ศึกชนช้าง ชิงเจ้าดิวตี้ฟรีไทย

       เดือนแห่งความรัก หลังวันมาฆบูชา ใกล้เวลาที่ไพ่ใบแรกของศึกชิงเจ้าแห่งดิวดี้ฟรี ก็จะถูกเปิด  เมื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จวนจะได้ฤกษ์เปิดทีโออาร์ประมูลร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ และคาดว่าสามารถชี้ขาดผลการคัดเลือกภายในเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2562

       การประมูลครั้งนี้ น่าจะเป็นศึกยักษ์ค้าปลีก ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจที่สุดครั้งหนี่ง เนื่องจากเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง ยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรีของไทย  พบกับ ยักษ์ค้าปลีกชั้นนำของไทย และยังต้องปะทะกับยักษ์ใหญ่ดิวตี้ฟรีระดับโลก แถมยังมีตัวสอดแทรกจากยักษ์ใหญ่ในวงการบินสายป่านยาว

       เริ่มจาก กลุ่มแรก คิง เพาเวอร์ ประสบการณ์ยาวนานในฐานะแชมป์เก่า จากรุ่นสู่รุ่น ภายใต้แม่ทัพ
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมานาน
แล้วว่า ในอนาคตต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งต้องเพิ่มมากขึ้น

       ในขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปจากการอาศัยกรุ๊ปทัวร์เป็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง คิง เพาเวอร์ จึงได้ลงทุน 2500 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ 1.8 หมื่นตารางเมตร  ที่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ รางน้ำ ให้เป็น Travel Retail ที่ ใครก็ตามที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หรือผู้ที่จะซื้อของฝากต้องนึกถึง คิง เพาเวอร์

Advertisement

       ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชม คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ จะพบว่านอกจากร้านค้าแบรนด์เนม
ระดับโลกแล้ว ยังมีศูนย์อาหารระดับแม่เหล็ก และโซนการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย เพื่อสร้างความครบวงจรของแบรนด์

       คนทั่วไปมักมองว่า ลูกค้าของดิวตี้ฟรี คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วขุมทรัพย์สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ สามารถใช้สิทธิซื้อสินค้าในร้านดิวตี้ฟรี ในประเทศไทยก็ได้ ในต่างประเทศก็ได้ เสมือนนักท่องเที่ยว
ต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย แต่จุดแข็งที่มากกว่านั้นคือ ความเป็น “ลูกค้าประจำ” ไม่ใช่
“ลูกค้าขาจร”

       “บัตรสมาชิกคิง เพาเวอร์” จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่สามารถแวะเวียนมาจับจ่ายใช้สอยในร้านดิวตี้ฟรี ครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งนักท่องเที่ยวไทย ได้ชื่อว่าเป็น ขาช้อประดับแนวหน้า
ของโลก การโปรโมชั่นผ่านบัตรสมาชิกดิวตี้ฟรี ก็ยิ่งสร้างโอกาสเพิ่มรายได้มากยิ่งขึ้น

       ตามสัญญาที่คิง เพาเวอร์ ทำไว้กับทอท. จะกำหนดราคาสินค้าให้แพงกว่าร้านค้าปลอดอากรของประเทศอื่นไม่ได้ และปกติสินค้าของคิง เพาเวอร์ มีราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้าทั่วไป 10-20% คิง เพาเวอร์ยังจับมือกับธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตหลายแห่งเพื่อทำโปรโมชั่นลดราคา และสะสมแต้ม ยกตัวอย่าง
การจับมือกับธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อให้ลูกค้าที่ถือบัตรคิง เพาเวอร์-ธนาคารแห่งนั้น ได้รับส่วนลด 20%
ซึ่งดังนั้นหากมาเป็นสมาชิกบัตรคิง เพาเวอร์-ธนาคาร ได้ส่วนลดอีก 20% จากราคาที่ถูกกว่าอยู่แล้ว
10-20%

       ความเชี่ยวชาญ ความพร้อม และประสบการณ์ของทีมงานคือ จุดแข็งของคิง เพาเวอร์ที่เป็นบริษัท
คนไทย

       สอง กลุ่มเซ็นทรัล  “NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY นับเป็นกลุ่มทุนที่มีสายป่านยาว

