ภัยมืดจากมลพิษทางอากาศ : โดย ผดุง จิตเจือจุน

เมื่อราวต้นปีนี้ เกิดปรากฏการณ์หมอกแผ่ปกคลุมในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ทำให้ทัศนวิสัยในการมองไม่แจ่มชัดขมุกขมัว มิใช่หมอกอันเกิดจากไอน้ำกระทบความร้อนจากพื้นดิน หากแต่เป็นหมอกควันประกอบด้วยฝุ่นละออง สารหลายอย่าง และก๊าซหลายชนิด แขวนลอยอ้อยอิ่งในอากาศ

มวลสารเหล่านี้ เป็นสารพวกแอโรซอล ในรูปของหมอกควัน หรือหมอกผสมไอน้ำ หรือฝุ่น เกิดการสะสมในปริมาณมาก ทำให้เกิดสภาพอากาศปิด บดบังแสงอาทิตย์ส่องลงมายังพื้นโลกไม่ถึง อากาศนิ่งลมสงบ ไม่มีลมมาพัดให้ลอยตัวไปทางอื่น กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบหมอกควัน วัดค่าได้ระดับ PM. 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน มีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

ฝุ่นละออง PM. 2.5 นั้น มีขนาดเล็กมาก มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมของมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวพาเชื้อโรค ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และเข้ากระแสเลือดโดยตรงได้ เป็นมลพิษสามารถลอยข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน นอกจากจะเป็นตัวการทำให้เจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจแล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนด PM. 2.5 เป็นมลพิษของสารก่อมะเร็งอีกด้วย

เรามาดูว่าปัญหาหลักของการเกิดหมอกควันพิษ เกิดจากอะไร

Advertisement

1.จากธรรมชาติ เป็นแหล่งเกิดมลพิษโดยธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ

2.การคมนาคม ซึ่งเกิดจากไอเสียจากยานพาหนะ ที่ใช้น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ที่เป็นตัวกำเนิดสำคัญของ PM. 2.5

3.การเผาไหม้ในที่โล่ง ปล่อยฝุ่นพิษ PM. 2.5 มากถึง 209,937 ตันต่อปี อันเกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร และหมอกควันพิษจากประเทศอินโดนีเซีย

Advertisement

4.การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM. 2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี และก๊าซอื่นๆ

5.อุตสาหกรรมการผลิตปล่อย PM. 2.5 ราว 65,140 ตันต่อปี และก๊าซต่างๆ ซึ่งปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า Fast Fashion ตัวเร่งให้เกิด PM. 2.5 เพิ่มขึ้นบนชั้นบรรยากาศ

6.ฟาร์มเลี้ยงสัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ และแกะ มีปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น เนื่องจากสัตว์เคี้ยวเอื้องมีระบบการย่อยอาหาร โดยการหมักในกระเพาะ ส่งผลให้ก๊าซมีเทนถูกปล่อยออกมา คิดเป็นปริมาณมากกว่าร้อยละ 15 จากก๊าซมีเทนทั้งหมดในชั้นบรรยากาศ

หมอกควันในอากาศประกอบด้วยก๊าซและสารอะไรบ้าง

1.ฝุ่นละอองในอากาศที่เราสัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน จากการวิจัยพบว่าฝุ่นละอองที่จะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เข้าถึงถุงลมในปอดได้ ยิ่งฝุ่นละออง PM. 2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ย่อมมีอันตรายมากยิ่งขึ้น 2.สารตะกั่ว มีฤทธิ์ทำลายประสาท 3.ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สามารถละลายในเลือด ทำให้เลือดขาดออกซิเจน 4.ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เกิดระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ 5.ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน มีผลต่อระบบการมองเห็น 6.ก๊าซโอโซน ทำให้เกิดระคายเคืองตา 7.ก๊าซมีเทน ทำให้วิงเวียนศีรษะ และ 8.สารอินทรีย์ระเหยง่าย มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ

