อ.สถาปัตย์ โกยทั้ง ‘จอร์จทาวน์-จิ้มก้อง’ อ่านอัพเดตปมช่วงชิงพื้นที่ ยก ‘นิธิ’ คนไทยคนแรก โยงข้ามศาสตร์

ใหม่ๆทั้งนั้น! อ.สถาปัตย์ โกย ปวศ. อยากไขความลับ การช่วงชิงความหมายของพื้นที่-มอง ‘อ.นิธิ’ คนแรกเชื่อมโยงข้ามศาสตร์ ปลุกสังคมวิพากษ์ เห็น ปวศ.หลากมิติ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

โดยจัดเต็มต่อเนื่องยาวนานถึง 12 วัน แบ่งออกเป็น 7 โซนได้แก่ 1.โซนหนังสือนิยายและวรรณกรรม 2.โซนหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น 3.โซนหนังสือเด็กและการศึกษา 4.โซนหนังสือต่างประเทศ 5.โซนหนังสือทั่วไป 6.โซนหนังสือเก่า และ 7.โซน Non–Book

ผู้ข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เปิดให้เข้าชมงานเวลา 10.00 น. มีประชาชนหลากหลายช่วงวัยหลั่งไหลเดินทางมาต่อแถวเพื่อเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยพุ่งตรงไปยังบูธสำนักพิมพ์ที่ตนชื่นชอบ ซึ่งส่วนมากเป็นนักอ่านกลุ่มวัยรุ่น ที่นิยมแนวการ์ตูนและนวนิยายแฟนตาซี

Advertisement

บรรยากาศเวลา 14.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน J47 มีนักอ่านแวะเวียนเข้ามาเลือกซื้อหนังสือภายในชั้นอย่างไม่ขาดช่วง โดยส่วนมากให้ความสนใจกับหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมืองและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนลดพิเศษสูงสุดถึง 20% ไปจนถึงของพรีเมียม หากช้อปหนังสือชุด หรือครบตามยอดที่กำหนด

รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เลือกซื้อหนังสือกลับไปหลายเล่ม อาทิ “Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว” โดย กำพล จำปาพันธ์ ซึ่งลดราคาพิเศษ 15% จาก 425 เหลือ 362 บาท, จิ้มก้องและกำไร : การค้าไทย-จีน 2195-2396/1652-1853 โดย สารสิน วีระผล จาก 480 เหลือ 408 บาท

Advertisement

รศ.ดร.พีรศรีกล่าวว่า ตั้งใจมาซื้อหนังสือที่บูธมติชนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ทุกครั้งที่มีการจัดงานหนังสือก็ไม่เคยพลาดมาร่วม ส่วนตัวเป็นแฟนหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมเป็นพิเศษ เพราะปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตย์

เมื่อถามถึง เราสามารถสืบค้นประวัติศาสตร์จากสถาปัตยกรรมได้หรือไม่ จากการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์มันบ่งบอกอะไรกับเราได้บ้าง?

รศ.ดร.พีรศรีกล่าวว่า ความจริงแล้วประวัติศาสตร์สถาปัตย์ก็เหมือนกับการศึกษาประวัติศาสตร์ทั่วไป มันคือการศึกษาอดีตเพื่อเข้าใจอดีตและรากฐานของปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเราใช้ตัวสถาปัตยกรรม หรือรูปแบบสถาปัตยกรรม หรือภาพ เป็นข้อมูลในการศึกษาวิเคราะห์

เมื่อถามถึงสถาปัตยกรรมในแง่ความสัมพันธ์กับการวางรากฐานของเมือง หรือการพัฒนาประเทศ มีส่วนเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง จากที่ได้ศึกษา?

