอร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากรอบ 20 คนสุดท้าย เธอผ่านรอบ 10 คนสุดท้าย เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้ นางงามไทย มารีญา พูนเลิศลาภ เคยเข้าถึงในปี 2560 และ ปวีณสุดา ดรูอิ้น เข้าถึงในปี 2562

ในรอบ 5 คนสุดท้ายนี้ มีการตอบคำถามเป็นส่วนหนึ่งประกอบการคัดเลือก เธอได้รับคำถามว่า ถ้าได้พูดกับนักเรียนทั้งห้อง เรื่องการกลั่นแกล้ง (bully) ทางออนไลน์ เธอจะพูดเรื่องนี้อย่างไร

แอนโทเนียตอบว่า “อย่าฟังสิ่งที่คนอื่นพูด ที่สำคัญคือ เราจะเตรียมรับการบูลลี่อย่างไร ต้องใช้เสียงยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น ทำสิ่งที่เราอยากเห็นบนโลกใบนี้ โดยลงมือเป็นตัวอย่าง อย่าฟังคำเกลียดชัง เพราะสิ่งนั้นไม่ได้กำหนดตัวตนของเรา สิ่งที่กำหนดตัวตนเรา คือการลุกขึ้นยืนหยัด แล้วก้าวออกมาจากคำเกลียดชังเหล่านั้น”

เธอผ่านรอบ 5 คนสุดท้าย สู่รอบ 3 คน ซึ่งทุกคนต้องตอบคำถามเดียวกัน

คำถามนั้นคือ ถ้าสามารถใช้ชีวิตของหญิงอีกคนได้เป็นเวลา 1 ปี เธอจะเลือกเป็นใคร เพราะเหตุใด

แอนโทเนียตอบว่า “ฉันเลือกเป็นมาลาลา ยูซัฟไซ เพราะฉันรู้ว่า เธอต้องดิ้นรนสู้อุปสรรคเพื่อมาถึงจุดที่เธออยู่ทุกวันนี้ เธอต่อสู้เพื่อการศึกษาของสตรี ต่อสู้เพื่อผู้หญิงทุกคนสามารถยืนหยัด เข้มแข็ง เป็นผู้เปลี่ยนแปลง และเป็นผู้นำ ด้วยการกระทำเป็นตัวอย่าง หากเลือกเป็นใครได้ ฉันจึงขอเลือกเป็นเธอ”

แล้วเธอก็ผ่านไปเป็น 2 ผู้แข่งขันหลังสุดร่วมกับ เชย์นิส ปาลาซิโอส จากนิการากัว

เป็นสองคนหลังสุด ที่คนหนึ่งจะได้รับเลือกเป็นนางงามจักรวาล หลังจากเวลาผ่านมา 35 ปี ที่นางสาวไทย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก เคยไปถึงรอบดังกล่าวนั้นในปี 2531 และได้รับเลือกเป็นนางงามจักรวาล

แอนโทเนียไม่ได้เป็นนางงามจักรวาล เพียงรองอันดับ 1 แต่เธอได้รื้อฟื้นให้ผู้คนในโลกใบนี้ ที่ติดตามข่าวสารการประกวด ดูการถ่ายทอดสด ได้เห็นความสำคัญอีกครั้งของพลังสตรี ซึ่งมีส่วนแบกโลกและหมุนโลกอยู่ครึ่งหนึ่ง

ได้เห็นพลังอำนาจของความรู้ การเรียนรู้ การกระหายใคร่เรียนรู้ ของสตรีที่หลายแห่งในโลกยังเป็นพลเมืองชั้น 2 ยังถูกเอาเปรียบ ทอดทิ้ง ละเลย สตรีที่ยังต้องต่อสู้เพื่อสถานะของตน เพื่อตัวตน การคงอยู่ และความหมายของการเป็นมนุษย์

แอนโทเนียพูดถึงเด็กหญิงซึ่งต่อสู้เพื่อตัวเอง และเด็กหญิง ผู้หญิงคนอื่นๆ มาตั้งแต่วัย 11 ขวบ ท่ามกลางความโหดร้าย ไร้ความปรารถนาดี ที่ต้องหล่อหลอมให้เด็กหญิงวัย 11ขวบคนหนึ่ง ต้องแตกต่างจากเด็กวัย 11 ขวบโดยทั่วไป

จะส่งผลมากหรือน้อย ต่อความคิดและจิตใจของบรรดาผู้ติดตามและรับรู้ข่าวสารอย่างไรไม่รู้ แต่การรื้อฟื้นนาม “อันเป็นสัญลักษณ์” รับรู้กันในสากลนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เท่ากับแอนโทเนียได้ส่งความงามของความคิดอ่านสู่โลก จากเวทีประกวดนางงามนี้แล้ว

