อ่านเต็มอิ่มวันสุดท้ายคึก แห่ฟัง ‘จิ้มก้อง’ เปิดมุมมองการเมืองเบื้องหลังการค้าไทย-จีน

อ่านเต็มอิ่มวันสุดท้ายคึก แห่ฟัง ‘จิ้มก้อง’ เปิดมุมมองการเมืองเบื้องหลังการค้าไทย-จีน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน และเครือข่ายพันธมิตรร่วมกันจัด Knowledge Bookfair 2024 เทศกาล ‘อ่านเต็มอิ่ม’ โดยวันนี้เป็นวันสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลา 12.00 น. มีผู้ทยอยเดินทางเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ รวม 16 สำนักพิมพ์ สำหรับหนังสือขายดีประจำสำนักพิมพ์มติชน ยังคงเป็นอโยธยาก่อนสุโขทัย’ ผลงาน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น. มีเวทีเสวนา Book Talk : จิ้มก้องและกำไร การเมืองเบื้องหลังการค้าไทย-จีน โดย ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าของผลงาน ‘จิ้มก้องและกำไร การค้าไทย-จีน’ และผศ.ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ดำเนินรายการโดย นายสมคิด พุทธศรี

Advertisement

ดร. สารสินกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณที่ให้โอกาสมาปรากฏตัว ถือเป็นเซอร์ไพรส์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับตน เพราะเป็นการครบรอบ 50 ปีที่ตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมกับต้นฉบับของหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งมาจากวิทยานิพนธ์ของตน

“ผมคิดว่า 50 ปีเป็นช่วงเวลาจุดที่มีความสำคัญในชีวิตของคน แม้ตอนนี้สูงวัยแล้ว อายุ 78 ปี แต่ยังไม่ละเว้นจากการค้นคว้า ไม่ใช่ว่าอวดอ้าง สิ่งที่ค้นพบจากการเป็นนักวิชาการ นักการทูต และการทำงานภาคเอกชนมา 28 ปี หลังเออร์ลีรีไทร์เมื่ออายุ 50 แล้วมาอยู่กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมยังเดินหน้าต่อไป เนื่องจากพื้นฐานที่ได้จากการศึกษา จะเรียน จะอ่าน จะเรียกอะไรก็ตาม แต่ผมไม่หยุดในการใช้สิ่งนี้ คือ มันสมองเติมความหมายให้ชีวิต ไม่ใช่เพียงปากท้อง ความอิ่มทางสมองเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะคนสูงอายุ” ดร. สารสินกล่าว

Advertisement

ดร.สารสิน กล่าวต่อไปว่า ตนเป็น ‘ลูกจีน’ ความสนใจเรื่องจีน มีมาตั้งแต่เด็ก และเคยเรียนหนังสือที่ฮ่องกงตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมา สมัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เอเชียเป็นที่สนใจของฝรั่ง ขณะที่ตนสนใจจีน โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ในสมัยนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาของตน เป็นผู้มีกิตติศัพท์เรื่องจีนในด้านการศึกษาความสัมพันธ์ทางค้าระหว่างจีนกับตะวันตกในศตวรรษที่ 19 แต่สิ่งที่ยังไม่ได้ศึกษาคือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับเอเชียด้วยกัน จึงให้คำแนะนำว่า เมื่อตนมาจากไทย น่าจะเสริมในส่วนนี้ได้ โดยปรัชญาในการเรียนรู้คือต้องพยายามให้วิชานั้นๆ เพิ่มมูลค่าขึ้นไปเรื่อยๆ

ดร.สารสินกล่าวต่อไปว่า สำหรับคำว่า ‘จิ้มก้อง’ เข้าใจว่าเป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยทั่วไป ในช่วงเวลาก่อนที่ตะวันตกจะเข้ามามีบทบาท มี 19 รัฐบรรณาการซึ่งจะส่งบรรณาการให้จีน ทุกแห่งยอมรับว่าจีนคือรัฐที่ใหญ่กว่า เป็นรัฐที่อยู่ภายใต้จักรวาล สำหรับไทยถือว่าได้ประโยชน์มากมายจากการเป็นรัฐบรรณาการมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 กระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4

