ที่มา | หน้า 1 มติชน รายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุการณ์เขื่อนดินย่อยส่วน D ของ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย” แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทรุดตัวลง ทำให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าว สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มวลน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ไหลทะลักพื้นที่ท้ายน้ำ ก่อนลงสู่แม่น้ำเซเปียน เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนในแขวงอัตตะปือ
ข้อมูลจากสำนักข่าวเอบีซีลาวยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ศพ มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 6,631 คน จาก 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านหินลาด 123 ครอบครัว, บ้านท่าแสงจัน 97 ครอบครัว, บ้านสะหมอง 67 ครอบครัว, บ้านท่าหิน 159 ครอบครัว, บ้านใหม่ 158 ครอบครัว และบ้านใหย่แท 768 ครอบครัว
“เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย” เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก กับเมืองสะหนามไช แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว
เป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ของ “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ที่ลงทุนในลาว ต่อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 แขวงเวียงจันทน์ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา แขวงไซยะบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์ มีมูลค่า 32,460 ล้านบาท
โดย “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ถือหุ้น 25% ร่วมกับบริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 26%, บริษัท โคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ ถือหุ้น 25% และบริษัท ลาว โฮลดิ้ง สเตรท เอ็นเตอร์ไพรส์ ถือหุ้น 24%
“โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน- เซน้ำน้อย” อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างรวม 64 เดือน แต่ขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลของฝ่ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า งานบริหารสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า “เขื่อนเซน้ำน้อย” มีพื้นที่รับน้ำฝน ปริมาณ 48.26 ตารางกิโลเมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำราว 1,043.27 ลบ.ม.
หรือเท่ากับ “เขื่อนแก่งกระจาน” จ.เพชรบุรี แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 20 เท่า
ขณะเดียวกัน “โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย” ถือเป็นความท้าทายด้าน “การออกแบบ” และ “การก่อสร้างทางวิศวกรรมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ” แห่งหนึ่งในภูมิภาค เนื่องจากเป็นการออกแบบอ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ มีการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำในแนวราบยาวกว่า 13.59 กิโลเมตร ด้วยเทคโนโลยี Tunnel Boring Machine และแนวดิ่งสูงกว่า 458 เมตร
ส่งผลให้ “เพิ่มระดับความสูงของน้ำ” กว่า 650 เมตร เพื่อสร้างแรงดันน้ำในการหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า โดยใช้น้ำเพียงเล็กน้อย ตลอดจนภายในเขื่อนเซน้ำน้อยยังมี “ประตูปล่อยน้ำ” ให้ประชาชนชาวลาวใช้อุปโภคบริโภคอย่างเต็มที่
โดย “ราชบุรีโฮลดิ้ง” พร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ภายในปี 2562 มีกำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ จำหน่ายแก่ กฟผ. 354 เมกะวัตต์ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน 40 เมกะวัตต์ ในอัตราค่าไฟไม่เกิน 2.50 บาทต่อหน่วย พร้อมเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ที่อุบลราชธานี ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 27 ปี (2562-2589)
เหตุการณ์ดังกล่าว “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ออกหนังสือชี้แจงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ระบุว่า บริษัทได้รับแจ้งจาก บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา ส่วน D (Saddle Dam D) ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัว ส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าว และน้ำไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ และลงสู่ลำน้ำเซเปียนที่อยู่ห่างจากพื้นที่เขื่อนประมาณ 5 กิโลเมตร
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “พายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง” ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่พื้นที่กักเก็บน้ำของโครงการ โดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย ได้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบไปยังสถานที่พักพิงชั่วคราวตามแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เขื่อนย่อยส่วน D เป็น 1 ใน 5 เขื่อนย่อยที่อยู่ล้อมรอบเขื่อนหลักที่ผลิตกระแสไฟฟ้า ยืนยันว่าไม่กระทบกับเขื่อนหลัก และไม่มีผลต่อการเริ่มจ่ายไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน ตลอดจนบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะสร้างคันโดยรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแรงของเขื่อนย่อยด้วย
สำหรับสาเหตุการทรุดตัวของสันเขื่อนดินนั้นสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หนึ่งในผู้ร่วมทุน ออกแถลงการณ์ระบุว่า “มีการพบส่วนบนของโครงสร้างเขื่อนถูกซัดออกไปก่อนหน้าที่เขื่อนจะแตกราว 24 ชั่วโมง โดยพบความเสียหายของเขื่อนเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 22 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นในลาว และได้รีบแจ้งไปยังทางการและเริ่มการอพยพชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณใต้เขื่อน”
“ส่วนการซ่อมแซมเขื่อนที่ได้รับความเสียหายต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ถนนได้รับความเสียหาย โดยช่วงเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม ได้มีการระบายน้ำให้ไหลออกมาจากเขื่อนเซน้ำน้อย เพื่อลดแรงดันภายในโครงสร้างเขื่อน ทั้งนี้ได้ส่งทีมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตไปยังบริเวณที่เกิดเหตุ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ เรือ และเจ้าหน้าที่กู้ภัย และขณะนี้ เอสเค อีแอนด์ซี กำลังปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือผู้คนและบรรเทาความเสียหายร่วมกับรัฐบาลลาวเรียบร้อยแล้ว”
อย่างไรก็ดีในส่วนของการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 1,300 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้านบาท แก่ทางการ สปป.ลาว และขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทพร้อมทีมงานกำลังเดินทางเข้าพื้นที่ พร้อมประสานขอการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและ กฟผ.ในการให้ความช่วยเหลือเครื่องอุปโภคและบริโภค ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการฟื้นฟูแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่