I Am Malala เด็กหญิงที่ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิการศึกษา และถูกตอลีบันยิงศีรษะ อัตชีวประวัติซึ่งมาลาลาเขียนร่วมกับนักข่าวต่างประเทศชาวอังกฤษ คริสตินา แลมบ์ แปลโดย สหชน สากลทรรศน์ ของสำนักพิมพ์มติชน วางแผงในช่วงที่เธอได้รับรางวัลโนเบล เป็นหนังสือน่าอ่านน่าเรียนรู้ยิ่ง ว่าเด็กหญิงคนหนึ่งคิดขึ้นมาได้อย่างไร

อาจารย์ภาษาและวรรณคดี รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ผู้ล่วงลับไปไม่กี่ปีก่อนเวลาอันควร เช่นเดียวกับผู้ยังประโยชน์กับสังคมอีกหลายคน พูดถึงหนังสือเล่มนี้ไว้น่าพินิจ

“ฉันเป็นเด็กหญิงที่เกิดมาในบ้านเมืองที่ยิงปืนฉลองให้ลูกชาย และเก็บซ่อนลูกสาวไว้หลังผ้าม่าน หน้าที่ในชีวิตของพวกเธอเพียงทำอาหารและคลอด”

แอนโทเนีย โพซิ้ว-เชย์นิส ปาลาซิโอส

กลายเป็นหนังสือซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก เพราะความระทึกขวัญของเรื่องราว เมื่อเด็กหญิงซึ่งอาจเป็นศัตรูอายุน้อยที่สุดของกลุ่มตอลีบัน ถูกหมายชีวิต มือปืนยิงเธอในรถโรงเรียน กระสุนทะลุเบ้าตาออกทางไหล่ กระทบการมองเห็น พูด และยิ้ม เธอต้องผ่าตัดสมองและเส้นประสาทบนใบหน้า

ประธานาธิบดีปากีสถานรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมด ช่วยเหลือดูแลการพยาบาล และอารักขาความปลอดภัยของชีวิต รัฐบาลสหรัฐอาหรับแอมิเรตส์ และมกุฎราชกุมาร ให้ใช้เครื่องบินส่วนพระองค์นำเธอไปอังกฤษ คณะแพทย์โรงพยาบาลควีน เอลิซาเบธ ทุ่มเทรักษาสุดกำลัง

จนเธอปลอดภัย ไม่พิการ กลับคืนเป็นเด็กสาวงดงามดังเดิม

ข่าวหมายชีวิตเด็กหญิงอันสยองขวัญสะเทือนใจนี้ ทำให้คนทั่วโลกประณามกลุ่มใช้อำนาจกดขี่รุนแรง กระทำการอย่างเหี้ยมโหด ขณะเธอกลายเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องจากการต่อสู้แสดงความคิดอ่านอย่างเปิดเผย

“ผู้ก่อการร้ายคิดว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงความมุ่งมั่นปรารถนาของฉันได้ พวกเขาไม่รู้เลยว่า ชีวิตฉันมีเพียงความอ่อนแอ หวาดกลัว และความสิ้นหวังเท่านั้น ที่เปลี่ยนให้ความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กับพลังความกล้าหาญ ได้เข้ามาแทน”

สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 12 กรกฎาคม วันคล้ายวันเกิด 16 ปีของเธอ เป็น “วันมาลาลา” หรือ “วันเพื่อการศึกษาของเด็กทั่วโลก”

เด็กหญิงซึ่งมาจากครอบครัวที่ “ตอนเช้าเมื่อพ่อได้กินครีมหรือนม น้องสาวพ่อจะได้ชาไม่ใส่นม ถ้ามีไข่ เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ได้กิน เมื่อเชือดไก่ทำมื้อเย็น เด็กผู้หญิงจะได้ปีกกับคอ เนื้ออกแสนอร่อยมีแต่พ่อ พี่ชาย กับปู่เท่านั้น ที่ได้ลิ้มรส”

เออหนอ – จะพูดได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่า นี่คือชีวิต หรือชีวิตต้องเป็นเช่นนี้

กระนั้น ยังเคราะห์ดีที่พ่อเธอรักลูกสาว แม้ตอนที่เธอเกิด “คนในหมู่บ้านเห็นอกเห็นใจแม่ และไม่มีใครแสดงความยินดีกับพ่อ”

สังคมเช่นนี้ใช่ไหม ที่ทำให้เธอเกิดความคิดอ่านซึ่งผิดแปลกแตกต่างไป

ขอบคุณแอนโทเนียที่เอ่ยนามเธอขึ้นมาอีกครั้ง.

….
พยาธิ เยิรสมุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image