ดร.สารสินกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ระบบดังกล่าวสะท้อนถึงการเมืองของจีนที่มองว่า ทั้งโลก จีนเป็นศูนย์กลาง โดยมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆที่มาสนับสนุนเป็นพาร์ตเนอร์ มีการให้กลับไปมา ถ้าเรายอมรับเขา เขาก็ยอมรับเรา เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

หากเรามองจีนในแง่ระบบบรรณาการควรพิจารณาว่า อาจไม่ใช่เพียงสิ่งที่ตะวันตกวิจารณ์ แต่มีแง่มุมอื่นด้วย

ดร.สารสินกล่าวว่า หากมองมายังปัจจุบัน ในประเด็น ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ และการเชื่อมรถไฟจีน-ลาว รวมถึงอาจต่อไปยังที่อื่น ถูกตะวันตกวิพากษ์เยอะว่าจีนสร้างกับดักทางหนี้สินให้ประเทศกำลังพัฒนา นี่คือคำอธิบายของผู้ไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามองกลับไป ในส่วนที่พูดวันนี้ มีส่วนคล้ายกับจิ้มก้อง คือ ‘มีผลประโยชน์ร่วมกัน’ อย่าคิดแค่การโฆษณาชวนเชื่อ

ด้าน ผศ.ดร.กรพนัช กล่าวว่า สำหรับคำว่าไทยจีนพี่น้องกัน มีลักษณะที่ใช้ภายในประเทศไทย ในช่วงความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทย ที่ชาวจีนอพยพเข้ามาแล้วเกิดความตึงเครียด รัฐไทยอยากให้ความตึงเครียดนั้นคลี่คลายลง จึงเกิดคำว่าไทยจีนพี่น้องกัน เพราะต้องการให้คนจีนรักบ้านเมืองไทย เหมือนกับที่รักบ้านเกิดเมืองนอน

“ไทยจีนพี่น้องกัน ความที่เป็นบริบทระหว่างประเทศ ต้องสะท้อนไปที่ความคิดซึ่งท่านอาจารย์สารสินบอกวิธีมองของประเทศจีน คือเขาไม่ได้มองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐต่อรัฐ เท่าเทียมกัน เพราะว่าวิธีคิดของเขา คือครอบครัวกับรัฐมันเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันไป ในครอบครัวเราพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว และลูกมีหน้าที่เชื่อฟังพ่อ พ่อก็มีหน้าที่อบรมสั่งสอนลูก ฉะนั้นลูกก็ต้องกตัญญูต่อพ่อ เพราะฉะนั้นในระดับรัฐ ขุนนางจงรักภักดี ต่อกษัตริย์ หรือจักรพรรดิ และจักรพรรดิปกครอง ปกครองอย่างเป็นธรรม เป็นคุณธรรมหรือจารีตที่สอดคล้องกัน”ผศ.ดร.กรพนัช กล่าว

ผศ.ดร.กรพนัช กล่าวต่อไปว่า นโยบายของจีน เราจะเห็นได้ว่า ไม่ได้ดีลทุกประเทศเหมือนกันหมด แต่จะมีวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือลักษณะประเทศนั้นๆ จีนไม่ถนัดการดีลระหว่างประเทศเป็นกลุ่มก้อน จะถนัดดีลแบบ 1:1 มากกว่า

“ฉะนั้นถ้าเราดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยมีสัมพันธ์กันทางประวัติศาสตร์ คือ เคยมีการจิ้มก้องกับราชสำนักจีนมาก่อน จีนมองว่าพื้นฐานความสำคัญของรัฐจีน กับประเทศเหล่านี้ ระดับต่ำสุดเลยก็คือ ความเป็นเครือญาติ และตามไปด้วยการหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

มีการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน ต่างฝ่าย ต่างได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ตรงนี้ถ้ามองว่าเป็นพี่น้อง ก็เป็นเรื่องมีผลประโยชน์ มีจารีตร่วมกัน ซึ่งไม่เคยไม่มีใครไม่ทะเลาะกับพี่น้องตนเอง ท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์แบบนี้ มีวิธีคิดทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงได้ ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เข้าใจกัน” ผศ.ดร.กรพนัช กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image