ทิศทางบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2562 : โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

แม้ว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” จะผ่านร้อนผ่านหนาวในการทำหน้าที่ “หลักประกันด้านสุขภาพ” ให้กับคนไทยทั้งประเทศมาต่อเนื่องถึง 16 ปีแล้ว โดยการบริหารจัดการกองทุนในด้านต่างๆ ได้ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบและดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งด้านประชากร สภาวะโรคและความเจ็บป่วย ความก้าวหน้าทางการแพทย์และการพัฒนาระบบบริการ ในแต่ละปีของการดำเนินงานกองทุนฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงต้องมีการปรับปรุงการบริหารและพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สนองต่อความต้องการทั้งหน่วยบริการและประชาชนในฐานะผู้รับบริการ

ในปีงบประมาณ 2562 นี้เช่นกัน สปสช.ได้ปรับการบริหารจัดการกองทุนฯ ตามข้อเสนอของอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน โดยผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน

หลักการสำคัญของการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งการเข้าถึงบริการที่จำเป็นให้กับประชาชน สนับสนุนการบริการของหน่วยบริการที่อยู่ในระบบ และความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการร่วมดูแลสุขภาพประชาชน

สําหรับประเด็นสำคัญที่ สปสช.ได้ปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น เริ่มจากการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ประกอบด้วยคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี (DTP-HB-Hib) เพื่อป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ติดเชื้อในกระแสเลือด, ปอดอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและฝีในสมองที่เกิดจากเชื้อไวรัสฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเป็นวัคซีนที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และยังเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยราคาวัคซีนอยู่ที่ 141 บาท/คอร์ส เมื่อคิดเป็นงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มรวมทั้ง 3 กองทุน ทั้งสวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15.98 ล้านบาท แต่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยและประหยัดงบค่ารักษาพยาบาลได้ เฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สูงถึง 73.27 ล้านบาท/ปี

Advertisement

การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ด้านยา โดยเป็นไปตามบัญชียา จ.(2) จำนวน 2 รายการ คือ ยาราลทิกราเวียร์ (Raltegravir) เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มาก เนื่องจากการใช้ยาเดิมนั้นมีประสิทธิผลต่ำในหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้ แต่หากใช้ยาราลทิกราเวียร์ทดแทนจะทำให้การป้องกันการถ่ายทอดเชื้อมีประสิทธิผลเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยข้อมูลการคาดการณ์หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องรับยาราลทิกราเวียร์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีจำนวน 693 ราย อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจะลดลงอยู่ที่ 27 ราย หรือร้อยละ 3.9 ขณะที่ใช้การยาเดิมป้องกัน จะอยู่ที่ 53 ราย หรือร้อยละ 7.6 โดยมีค่าใช้จ่ายยาอยู่ที่ 6,792.80-10,189.20 บาท/คน/คอร์ส

เมื่อคำนวณงบประมาณโดยรวมทั้งหมด เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวน 5.12-7.47 ล้านบาท

ยาบีวาซิซูแมบ โดยเพิ่มข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน จากข้อมูลความชุกของโรคตามอุบัติการณ์ที่แท้จริง แต่ละปีมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและได้รับยาบีวาซิซูแมบอยู่ที่ 10,800 ราย โดยการรับยาเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ครั้ง/คน/ปี เป็นค่าใช้จ่ายยา 606.33 บาท/โดส หรือ 2,425.32 บาท/คอร์ส รวมเป็นงบประมาณ 26.19 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์โดยดูข้อมูลการเบิกจ่ายจริงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจะอยู่ที่ 4.49-20.17 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่รับได้เมื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงการรักษาที่ครอบคลุมเพิ่มขึ้นให้กับผู้ป่วย

Advertisement

นอกจากนี้ยังได้รุกพัฒนาระบบเพื่อมุ่งดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นในปี 2562 อาทิ การนำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็น การเน้นบริการควบคุมภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ในบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันสูง และการปรับบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมในบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว โดยปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยบริการปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัวเพิ่มขึ้น (Primary Care Cluster: PCC) เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ทั่วถึง

ส่วนที่ได้ปรับปรุงบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อมุ่งสนับสนุนการบริการของหน่วยบริการในปีนี้ ได้แก่ การปรับเพิ่มอัตราการเบิกชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน เพื่อให้หน่วยบริการได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสมตามความเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการจัดบริการ โดยได้ปรับอัตราการเบิกชดเชยค่าบริการผู้ป่วยในตามน้ำหนักสัมพัทธ์ หรือ AdjRW (Adjusted Relative Weight) จากจำนวน 8,000 บาทต่อ AdjRW ในปี 2561 เป็นจำนวน 8,050 บาทต่อ AdjRW ในปี 2562

ทั้งยังได้กำหนดให้เป็นอัตราคงที่เพื่อใช้ในการคำนวณตลอดทั้งปี เพื่อลดความกังวลของหน่วยบริการต่อค่า AdjRW ที่อาจปรับลด ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการมั่นใจและให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

การปรับการเบิกจ่ายชดเชยการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นการเบิกจ่ายตามผลงานจริง (Fee schedule) ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปในอัตราที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการเพิ่มการจ่ายค่าบริการตามผลงานจริง (Fee schedule) ในรายการที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการในหญิงตั้งครรภ์เป็น 8 รายการ ได้แก่ บริการตรวจยืนยันโลหิตจากธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปี บริการป้องกันยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย, บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด, บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรในผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มวัคซีนพิษสุนัขบ้าในบริการเฉพาะ เพื่อดำเนินการจัดซื้อรวมที่ส่วนกลางและกระจายไปยังหน่วยบริการ โดยย้ายงบค่าบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 10.67 ต่อผู้มีสิทธิเพื่อดำเนินการ ที่เป็นการลดภาระหน่วยบริการในหลายพื้นที่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปีที่ผ่านมา

ขณะที่การปรับปรุงที่มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของ อปท. โดยปีนี้ สปสช.จะมีการปรับประสิทธิภาพบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยจะมีการปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ดึง อปท.ให้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น โดยมุ่งลดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน

ทิศทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในปี 2562 นี้ มาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ที่ร่วมสะท้อนความเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานกองทุนฯ อย่างเหมาะสม ตอบสนองทุกภาคส่วน ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน

หลังจากนี้ สปสช.ยังต้องติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงประเด็นที่ได้ปรับปรุง นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ยั่งยืนตลอดไป

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image