แล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรบ้าง

ฝุ่นละอองซึ่งมีก๊าซอันตราย และสารหลายอย่าง ซึ่งเป็นพิษลอยกระจายทั่วไปในอากาศ เมื่อคนสูดหายใจเข้าไปนานๆ สะสมก๊าซและสารเป็นพิษต่างๆ ในร่างกายในปริมาณมากๆ ก็จะเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ในอันดับแรก จะป่วยเป็นโรคติดเชื้อในหลอดลมและปอดได้ง่าย ทั้งนี้เพราะระบบทางเดินหายใจของคนเราจะมีเยื่อบุบนผนังหลอดลม เป็นด่านคัดกรองดักจับเชื้อโรคที่เราหายใจเข้าไป และสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวจะทำความระคายเคืองและทำลายเยื่อบุเหล่านี้เสียหาย จนทำให้เกิดป่วยด้วยโรคหวัด โรคปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ต่างๆ ได้ง่ายกว่าปกติ

เมื่อเกิดการระคายเคือง หรือการติดเชื้อในเยื่อบุของหลอดลมนานๆ โรคหลอดลมตีบแคบและถุงลมโป่งพองก็จะเป็นตามมา เกิดการหายใจลำบากเหมือนคนที่เป็นโรคหืด ถุงลมที่เคยยืดขยายและหดได้ ก็จะสูญเสียสภาพไปกลายเป็นถุงลมโป่ง การฟอกเลือดของปอดจะเสียไปด้วย คนจะมีอาการเหนื่อยหอบง่าย ไม่สดชื่น แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน ถ้ามาเจออากาศที่มีฝุ่นควันดำมากๆ อาการจะยิ่งกำเริบ และเป็นสาเหตุให้ตายเร็ว ก็เพราะระบบหายใจหรือการไหลเวียนของเลือดล้มเหลวนั่นเอง

ในอากาศซึ่งมีสารที่เรียกว่าเบนโซไพรีน มาจากควันที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยออกมา สารตัวนี้ทำให้คนเกิดเป็นมะเร็งปอดได้ นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตว่าคนในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมมาก มีอัตราการเจ็บป่วยเป็นมะเร็งในปอดสูงกว่าคนในชนบท ที่อยู่กับท้องไร่ท้องนา ป่าเขา สิ่งแวดล้อมดี อากาศบริสุทธิ์

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เปิดเผยว่า คนสมัยนี้เป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น มีอุบัติการณ์เกิดร้อยละ 30-40 ทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยถึง 400 ล้านคนที่เป็นโรค ภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ จมูกอักเสบและมีผู้ป่วยถึง 300 ล้านคน ที่เป็นโรคหืด ในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่เป็นผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 20 และมีผู้ป่วยเด็กถึงร้อยละ 40 และจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ 10-15 ล้านคน และมีผู้ป่วยเป็นโรคหืดราว 3-5 ล้านคน

ร้ายยิ่งไปกว่านี้ หมอกควันพิษที่มีสารเคมีจากควันโรงงานอุตสาหกรรม มีฤทธิ์ทำลายศักยภาพความเฉลียวฉลาดของคน โดยเฉพาะหญิงที่มีครรภ์ และเด็กน้อยจะได้รับผลร้ายนี้ ส่วนผู้ใหญ่ที่สูดหายใจมลพิษเหล่านี้ทุกวันนี้ ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์คินสัน ซึ่งคนกำลังถูกคุกคามจากโรคร้ายนี้อย่างเงียบ และมีการตรวจพบว่า 1 ใน 6 มักมีโรค หรืออาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นออทิสติก สมาธิสั้น หรือเกิดสมองพิการ

หากเรามีความจำเป็นต้องผ่านไปในย่านหรือในบริเวณที่มีหมอกควันพิษปกคลุมแน่นหนา เราต้องป้องกันตนเองให้พ้นอันตรายจากหมอกควันพิษ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยที่มีคาร์บอนดูดซับสารพิษดูดกรองฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM.2.5 ได้ หรือสวมหน้ากากผ้าชุบน้ำให้ชุ่ม ปิดจมูก และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรืออาคาร หรือการออกกำลังกายในช่วงที่มีหมอกควันมาก

เราสามารถป้องกันมิให้เกิดมลพิษในอากาศได้

ถึงแม้จะอยู่ในบ้าน หรือในออฟฟิศ อาคารที่ทำงาน เราต้องป้องกันมิให้เกิดภูมิแพ้อากาศอันเกิดจากฝุ่นละอองเช่นกัน

