ปรามินทร์ ชวนวอล์ก ‘นิราศวัง’ ปักหมุดมิวเซียมสยาม ซอกแซกสุดอันซีนจากใต้ดินทะลุเพดาน

ปรามินทร์ ชวนวอล์ก ‘นิราศวัง’ ปักหมุดมิวเซียมสยาม ซอกแซกสุดอันซีนจากใต้ดินทะลุเพดาน

สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร เตรียมจัดงาน “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ในวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00-21.00 ณ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติมิวเซียมสยาม โดยมีกิจกรรมมากมาย อาทิ Bookfair, ฟังทอล์ค, วอร์คทัวร์, เวิร์กช็อป, Special Exhibition, Music: Roberto Uno และ Food รวมบูธร้านอาหารชื่อดัง เป็นต้น

โดยกิจกรรมไฮไลต์ของงานเทศการอ่านเต็มอิ่มครั้งนี้ ได้แก่ Book walk กำหนดการนำชมเส้นทางสถานที่สำคัญ พร้อมเล่าข้อมูลเชิงลึกฟรี นำโดยวิทยากรมากมาย อาทิ วันที่ 16 ก.พ. เวลา 09.00-12.00 น. ‘นิราศวัง’ (Unseen Museum Siam) นำโดย นายปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการประวัติศาสตร์ และ นายวรกานต์ วงษ์สุวรรณ ฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)

รวมถึงวันที่ 17 ก.พ. เวลา 09.00-12.00 น. ‘นิราศวัด’ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และวันสุดท้าย 18 ก.พ. เวลา 09.00-12.00 น. นำชมเส้นทาง ‘นิราศพระนคร’ โดย นายปติสร เพ็ญสุต นักโบราณคดีและคอลัมนิสต์ เป็นต้น

Advertisement

นายปรามินทร์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง หนึ่งในผู้นำชมกิจกรรม ‘นิราศวัง’ เปิดเผยว่า รูปแบบของกิจกรรมจะเป็นการนำชมจุดสำคัญบนพื้นที่มิวเซียมสยาม พร้อมบอกเล่าที่มาและความเป็นไปพื้นที่ โดยจะพาเข้าไปชมตั้งแต่ชั้นใต้ดิน นิทรรศการภายในมิวเซียมสยาม จนไปถึงใต้หลังคาอาคาร ซึ่งจะทำให้เห็นถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมในช่วงยุค พ.ศ.2460

“เรามักจะรู้ประวัติความเป็นมา พื้นที่มิวเซียมสยามปัจจุบันว่าก่อนหน้านี้ย้อนไปช่วงรัตนโกสินทร์มีใครมาอยู่บ้าง ตั้งแต่เคยเป็นป้อมบางกอก มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนตอนหลังถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นวัง 3-4 วัง แล้วก็เกิดการสร้างอาคารขึ้นมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ในสมัย ร.6 ซึ่งเราจะได้เห็นเรื่องราวสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นช่วงนั้น” นายปรามินทร์ระบุ

Advertisement

นายปรามินทร์กล่าวว่า เราจะเห็นถึงพัฒนาการของพื้นที่ตั้งแต่ยุคที่เป็นป้อม พบขุดค้นหลักฐานสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการเคยเป็นวังต่างๆ ก่อนที่จะมาเป็นมิวเซียมสยาม โดยจะเล่าถึงเรื่องราวกรุงเทพในยุคก่อน ในช่วงที่อยู่ตรงรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งสิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ คือ พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นป้อม ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แล้วพอมาช่วงรัตนโกสินทร์ก็รื้อตัวป้อมออกไป จนสร้างวัง 3-4 วังขึ้น

นายปรามินทร์กล่าวต่อว่า จุดต่อมาจะพาชมสถาปัตยกรรมภายนอกของมิวเซียมสยาม ซึ่งเคยเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม และเข้าไปชมนิทรรศการภายในอาคารมิวเซียมสยามเรื่อง ‘ถอดรหัสไทย’ และจากนั้นก็ไปชมห้องใต้หลังคาของอาคาร

“ไฮไลต์ส่วนที่หาดูได้ยากคือ ส่วนใต้หลังคา ซึ่งตามปกติเราไม่ได้เปิดให้ดู นานๆ มีเรื่องทีถึงจะเปิดให้ดู เป็นการเปิดให้ชมแบบเฉพาะกิจเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ทุกงานที่จะสามารถเข้าชมได้ จะเปิดให้แค่บางงานเท่านั้น จึงเป็นส่วนที่หาชมได้ยาก

เราจะเข้าไปดูโครงสร้างของอาคารว่าเป็นอย่างไร สำหรับคนที่สนใจเรื่องของสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ เห็นโครงไม้ โครงอะไรต่ออะไร ที่อยู่ภายใต้หลักคา ซึ่งจะบอกเรื่องราวเทคโนโลยี ด้านการก่อสร้างช่วงปี 2460 ซึ่งสร้างอาคารในยุคนั้น ถือว่าเป็นของใหม่อยู่ ต้องใช้สถาปนิกฝรั่งมาออกแบบการก่อสร้าง” นายปรามินทร์เผย

นายปรามินทร์กล่าวว่า การชมโครงสร้างอาคารเป็นการชมอาคารฝรั่งในยุคต้นๆ ที่มีการก่อสร้างสมัยร.6 ที่มีการสร้างอาคารใหญ่โต มีฟังก์ชั่นของตึกที่ยังค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ คนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ มาริโอ ตามาญโญ ซึ่งต้องอุบไว้ก่อน ไว้ให้ไปฟังกันข้างในงาน เพราะเป็นคนสำคัญที่ออกแบบหลายอาคารในประเทศ

“โอกาสที่จะได้ดูครบสมบูรณ์แบบนี้ ยังไม่เคยมี ดูใต้ดิน ดูอาคาร ดูชุดนิทรรศการ ดูโครงสร้างสถาปัตยกรรมของอาคาร ภายในทริปเดียว มันยังไม่ค่อยมีทำ สำหรับมิวเซียมสยาม ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เราจัดขึ้นพิเศษ ซึ่งควรพลาดกัน เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เราจะพาไปดูทุกมิติของอาคารหลังนี้ ตั้งแต่ความเป็นมาของพื้นที่ จนมองสถาปัตยกรรมฝรั่ง ที่สร้างกระทรวงพาณิชย์ขึ้นในยุคนั้น แล้วพอเปลี่ยนหน้าที่เป็นมิวเซียม มันทำหน้าที่ได้ถูกต้องสมบูรณ์อย่างไร” นายปรามินทร์อธิบาย

นายปรามินทร์กล่าวทิ้งท้ายว่า เราคงเคยเห็นอาคารเก่าที่ถูกรีโนเวตตลอดเวลาในยุคของเรา เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ แต่อาคารนี้ถูกเปลี่ยนเป็นมิวเซียม เราก็จะได้เห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ยังคงอยู่ค่อนข้างครบ และไม่ค่อยมีที่ไหนเปิดให้ดู เราจะได้เห็นทุกอย่างเก็บไว้เหมือนเดิม และใช้งานแบบรบกวนตัวอาคารของเก่าให้น้อยที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image