‘ณัฐพล’ ป้ายยา ร่าย 92 ปีคณะราษฎร อยากมีอำนาจต้องเข้าหา… ชวนค้นตู้ปู่ หา ‘เหรียญพิทักษ์ รธน.’

‘ณัฐพล’ ป้ายยา-ร่ายยาว 92 ปี ‘คณะราษฎร’ ชี้จำกัดอำนาจไว้ให้ แต่ทำไมไทยถอยหลัง ยันโฟกัสเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่พลิกการเมือง-ชวนค้นตู้พระปู่ย่า หา ‘เหรียญพิทักษ์ รธน.’

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

บรรยากาศเวลา 17.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน J47 มีนักอ่านแวะเวียนเข้ามาเลือกซื้อหนังสืออย่างไม่ขาดสาย โดยให้ความสนใจกับหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมืองและศิลปวัฒนธรรม เป็นพิเศษ โดยมีโปรโมชั่นจัดเต็มส่วนลดพิเศษสูงสุดถึง 20% ไปจนถึงของพรีเมียม หากช้อปหนังสือชุด หรือครบตามยอดที่กำหนด

เวลา 18.00 น. ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา มาร่วมเวที Book Talk “จุดเปลี่ยนประเทศไทย”

Advertisement

โดยกล่าวถึงจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยในประวัติศาสตร์ว่า อยู่ตรงช่วงเวลาใด เพราะเหตุใด ประเทศไทยถึงดำเนินมาถึงจุดนี้ ซึ่งให้น้ำหนักไปที่เรื่องของการอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพลเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม อาทิ ราษฎรปฏิวัติ, กบฏบวรเดช, ตามรอยอาทิตย์อุทัย นอกจากนี้ ยังมีผลงานร่วมเขียน อาทิ อยากลืมกลับจำ และอีก 2 เล่ม ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’, ‘ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์’ ที่นำมาวางจำหน่ายในบูธสำนักพิมพ์มติชนด้วย

เมื่อถามถึงจุดเปลี่ยนของประเทศไทย 2475 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการเมือง จากวันนั้นจะถึงวันนี้พัฒนาการประชาธิปไตยไทย เป็นอย่างไรบ้าง และสนใจในประเด็นนี้เพราะอะไร ?

Advertisement

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ที่ตนสนใจเรื่อง 2475 ก็คิดว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ แต่จากที่เรียนในหลักสูตร มีไม่กี่บรรทัด ไม่ค่อยถูกพูดถึง จึงเกิดการตั้งคำถามถึงบทบาทของประชาชน

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวถึงหนังสือ ‘กบฏบวรเดช’ ว่า เป็นเรื่องราวเมื่อชนชั้นนำ กลับตัวไม่ได้หลังจากสูญเสียสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไป ซึ่งถ้าคิดอย่างใจเป็นธรรม ถ้าเราเป็นกลุ่มชนชั้นนำก็คงทำใจไม่ได้เช่นกัน เพราะเสียอำนาจอย่างมาก และก็เป็นเรื่องปกติที่การต่อต้านจะเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป การปฏิวัติ 2475 ตามประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือเป็นไปอย่างราบรื่น มองว่าชนชั้นนำเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วไม่ได้ราบรื่น ถูกต่อต้านจากหลายกลุ่มอย่างมาก

“ที่ถือว่าเป็นจุดไฮไลต์ของหนังสือเล่มนี้ คือบทบาทของสามัญชนคนหนุ่มสาว ในการต่อต้าน ‘กบฏบวรเดช’ มีคนหนุ่มสาวและประชาชนมากมาย ที่ให้ความช่วยเหลือคณะราษฎรในการปราบปรามกบฏบวรเดชทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน พ่อค้า ประชาชน ลูกเสือ หรือนักเรียนหญิงที่มาช่วยทำกับข้าว ส่วนลูกเสือ ก็ช่วยอำนวยการ ขนอาวุธในการปราบกบฏบวรเดช

