หนุ่มเมืองจันท์ ฉุด ‘ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส’ ขึ้นแชมป์ขายดี อีก 9 เล่มเฉือนกันนัว

หนุ่มเมืองจันท์ ฉุด ‘ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส’ ขึ้นแชมป์ขายดี อีก 9 เล่มเฉือนกันนัว

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน

ผู้สื่อข่าวรายงานอับดับหนังสือขายดี สำนักพิมพ์มติชน J47 ประจำวันนี้ ดังนี้

– อันดับ 1 ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 36) โดย หนุ่มเมืองจันท์

Advertisement

พากลับมาขบคิดมุมมองของตนเองที่มีต่อคำว่าโอกาสซึ่งเป็นคำที่หลายคนให้คุณค่า คาดหวัง อยากให้มันเกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง และพานคิดไปว่าโอกาสเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก จนเกิดเป็นความกลัวว่า เมื่อโอกาสใดๆ เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

– อันดับ 2 เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย และประชาชนในรัฐนาฏกรรม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธนาพล อิ๋วสกุล คำนำเสนอ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

– อันดับ 3 The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น โดย Adam Kuper แปลโดย วรรณพร เรียนแจ้ง

Advertisement

ย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ ‘ชนดั้งเดิม’ (primitive peoples) หรือ ‘อนารยชน’ (barbarians) กลุ่มต่างๆ ซึ่งอยู่พ้นไปจาก ‘ยุโรปที่เป็นอารยะแล้ว’ – โดยไล่เรียงตั้งแต่ต้นกำเนิดของมันในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงตำแหน่งแห่งที่ของมันในยุคปัจจุบัน

– อันดับ 4 ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย โดย อาสา คำภา บรรณาธิการ สายชล สัตยานุรักษ์

ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์สังคม จริต และอารมณ์ความรู้สึก เมื่อ พ.ศ.2564 นับตั้งแต่อดีตกรอบคิดเรื่อง กฎแห่งกรรม เป็นสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนเชื่อเรื่องการสั่งสมบุญ เริ่มทำความดีตั้งแต่ชาตินี้เพื่อให้เกิดความสบายในชาติหน้า และมีนิพพานในฐานะสิ่งยอดปรารถนา ขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาในห้วงเวลานั้นยังแยกไม่ขาดจากศาสนาผีและฮินดู

– อันดับ 5 Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม โดย สันติธาร เสถียรไทย

พาผู้อ่านสำรวจเทรนด์โลกที่ ‘หักมุม’ (Twists) อย่างเหนือคาดทั้งในภาคเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลั่นประสบการณ์จากการทำงานในโลกกว้างมากลั่นเป็นคู่มือเบื้องต้นว่าเราควร ‘หัน’ อย่างไรในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

– อันดับ 6 Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว โดย กำพล จำปาพันธ์

เล่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมใหม่ที่มีสัตว์เป็นแกนกลางตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงทศวรรษ 2500 โดยในสมัยอยุธยาเชื่อกันว่าบรรพชนของเรา อาจเวียนว่ายตายเกิดมาเป็นสัตว์จึงไม่นิยมทำร้ายสัตว์เลี้ยง ช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โรคห่าได้คร่าชีวิตคนมากมาย ‘แมว’ มีส่วนสำคัญในการปราบหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรค และเป็นของมีค่าราคาแพงในตลาดจีนเป็นทั้งบรรณาการและแมวประจำเรือที่สามารถระวังภัยตามสถานการณ์ต่างๆ

– อันดับ 7 อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ: การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์ โดย ปวีณา หมู่อุบล

สภาวะของเศรษฐกิจและสังคมที่มีการยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า การผลิตเชิงพาณิชย์ ระบบเจ้าภาษีนายอากร และการสั่งสมกำลังคน ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและกลุ่มอำนาจใหม่ๆ มากขึ้น พระองค์จึงต้องพยายามควบคุมอิทธิพลและผลประโยชน์ของเหล่าชนชั้นนำผ่านกฎหมายต่างๆ แต่จะใช้วิธีที่รุนแรงและเด็ดขาดมากก็ไม่ได้ จำต้องอาศัยการสร้างอาณาบารมีผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรมร่วมด้วย

– อันดับ 8 ชิงแดนแม่น้ำโขง: ประวัติศาสตร์เสียดินแดนฉบับวิวาท(กรรม) โดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย

พาสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เพื่อสืบสาวความจริงของประวัติศาสตร์การเสียดินแดนบริเวณแม่น้ำโขงของสยาม น่าสนใจคือประวัติศาสตร์ไทยก็กล่าวว่าสยามเสียดินแดนลาวไปเช่นเดียวกัน เช่นนั้นแล้วใครกันที่เสียดินแดน? แท้จริงแล้วมีการเสียดินแดนหรือไม่? ความจริงนั้นเป็นเช่นไร?

– อันดับ 9 The Lost Forest: ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทย โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ คำนิยม โดย นิ้วกลม

ประวัติศาสตร์ของการทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในแง่มุมที่ผู้เขียนสนใจ โดยผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องแบบสารคดีที่ผู้เขียนเคยลงไปสัมผัสปัญหาในพื้นที่มากับข้อมูลจากงานศึกษาต่างๆ รวมทั้งบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญและคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

– อันดับ 10 จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396 โดย สารสิน วีระผล แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, รังษี ฮั่นโสภา, สมาพร แลคโซ บรรณาธิการ โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม

การค้าไทย-จีน เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคจารีตที่ไม่เพียงเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ไทยความเข้าใจต่อประเด็นการค้าทางทะเลยุคจารีตในประวัติศาสตร์ไทยมักมุ่งเน้นไปที่การค้ากับตะวันตกเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าอำนาจทางการเดินเรือและทางทหารทำให้ตะวันตกมีอิทธิพลอย่างมากในการค้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ตะวันตกก็เป็นเพียง 1 ในคู่ค้าของดินแดนต่างๆ เท่านั้น กลับกันแล้ว จีนต่างหากที่ตะวันตกมองเป็นมหาอำนาจในเวลานั้น การค้าไทย-จีน จึงไม่อาจละเลยได้ เนื่องด้วย สัมพันธ์ต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในภูมิภาคและในไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image