1.บ้านที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศให้สะอาด เมื่อปิดเครื่องปรับอากาศหลังเลิกใช้งาน ให้เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไล่ความชื้น

2.ถ้าเป็นห้องที่มีเครื่องถ่ายเอกสาร จะต้องเปิดประตูหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทเช่นกัน เพราะเครื่องถ่ายเอกสารจะปล่อยโอโซนก๊าซพิษ และหมึกคาร์บอนเป็นพิษฟุ้งกระจายในห้อง

3.งดการเผาขยะและเศษวัสดุในที่โล่ง และหยุดจุดประทัดในวันสารท-ตรุษจีน และวันเช็งเม้ง

4.เมื่อตรวจสอบดูแลรักษาสภาพเครื่องของรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ปล่อยควันดำ หรือควันขาว มากเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

5.ลดการใช้สารเคมีในบ้าน ในออฟฟิศ เช่น อะซีโทนในน้ำยาล้างเล็บ อะคลีลาไมค์ที่ใช้ในหมึกพิมพ์และกาว และเมทานอลซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำมัน และสีสเปรย์

สมัยที่พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการ กทม. ได้คุมเข้มเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อมและมลพิษในอากาศใน กทม. ด้วยการสั่งให้ทุกเขตล้างถนนสายหลักสายสำคัญในทุกสัปดาห์ เพื่อลดฝุ่นละออง และในสมัยที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯกทม. ได้มีมาตรการให้รถบรรทุกทุกคันต้องล้างล้อรถให้เกลี้ยงขี้โคลน ขี้ดิน ก่อนที่จะวิ่งเข้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อช่วยลดฝุ่นลดมลอากาศเป็นพิษ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่า พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ได้มีการล้างถนน และมาตรการคุมเข้มรถบรรทุกให้ล้างล้อรถก่อนวิ่งเข้าเขตเมืองหรือไม่ เพราะสามารถช่วยลดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายลงได้มาก

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กวดขันเอาจริงกับผู้เข้าไปจุดไฟเผาป่า เป็นเหตุให้เกิดหมอกควันฝุ่นละอองเป็นมลพิษในอากาศ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตราที่เกี่ยวกับควบคุมไฟป่า มาตรา 54 “ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า ฯลฯ มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี มีปรับตั้งแต่ 20,000-15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมในคดีเผาป่า ไปดำเนินคดีหลายสิบรายแล้ว

เราทุกคนสามารถควบคุมและลดปริมาณการเกิดมลพิษอากาศให้น้อยลงได้ เป็นการช่วยลดปัญหาที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และสภาพแวดล้อมได้ในหลายๆ ทาง แม้รัฐได้มีการออกกฎหมายควบคุมมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว

และรัฐยังกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมดูแลคุณภาพอากาศ ทั้งในบรรยากาศและในสถานที่ประกอบการ หรือบริเวณที่อยู่อาศัยให้เกิดความปลอดภัยแล้วก็ตาม

โรงงานอุตสาหกรรมควรมีมาตรการควบคุมเครื่องจักร มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการหรือวิธีการผลิตเสียใหม่ หรือมีการใช้ใยแก้วดักจับฝุ่นละอองก่อนปล่อยออกสู่ปล่องระบายอากาศ ฯลฯ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

นอกจากนี้ การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่างในที่สาธารณะ หรือบ้านที่มีที่ว่าง ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่ง กทม.ได้มีการสั่งการให้เขตทุกเขตปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในพื้นที่ว่างสาธารณะ และในสวนสาธารณะ เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดักจับฝุ่นละออง ทั้งช่วยฟอกอากาศจากคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นออกซิเจนให้ผู้คนได้หายใจ ช่วยลดปัญหาหมอกควันพิษ ใน กทม.ลงได้ทางหนึ่ง

ถ้าเราทุกคนไม่ช่วยกันลดปัญหาหมอกควันพิษ สักวันหนึ่งอาจไม่นานเกินรอ สภาพอากาศใน กทม. เลวร้ายที่สุดเป็นมลพิษต่อสุขภาพร่างกาย เราคงจะได้เห็นภาพผู้คนใส่หน้ากากอนามัย ห้อยถังออกซิเจนติดตัว พกพาเพื่อหายใจกันบ้าง

ผดุง จิตเจือจุน
วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดสมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image