รศ.ดร.พีรศรีกล่าวว่า แน่นอนอยู่แล้ว เพราะสถาปัตยกรรมก็เป็นหน่วยย่อยของชุมชนและเมืองที่มารวมตัวกัน ซึ่งสถาปัตยกรรมและเมืองก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

“มีเจริญขึ้น มีเสื่อมลง มีอะไรต่างๆ ตามช่วงเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่กายภาพ แต่มันยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตคน ความหมายที่คนให้ต่อพื้นที่นั้นๆ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

บางทีกายภาพยังเหมือนเดิม แต่ความหมายที่เราให้มันเปลี่ยน หรือบางทีถ้าความหมายมันเปลี่ยนไปนิดนึง แล้วคนพยายามจะไปยึดติดกับความหมายเดิม มันก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ คล้ายๆ กับการ struggle ต่อสู้ ช่วงชิงกัน ในพื้นที่เมืองที่เราต้องแชร์ ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน“ รศ.ดร.พีรศรีชี้

วันนี้เห็นว่าซื้อไปหลายเล่มมาก เล็งหนังสือเล่มไหนของบูธสำนักพิมพ์มติชนไว้เป็นพิเศษหรือไม่?

รศ.ดร.พีรศรีเผยว่า ความจริงก็เหมือนมาอัพเดตมากกว่าว่าปีนี้มีหนังสือเล่มไหนออกใหม่บ้าง ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนเองเหมือนกับสำนักพิมพ์กระแสหลักแล้วก็ว่าได้ ในการนำเอาวิทยานิพนธ์ ธีสิสปริญญาโท เอานักเขียนใหม่ๆ มาตีพิมพ์ให้เราได้อ่าน

“ถ้าถามว่าตั้งใจมาซื้ออะไร คือไม่ได้ตั้งใจจริงๆ แต่ว่ามาดู มาเลือกเล่มที่สนใจในบูธกลับไปอ่าน ความจริงส่วนใหญ่ก็เป็นเล่มที่ออกใหม่ทั้งนั้น ทั้ง จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง : จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก, ‘Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว’, จิ้มก้องและกำไร, ประวัติเมืองพระนครของขอม, และ หนังสือรวมบทความ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์” รศ.ดร.พีรศรีเผย

เมื่อถามต่อว่า อาจารย์นิธิเรียกว่าเป็นที่นับถือในแวดวงวิชาการ ส่วนตัวมีความสนใจผลงานในแง่ไหนเป็นพิเศษหรือไม่?

รศ.ดร.พีรศรีเผยว่า ตนมองว่าอาจารย์นิธิเป็นคนแรกๆ ที่เชื่อมโยงข้ามศาสตร์ เอาการตีความมารวมกับสถิติ เอาเศรษฐศาสตร์มารวมกับอักษรศาสตร์ แล้วทำให้ประวัติศาสตร์มันมีมิติมากขึ้น

“อาจารย์นิธิเป็นคนที่คอยกระตุกขาหลังเรา ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แม้แต่งานของ อ.นิธิเอง ก็ไม่ควรเชื่อ เราต้องมีวิจารณญาณของเราเอง” รศ.ดร.พีรศรีระบุ

เหมือนปลุกสังคมให้มีความวิพากษ์กันมากขึ้น? รศ.ดร.พีรศรีแสดงความเห็นด้วย

รศ.ดร.พีรศรีกล่าวถึงภาพรวมการจัดบูธสำนักพิมพ์มติชนว่า ค่อนข้างต่างจากปีก่อน มีความสะดวกมากขึ้น

“จากที่มีการจับสลากลูกปิงปอง ต้องมาแกะเพื่อดูฉลากว่าออกมาเป็นอะไร แต่ปีนี้จัดการได้เป็นระเบียบดี เดินง่ายขึ้น วิธีขายของมติชนผมว่าก็เก่ง คือทำเป็นแพคเกจเลย ให้คนอ่านตัดสินใจได้ง่ายๆ” รศ.ดร.พีรศรีกล่าว

ทั้งนี้ รศ.ดร.พีรศรีเผยว่า ได้ของพรีเมียมกลับไปด้วย เป็นกระเป๋าผ้าใบเล็กๆ และกางเกงที่ออกแบบโดย นักรบ มูลมานัส ซี่งส่วนตัวรู้จักศิลปินด้วย

“กระเป๋าออกแบบสวยดี ส่วนกางเกง คิดว่าจะเอากลับไปฝากแฟนด้วย” รศ.ดร.พีรศรีเผย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image