ดังนั้น คำอธิบายเก่าที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องและไม่สนับสนุนการปฏิวัติ 2475 แต่เราจะเห็นได้ว่าหลังจากการปฏิวัติเพียง 1 ปี ประชาชนหวงแหนประชาธิปไตยอย่างมากจนกระทั่งปราบปรามกบฏบวรเดชได้สำเร็จ” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ก่อนนำเหรียญเชิดชูเกียรติที่มอบให้สามัญชนที่ร่วมปราบกบฏบวชเดช หรือพิทักษ์รัฐธรรมนูญมายื่นให้ชม

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวต่อว่า ถ้าเป็นนักเรียนหญิง หรือประชาชนชาย รัฐบาลจะแจก ‘เข็มกลัดรัฐธรรมนูญ’ เขียนว่า “สละชีพเพื่อชาติ’ ถ้าเราไปดูจากคนรุ่นก่อน นักเรียน หรือลูกเสือจะติดเข็มนี้ ส่วนข้าราชการหรือลูกเสือที่ทำงานดีเด่นจะได้รับเหรียญตรา หรือ ‘เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ หรือเหรียญปราบกบฏบวรเดช มีไซซ์ผู้ชายและไซส์ผู้หญิง

“ถ้าย้อนกลับไปเราจะเห็นภาพเหล่านี้ หรือเราลองไปค้นหิ้งพระ ตู้เก่าๆ ของปู่ย่าตายาย ถ้าเราพบ เราจะร่วมภูมิใจไปกับปู่ย่าตายายได้เลยว่า พวกเขาเข้าร่วมในการพิทักษ์ประชาธิปไตยในครั้งนั้น แจกเป็น 1-2 หมื่นเหรียญ เยอะมาก หาซื้อได้จากตลาดของเก่า เชื่อว่าตามบ้านหลายคนยังคงมีอยู่ ถ้าพวกเราเจอก็ขอให้ภูมิใจ ซึ่งความกล้าหาญของเขาก็ไม่แตกต่างจากเยาวชนรุ่นใหม่ในสมัยนี้ ในการปกป้องประชาธิปไตย” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

เมื่อถามต่อว่า หลังจากเกิดกบฏบวรเดช ดูเหมือนการเมืองจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง รัฐบาลพระยาพหล พลพยุหเสนา ก็เริ่มเซ็ตระบบและเริ่มมีนโยบายที่เป็นมรดก และโดดเด่นอย่างมาก รวมไปถึงแง่มุมถกเถียงทางสังคมมากมาย อาทิ เรื่องการสร้างชาติ ซึ่งญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทด้วย ?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวถึงหนังสือ ‘ตามรอยอาทิตย์อุทัย’ ว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทยช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 เวลาเราเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จะมีช่วงใหญ่คือ ร.4 5 6 และ 7 ที่เดินทางไปตะวันตก แล้วเราก็กระโดดมาที่ช่วง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เดินตามตะวันตกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ จนคณะราษฎรถูกมองว่าปฏิวัติทางการเมืองอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่

ในช่วงเวลาหนึ่ง คณะราษฎรพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก โดยใช้โมเดลญี่ปุ่น เพราะต้องการเปลี่ยนแปลง จากระบอบเดิมที่เดินตามตะวันตก ซึ่งอ่อนอ่อน ไม่ค่อยหืออือเท่าไหร่ เขาเดินอย่างไรเราเดินตามนั้น

“แต่คณะราษฎรได้เห็นแล้วว่าฝรั่งรังแกเรา ในขณะเดียวกันมีมหาอำนาจปรากฏตัวขึ้นคือ ‘ญี่ปุ่น’ ที่พัฒนาอาวุธ กองทัพ เศรษฐกิจสังคมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถรบชนะได้ในสงครามรัสเซีย เป็นชาติแรกที่เอาชนะคนขาวได้ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้คนเอเชียอย่างมาก

