นิสิต นักศึกษา พ้นกรอบกิจกรรมทาสี กินเหล้า : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน พจนา อาภานุรักษ์

ย้อนกลับไปในสมัย 40-50 ปีที่แล้ว กลุ่มนิสิตนักศึกษาถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม การใช้สถานภาพความเป็นปัญญาชนเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการปราบปรามขบวนการนิสิตนักศึกษาอย่างรุนแรง

จากภาพความรุนแรงในวันนั้น ส่งผลให้รัฐบาลมีกระบวนการกีดกันกลุ่มนิสิตนักศึกษาในรุ่นต่อๆ มาให้ห่างไกลจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง เน้นให้เรียนหนังสือ สนใจกิจกรรมกีฬา การรับน้อง และงานจิตอาสาเพื่อสังคม สุดท้ายเราแทบไม่หลงเหลือพลังของนิสิตนักศึกษาที่ช่วยชี้นำสังคมไทยเลยแม้แต่น้อย

เมื่อนึกถึงกิจกรรมค่ายหรือชมรมอาสาของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เรานึกถึงอะไร?

ภาพปรากฏที่เราพบอยู่บ่อยครั้งมักจะเป็นกลุ่มนักศึกษาพากันขึ้นรถทัวร์ไปยังพื้นที่ชนบท โดยไปให้ความรู้วิชาการสอนหนังสือเด็กบนดอย ทาสีรั้วโรงเรียน จัดทำห้องสมุด บริจาคหนังสือ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ หรืออาจเป็นไปในรูปแบบของงานจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน พอพลบค่ำก็ดื่มสังสรรค์กันอย่างสนุกสนานเพื่อพักผ่อนหลังจากทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน

Advertisement

คำถามคือ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือเป็นการพัฒนาแค่ชั่วครั้งชั่วคราว? นักศึกษาได้ทำกิจกรรมโดยผ่านการสอบถามความต้องการของชุมชน หรือแค่ทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย? ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจำเป็นต้องทบทวนกันให้ดีว่ากิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษานั้น ตอบโจทย์ชีวิตของใครบ้าง

จากการลงพื้นที่สำรวจสภาวการณ์ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน โดยมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย ซึ่งเป็นการทำงานขับเคลื่อนในกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นักเรียนในโรงเรียนมัธยม และอาชีวศึกษา โดยมุ่งหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในตัวเอง และพร้อมที่จะทำงานเพื่อคนอื่น พร้อมขยับก้าวให้เป็นพลเมือง คนรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้ (youth active citizens) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างอนาคตให้กับสังคมไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก สสส. สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4)

 

Advertisement

ทำให้ได้พบกับนักศึกษาชมรมรากดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ และคณะเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาเศรษฐศาตร์สหกรณ์ ทำงานร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี

ราชมงคล ล้านนา ลงศึกษาชุมชน บ้านแม่อ้อใน หมู่ 1 บ้านแม่อ้อสันติ หมู่ 15 ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และบ้านสันสลี หมู่ 15 ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคม มีการนำเอาหลักทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม และปรับใช้ให้เกิดรูปธรรม โดยศึกษาสุขภาวะชุมชนบนมิติรายได้ครัวเรือนของประชาชนลุ่มแม่น้ำอ้อในหลากหลายมิติ

จุดตั้งต้นของการศึกษาชุมชนในครั้งนี้ เริ่มต้นจาก “ดรีม” วรากรณ์ ใจยา อดีตประธานชมรมรากดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่สนใจปัญหาชุมชนบ้านเกิดตัวเองที่บ้านแม่อ้อ และต้องการทำบางอย่างให้กับชุมชนของตัวเอง ผนวกเข้ากับความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ สหกรณ์ ที่ตัวเองเรียนอยู่ จึงรวมกลุ่มกันตั้งประเด็นศึกษาเกี่ยวกับมิติรายได้ครัวเรือนของคนในชุมชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนเพื่อให้เข้าใจความเป็นมา บริบท ความสัมพันธ์ และวิธีคิดของคนในชุมชน โดยอาศัยเครื่องมือศึกษาชุมชนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินชุมชน แผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ ประวัติศาสตร์ชุมชน และประวัติศาสตร์บุคคล

ทำให้ค้นพบสิ่งที่คนในบ้านแม่อ้อต้องใช้จ่ายเงินออกไป ได้แก่ 1) การใช้จ่ายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร คือการใช้จ่ายเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี อาทิ ข้าวเปลือก พืชผักและเนื้อสัตว์ เป็นต้น หรือการเก็บตุนอาหารไว้รับประทานให้เพียงพอตลอดปี เช่น ยุ้งฉางข้าว หรือมีเงินในการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

2) การจ่ายภาษีทางสังคม เป็นรายจ่ายเพื่อการเข้าสังคมหรือการสร้างเครือข่ายทางสังคม อาทิ การเก็บค่าสมาชิกงานศพ งานแต่ง งานบวช หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เพื่อนำปัจจัยการเงินมาจุนเจือการจัดกิจกรรม เป็นการผูกโยงความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมทางอ้อม

