นักปวศ.ชี้ ‘อโยธยา’ จุดเริ่มต้นศักดินาเก่ากว่าเขมร ระบบราชการซับซ้อน แบ่งศาลตามประเภทคดี

วัดอโยธยา ตั้งอยู่ในพื้นที่อโยธยา นอกเกาะเมืองอยุธยา (แฟ้มภาพ)

รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เสนอ ‘อโยธยา’ มาก่อนอยุธยา จุดเริ่มต้นศักดินาเก่ากว่าเขมร ระบบราชการซับซ้อน แบ่งศาลตามประเภทคดี เก่ากว่าสุโขทัย สอดคล้องเอกสารอาหรับระบุ  อยุธยา ‘ชะฮ์ริเนา’ หมายถึง เมืองใหม่ สำนักพิมพ์มติชนเตรียมพิมพ์เผยแพร่เร็วๆนี้ 

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยถึงข้อเสนอเกี่ยวกับ ‘อโยธยา’ ว่าเป็นราชธานีที่เก่ากว่าอยุธยาและกรุงสุโขทัย นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของระบบศักดินา และบรรดาศักดิ์ รวมถึงระบบราชการของไทยอีกด้วย

“ระบบราชการของอยุธยา เริ่มมาตั้งแต่อโยธยา ที่สำคัญคือมีความซับซ้อนแล้ว อย่างน้อยมีการแบ่งศาลตามประเภทของคดีความ ว่าคดีประเภทนี้ขึ้นศาลไหน

การยกสถานภาพของกษัตริย์เป็น พระเป็นเจ้า ก็เริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงอโยธยา ระบบดังกล่าว มีความเก่าแก่กว่าเขมร  ระบบที่กษัตริย์เปรียบเสมือนพระเป็นเจ้าขณะยังมีพระชนม์ชีพ อโยธยาเก่ากว่าเขมร เพราะเขมรเพิ่งมีในยุคที่ร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ส่วนกมรเตงที่ปรากฏในจารึกเขมรโบราณเป็นชั้นยศ ไม่ใช่ระบบศักดินา เขมร ลงท้ายด้วยการเป็นเทวะ ขณะที่กษัตริย์เขมรจะเป็นพระผู้เป็นเจ้าได้ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเท่านั้น” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า ประชากรของอโยธยา ต้องมีจำนวนมาก เพราะแนวคลองที่ปรากฏ ต้องใช้กำลังคนในการขุดหลายหมื่น

“คำนวนจากคลองคูเมืองกรุงเทพฯ ตรงป้อมพระสุเมรุไปออกคลองโอ่งอ่าง ใช้คนเขมรและลาวขุด โดยมีความยาวเท่ากับคลองเพียงด้านเดียวของอโยธยา ลองไปดูว่าอโยธยามีกี่คูคลอง อย่างคูขื่อหน้า และคูวัดมเหยงคณ์ ซึ่งเป็นคลองคูเมืองอโยธยา  นอกจากนี้ อโยธยา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการมาก่อนกรุงสุโขทัย เพราะอย่างน้อยพระอัยการที่ตราขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยา 1893 ใช้ภาษาไทย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2566 ซึ่งระบุว่า ชื่อเรียกกรุงศรีอยุธยาเก่าแก่สุด คือ ‘ชิแอร์โน’ หรือ ‘แชร์โนเอิม’ ซึ่งถ่ายเสียงตามสำเนียงอิตาลีจาก ‘ชะฮฺริเนาว์’ (Shahr-i-nau/Shahr Nav) คำในภาษาอาหรับหมายถึง ‘เมืองใหม่’ ในแผนที่โลกโดยฟรา เมาโร (Mappamondo di Fra Mauro) เขียนราว พ.ศ.1991 โดยฟรา เมาโร (Fra Mauro) นักบวชและช่างแผนที่ชาวเวนิส ประเทศอิตาลี กล่าวคือ อยุธยา ถูกเรียกว่า ‘ชะฮ์ริเนา’ หมายถึง เมืองใหม่

Advertisement
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ด้าน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า ชาวตะวันตกเรียก ‘อโยธยา’ ว่า ‘โยเดีย’  

“อโยธยา เป็นชื่อเดิมของเมืองเก่า เป็นที่รู้จักคุ้นเคยหลายร้อยปี อยุธยา เป็นชื่อเมืองใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้ทั่วไป อยุธยาเป็นชื่อในพิธีกรรม รับรู้แคบๆ ในกลุ่มชนชั้นนำ และ คนทั่วไปคุ้นเคยชื่อเดิม จึงเรียกชื่อเดิมว่าอโยธยา โยเดีย เป็นคำสำเนียงนานาชาติเรียกอยุธยาด้วยชื่อเดิม อโยธยา ว่า โอเดีย (Odia) หลังจากนั้นในแผนที่ฝรั่งเรียกอยุธยาต่างๆ กันด้วยสำเนียงพื้นถิ่นของคนทำแผนที่ ได้แก่ Iudia, Judea, Judia, Juthia” นายสุจิตต์กล่าว

‘Juthia’ ภาพจากนิทรรศการ ‘อยุธยาในสายตาฝรั่ง’ เนื่องในงานเปิดตัวหนังสือ ‘กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง’ โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช พิมพ์ครั้งที่ 2

นายสุจิตต์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องเอกสารอาหรับนี้ นายสุนิติ จุฑามาศ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ศึกษาเอกสารต้นฉบับอาหรับ-เปอร์เซีย ที่อ้างถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) พบว่ามีเอกสารเปอร์เซียฉบับหนึ่ง ชื่อว่า  ‘มัฏละอ์ อัซ-ซะอ์ดัยน์ วะ มัจญมะอ์ อัล-บะฮ์ร็อยน์’ หมายถึง การขึ้นของดาวมงคลทั้งสองและการบรรจบกันของสองมหาสมุทร แต่งโดย กะมาลุดดีน อับดุรร็อซซาก ซะมัรก็อนดีย์ ราชทูตของชาฮ์ รุก แห่งจักรวรรดิตีมูรียะฮ์ ที่ถูกส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรวิชัยนคร ในอินเดียระหว่าง ค.ศ.1442-1444 (พ.ศ.1985-1987 ตรงกับแผ่นดินเจ้าสามพระยา พ.ศ.1967-1991)

เอกสารดังกล่าวบันทึกรายชื่อดินแดนต่างๆ ทั้งในและรอบๆ ฮินดูสถาน (อินเดีย) ซึ่งระบุถึง ดินแดนทางฝั่งตะวันออกของอินเดียที่เรียกว่า  ‘แดนใต้ลม’ จำนวนนี้มีระบุชื่อ ญาวะฮ์ (ชวา) ตะนาศะรีย์ (ตะนาวศรี) และชะฮ์ริเนา (อยุธยา) โดยในต้นฉบับมีการใช้คำว่า ‘ชะฮ์ริเนา’ หมายถึง  ‘เมืองใหม่’ (ชะฮ์ร = เมือง + เนา, นว = ใหม่) โดยนายสุนิติ กำลังดำเนินการค้นคว่าเพิ่มเติมด้วยว่ามีเอกสารฉบับอื่นที่บันทึกชื่อ ‘ชะฮ์ริเนา’ ที่เก่าหรือใหม่กว่าเอกสารฉบับนี้หรือไม่ นอกเหนือจากสำเภาสุลัยมาน และมีการเขียนสะกดต่างกันหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ เตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ข้อเสนอดังกล่าว โดยสำนักพิมพ์มติชนเร็วๆนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image