“ครั้งหนึ่งเคยไม่เจริญ แต่พัฒนาตัวเองสู้กับตะวันตก เราเลือกส่วนที่เราเลียนได้ คือสังคมเกษตรกรรม ปกครองด้วยพุทธศาสนาอย่างเรา สามารถอะแดป มาเป็นต้นแบบได้ คณะราษฎรจึงมองไปที่ญี่ปุ่น ประกอบกับญี่ปุ่นไม่เคยรังแกเรา” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นต้องการจะเข้ามาแทนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจึงพยายามทำดีกับเรา ในขณะที่เราวิ่งหนีจากตะวันตก ก็มาเจอญี่ปุ่นพอดี จึงเกิดความสัมพันธ์กัน ซึ่งญี่ปุ่นสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 เพราะต้องการจะเข้าแทนที่ชาวตะวันตก ฉะนั้นผลประโยชน์ของเรากับญี่ปุ่นค่อนข้างตรงกัน เราจึงเลือกโมเดลแบบญี่ปุ่น เพราะมันเป็นไปได้ ญี่ปุ่นเคยกระโดด และทำสำเร็จมาแล้ว

“ผมคิดว่าคณะราษฎรเป็นผู้ปกครองชุดแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่สัญญากับประชาชน ก่อนหน้านี้การปกครองระบอบเดิม ไม่ต้องสัญญาว่าจะทำอะไร เพราะไม่จำเป็น ขณะที่ราษฎรประกาศหลัก 6 ประการ เป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ถ้าพูดในภาษาปัจจุบันคือ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ คำสัญญาที่รัฐบาลจะทำให้กับประชาชน เลือกแนวทางพัฒนาขึ้นมาใหม่เรียกว่าการ ‘สร้างชาติ’ เพราะคณะราษฎรและประชาชนจำนวนหนึ่ง เห็นว่าชาติเสื่อมโทรม” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลระบุว่า ‘ชาติ’ ที่แปลว่าประชาชนเป็นความหมายใหม่ที่เกิดขึ้น เมื่อระบอบเปลี่ยน ประชาชนขึ้นมามีสถานะสำคัญเท่าชาติ จึงมีการสร้างระบบราชการ สร้างกระทรวง ทบวง กรม สร้างการศึกษาระบบสาธารณสุข สร้างกรมสามัญศึกษา กรมอาชีวศึกษา กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ปี 2477, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิลปากร และมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (มหิดล) ในปี 2486

นอกจากนี้ ยังสร้างหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการเกษตร เช่น กรมการค้าต่างประเทศ, กรมการค้าภายใน , กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม อีกด้วย

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เขายังบอกว่าระบอบเก่าลอดทอนความสามารถของคนไทย ให้ไปนิยมสินค้าต่างประเทศ จึงมองว่าเราควรมีนโยบาย ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ’ เลิกเน้นเป็นข้าราชการ ให้มีความมั่นใจในการประกอบการค้า เพื่อทดแทนฝรั่ง หรือคนจีน รู้จักการผลิตสินค้า และสร้างหน่วยงานที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้น

“พูดง่ายๆ คือให้นิยมไทยมากขึ้น เป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ไม่ว่าจะเสื้อผ้า เบียร์ เหล้า เรานำเข้ามาทั้งหมดจนกระทั่งเสียงดุลการค้า นี่คือนโยบายของคณะราษฎรในสมัยนั้น”

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยคณะราษฎร การเติมเต็มประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ตั้งแต่ระบอบเก่าที่เดินตามตะวันตก กระโดดมายุคจอมพลสฤษดิ์ ตอบคำถามว่าคณะราษฎรได้พัฒนาทางด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจด้วยหรือเปล่า นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

จากนั้น ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวถึงเล่ม ‘ราษฎรปฏิวัติ’ ซึ่งเป็นหนังสือที่อาจารย์เขียนใหม่ล่าสุด พูดถึงความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ในเวลานั้นอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ตนชอบมาก เป็นรูปเด็กผู้หญิง 2 คนยืนเท้าเอวอย่างองอาจ ทรนง