3) โจรเสื้อขาว มีความหมายเชิงนัยยะถึงการเข้าสู่ระบบการศึกษาของบุตรหลานถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าที่ผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอย่างหลีกหนีไม่ได้

และ 4) การใช้จ่ายในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคที่ไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง โดยประชาชนจะได้รับสิทธิพื้นฐานการรักษาจากรัฐบาลที่ช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานของคนในชุมชนแล้ว พบว่าคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร มีรายได้เฉลี่ย 13,000 บาทต่อเดือน บางส่วนมีภาระหนี้สินซึ่งกู้มาจากธนาคาร สหกรณ์ และกองทุนหมู่บ้าน โดยสาเหตุที่ต้องกู้ส่วนใหญ่มาจากการส่งบุตรหลานเล่าเรียน ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการส่งบุตรหลานเล่าเรียนในระดับปริญญาตรีนั้นสูงถึง 566,666 บาทต่อคน

นอกจากประเด็นสำคัญที่ค้นพบเกี่ยวกับสุขภาวะทางการเงินของคนในชุมชนลุ่มแม่น้ำอ้อแล้ว การทำงานร่วมกับชุมชนของนักศึกษาชมรมรากดินยังทำให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหวทางสังคมและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถอดรื้อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชุมชนกำลังอ่อนแอลงด้วยปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากความกดดันเกี่ยวกับค่านิยมการส่งลูกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยและความเชื่อที่ว่าเมื่อลูกเรียนจบในระดับปริญญาจะได้ทำงานที่ดี ค่าตอบแทนสูง ทั้งยังเป็นเกียรติกับครอบครัว

ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นดั่งที่คาดไว้เพราะสังคมมีการแข่งขันที่สูงขึ้น เมื่อลูกออกไปเรียนไกลบ้านทำให้ค่าใช้จ่ายเริ่มพอกพูน พอจบการศึกษาก็ต้องวนกลับมาใช้หนี้ที่พ่อแม่ส่งตัวเองเรียน ครั้นจะหางานทำใกล้บ้านก็ไม่ได้ ต้องเข้าไปทำงานในเมืองเพื่อหางานที่รายได้ดี กลายเป็นการส่งออกคนจากชุมชนเข้าสู่เมืองโดยปริยาย

ส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างทางสังคมของคนในชุมชนเปลี่ยนไป ในชุมชนเหลือแค่คนชราและเด็กเล็ก เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยตามมา อีกทั้งรัฐเองก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุนอย่างจริงจังให้ชุมชนเข้มแข็งหรือสร้างวิธีคิดที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนสร้างระบบการดูแลจัดการตัวเองอย่างยั่งยืน ในทางกลับกันแม้จะมีการสนับสนุนทุนผ่านโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนแต่ยังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบผู้ให้-ผู้รับ ซึ่งไม่ได้สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมให้กับคนในชุมชน

อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ศึกษาชุมชนลุ่มน้ำอ้อของนักศึกษาชมรมรากดินได้ช่วยเปิดประเด็นปัญหาพื้นฐานของคนในชุมชน และถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการทำกิจกรรมชมรมที่หลุดพ้นจากรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นงานอาสา งานบริจาค สู่การศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชุมชน วิธีการทำงานของกลุ่มรากดินนั้นได้ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่สู่บ้านแม่อ้อ จ.เชียงราย เพื่อสอบถาม สัมภาษณ์ และพูดคุยกับคนในชุมชน ให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการใช้ชีวิตและการวางแผนสุขภาวะทางการเงินของคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุกให้คนในชุมชนเห็นภาพรวมของการใช้จ่ายในครัวเรือนของตัวเองแล้ว ตัวนักศึกษาเองยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการถมช่องว่างระหว่างวัยของคนต่างรุ่นด้วยการสื่อสาร ถามไถ่ และได้เห็นปัญหาชีวิตของคนในช่วงวัยที่ต่างกัน

การทำงานของนักศึกษาชมรมรากดินไม่ได้หยุดอยู่แค่กลุ่มนักศึกษากลุ่มเดิม แต่มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนคน ส่งต่อความรู้และกระบวนการจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง “โอ๊ต” ธนวัฒน์ วงศ์ใจ ประธานชมรมรากดินคนปัจจุบัน ยังคงพาเพื่อนสานต่องานศึกษาชุมชน มีการสำรวจความต้องการของคนในชุมชนเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่อยากให้แก้ไขมากที่สุดเพื่อนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำงานของชมรมรากดินนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการสร้างพลเมืองแบบใหม่ที่เริ่มตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน

มีความสนใจในปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย สำหรับโจทย์การทำงานท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปคือปัญหากลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับประเทศที่เข้ามาลงทุนทำฟาร์มสุกร กลุ่มรากดินและชาวบ้านได้ชวนกันตั้งคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ทั้งในแง่ของมลพิษทางน้ำ กลิ่น อากาศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวทางการเคลื่อนโจทย์ยังไม่ชัดเจนนักแต่ก็ถือเป็นการก้าวข้ามที่สำคัญของงานชมรมนักศึกษาไปสู่มิติใหม่ที่ลึกและไกลกว่าเดิม

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
พจนา อาภานุรักษ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image