“ผมได้เห็นเหตุการณ์เมื่อปี 2563 การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ รู้สึกชื่นชมที่พวกเขากล้าหาญมาก ในขณะที่ผมสนใจเรื่องการปฏิวัติ 2475 จึงตัดสนใจว่า ในการปฏิวัติมีประชาชนที่กล้าหาญตื่นตัวบ้างหรือไม่ หรือความรู้แค่ในกระแสหลัก เมื่ออ่านก็ทำให้เข้าใจ

เรียงความที่เด็กเคยเขียนมาส่งในงานวันชาติ หรืองานฉลองรัฐธรรมนูญ สกัดจนเข้าใจความคิด ว่าคนรุ่นใหม่ในยุค 2475 มีความตื่นตัวอย่างมาก ไม่ใช่เด็กหัวอ่อนที่ไม่เข้าใจอะไร เรียงความหลายชิ้นเขาเข้าใจ และสามารถเปรียบเทียบระบอบได้

มีชิ้นหนึ่งเป็นเรียงความของเด็กมัธยม ชื่อ นายสงวน โพธิ์โต เขียนเรียงความประกวดพูดถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เขามีความสุขสนุกสนาน เขาบอกว่างานนี้มันสนุกมากกว่างานในระบอบเก่า เพราะเขามีชีวิตคร่อม 2 ระบอบ เห็นทั้งสองจึงเปรียบเทียบได้ว่าอะไรดีกว่ากัน และเด็กสมัยนั้นส่วนใหญ่เลือกระบอบใหม่” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวต่อว่า มีข้อความหนึ่งบอกว่า ‘ประเทศสยามของเราเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึงเพียงนี้ ก็เพราะกำลังของพลเมืองสยาม’ คือพูดง่ายๆประเทศสยามเจริญมาได้เพราะประชาชน ภูมิใจในความเป็นสามัญชน

“ข้อความนี้สื่อให้เห็นว่าความเจริญและอยู่รอดปลอดภัย เกิดขึ้นได้จากประชาชน ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใด หลังการปฏิวัติ คือการเปิดโลกใหม่ พูดง่ายๆ ระบอบใหม่เกิด สำนึกใหม่ก็เกิด” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า มองในแง่การกู้ประเทศชาติจากความเสื่อมโทรม ก็ต่างไปจากคำอธิบายกระแสหลัก ที่ว่าระบบเก่ารุ่งเรือง ประชาธิปไตยเสื่อมโทรม พูดง่ายๆ เขามองไปข้างหน้า ไม่ได้มองย้อนไปเบื้องหลัง

“ไม่ใช่อยากกลับไปยุคเก่าแบบออเจ้า ลองคิดดูว่าถ้ากลับไป เราอาจจะอยู่ใต้ถุนเรือน ทำนาทำไร่อยู่หรือเปล่า แต่คนรุ่นใหม่เขาภูมิใจที่การปฏิวัติ 2475 ทำให้เขามีโอกาสมีอนาคต และยังเห็นว่าควรปฏิวัติทางวัฒนธรรมด้วย ล้างธรรมเนียมบางอย่างที่ล้าสมัย สร้างค่านิยมใหม่ ทำให้เห็นพลังความละมุนของวัฒนธรรม คือต้องเปลี่ยนซอฟต์แวร์ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น ทำตัวเองให้มีอารยะ นี่คือสิ่งที่ปลูกฝัง”

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวต่อว่า บางส่วนเกิดขึ้นเอง บางส่วนก็ต้องให้การศึกษา หลังการปฏิวัติจะเห็นว่ามีการผลิตหนังสือมากมายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน จากที่แต่ก่อนเป็นเรื่องหวงแหนเพราะกลัวประชาชนจะฉลาดกว่า แต่ระบอบใหม่ เห็นว่าเมื่อประชาชนฉลาดมากเท่าไหร่ รัฐบาลก็ยิ่งเหนื่อยน้อยมากเท่านั้น เกิดการสร้างมหาวิทยาลัย ในช่วงนั้น

ตำราเล่มที่สำคัญคือ ‘ตำราบันไดการเมือง’ บอกไว้เลยว่าอยากจะมีอำนาจต้องทำอย่างไร

“อยากมีอำนาจต้องเข้าถึงประชาชน เพราะเกิดจากฐานราก ระบอบการเมืองเริ่มต้นที่ประชาชน แต่น่าสนใจที่วันนี้ปัจจุบันคนส่วนมากไม่เข้าใจหลักการนี้ ทั้งๆ ที่ 2475 สอนว่าอยากมีอำนาจเข้าหาประชาชน”

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ยืนยันว่าคนหนุ่มสาวในสมัยนั้นจำนวนมาก สนับสนุนการปฏิวัติ 2475 และชื่นชมบรรยากาศของสังคมใหม่ที่คนเท่ากัน มองไปข้างหน้า ไม่แลอดีต ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่รู้สึกว่าประเทศเป็นของเขา มีความรู้ความสามารถที่จะทำให้ประเทศเจริญได้โดยไม่ต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นปีที่ 92 ของการอภิวัฒน์สยาม

“92 ปีที่ผ่านมาผมคิดว่าการเมืองไทยยังลุ่มๆดอนๆอยู่ เป็นการยื้อยุดกันระหว่างพลัง 2 กลุ่ม คือพลังอนุรักษนิยม และเสรีนิยม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจบลงด้วยการใช้กำลังทางการทหารจากกลุ่มอนุรักษนิยม

และแน่นอนว่าการปฏิวัติครั้งแรกเกิดขึ้นจากฝ่ายอนุรักษนิยม เป็นการรัฐประหารเงียบครั้งแรก และพวกเขาก็ใช้วิธีการแบบนี้มาตลอดในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ยอม สู้กันมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม, พฤษภาคม 35 แม้กระทั่งปี 63 ซึ่ง 2 พลังนี้ดึงกันไปกันมา” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

โดยยังชี้ว่าจะเจเนอเรชั่นที่มีความคิดฉีกออกไป คือช่วงวัย 60-70 ในปัจจุบันที่เกิดในยุคสงครามเย็น และเกิดไม่ทันคณะราษฎร ซึ่งรุ่นปู่ย่า ไม่มีภาพจำอย่างที่คนรุ่นพ่อแม่มี เพราะเขามีความรู้สึกกล้าหาญอยากให้ประเทศชาติก้าวหน้า ต้องการประชาธิปไตย

“ผมคิดว่า generation Y, Z และ alpha มีความรู้สึกไม่แตกต่างไปจากปู่ย่าตาทวดเขา ที่มีปัญหาคือ generation ที่อยู่ในรุ่นสงครามเย็นหรือรุ่นพ่อแม่ของเรา จึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลไกรัฐในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมาก เพื่อให้เชื่ออย่างเจเนอเรชั่นรุ่นพ่อแม่” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว และว่า เมื่อไม่เชื่อยิ่งทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมวิตกอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จ ซึ่งคงสำเร็จได้ยากเพราะเจนเนอเรชั่น Y, Z และ alpha เขาเป็นพลเมืองโลก Global citizen เขามองข้ามประเทศไทยไปยังโลกข้างนอก มีความรู้อย่างกว้างขวางให้เปรียบเทียบได้ ไม่ได้อยู่ใน generation แบบพ่อแม่ที่ดูแค่ทีวีช่องหลัก เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงเป็นการยากที่จะทำให้พวกเขากลับไปอยู่ในกะลา หรือแนวคิดแบบสงครามเย็นอีก”

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับการจะเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตนอยากยกตัวอย่างข้อสรุปของตน เรื่องพัฒนาการเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่ 2475 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด

“แต่ยิ่งนานเข้าในระยะหลัง กลับกลายเป็นระบอบการปกครองที่จำกัดอำนาจประชาชน

92 ปีที่แล้วคณะราษฎรพยายามจะจำกัดอำนาจเดิม แต่น่าแปลกใจแทนที่จะก้าวหน้าขึ้น เรากลับหวนถอยหลัง” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image