       เซ็นทรัลกำลังอยู่ในยุคการแตกตัว เพื่อสยายปีกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ล่าสุดคือการ
ร่วมลงทุนใน Grab Taxi   6,340 ล้านบาท เพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจค้าปลีก และร้านอาหาร ซึ่ง ทศ จิราธิวัฒน์”
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด  อธิบายว่าเซ็นทรัลกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า
“NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY” ทั้งในด้านเทคโนโลยี และผู้นำดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม
(Market Leader in Digi-Lifestyle Platform) อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำของโลก และควบรวมกิจการ

       กลุ่มเซ็นทรัล เก่งกาจเรื่องของการค้าปลีกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ยังขาดประสบการณ์และ
ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เรื่องดิวตี้ฟรี
จึงจำเป็นต้องดึงพันธมิตรต่างชาติมาร่วม

       พลังภายในที่ล้นเหลือของเซ็นทรัล ก็ไม่ธรรมดา ในระดับที่ซีพีต้องอึ้ง เมื่อเห็นป้าย VAT Refund
ตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์  ทั้งๆที่กรมสรรพากรประกาศรายชื่อเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเครือของซีพี ออลล์
เป็นผู้ที่ได้รับการอนุมัติเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourist)
ในขณะนั้นดูเหมือนว่าซีพีจะเป็นเพียงเจ้าเดียวที่ได้ แต่ด้วยพลังของการเดินเกมส์หลังม่านแบบสุดๆ
เซ็นทรัลเวิลด์ก็มีบริการ VAT Refund ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจนได้

       ประกอบกันกับการเคลื่อนไหวของสมาคมค้าปลีก ที่นำโดย  วรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมค้าปลีกคนล่าสุด ที่ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัล ที่มากุมบังเหียนในประเด็นของ
รูปแบบประมูลสัมปทานครั้งใหม่ ที่ประกาศผ่านสื่ออย่างหนาแน่นถึงความต้องการที่จะได้ครอบครอง
สัปปทานดิวตี้ฟรี

       วรวุฒิ เรียกร้องให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานรายเดียว (master concession) มาใช้ระบบสัมปทาน
ตามหมวดหมู่สินค้า (concession by category)อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าว อาจจะไม่ใช่ทางเลือก
ที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่เคยมีข้อเสนอให้เกิดผู้เล่นหลายราย ที่เสนอผลตอบแทนขั้นสูง โดยหวังว่าภาครัฐจะได้รับประโยชน์สูงสุด อาทิ ในกิจการโทรคมนาคม กรณีทีวีดิจิตอล แต่เมื่อนำมาใช้จริงกลับเกิดปัญหา ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลเสียหายต่อทั้งภาคเอกชน
และภาครัฐที่เป็นคู่สัญญา  ซึ่งการแก้ปัญหาจะยุ่งยากซับซ้อนมาก

       ข้อเสนอที่ดูสวยหรูในทางทฤษฎี หรือเคยประสบความสำเร็จในต่างประเทศ จึงไม่สามารถยืนยัน
ได้อย่างชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จได้ในประเทศไทย

       สาม  ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากเกาหลี LOTTE Duty Free ตั้งเป้าเบอร์ 1 ของโลกในปี 2020
กับการเชื่อมต่ออย่างมีนัยสำคัญกับความเคลื่อนไหวของสมาคมร้านค้าปลอดอากร

       ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา LOTTE Duty Free ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจออกนอกเกาหลีใต้ เริ่มจากร้านค้าปลอดอากรที่เกาะกวม และจาการ์ต้า ในปี 2556   ถัดมาในปี 2557 รุกเข้าญี่ปุ่น ที่สนามสนามบินคันไซ
และย่านกินซ่า ของญี่ปุ่นในปี 2559 ก่อนที่จะมาเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ ประเทศไทย และ ดานัง เวียดนาม ในปี 2560 ส่งผลให้ปัจจุบัน LOTTE Duty Free ครองอันดับธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ในเกาหลีใต้ และ
อันดับ 2 ของโลก โดยตั้งเป้าขึ้นอันดับ 1 ของโลกภายในปี 2563

       LOTTE Duty Free เดินเกมเร็วและลัดกว่ากลุ่มอื่นๆ โดย ร่วมกับคนไทยบางกลุ่ม เรียกร้องให้ ทอท.
เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick-up counter) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับอนุมัติจาก
กรมศุลกากรได้ใช้ร่วมกัน โดยไม่รอให้
หมดสัญญาสัมปทานในปี 2563

       ความเคลื่อนไหวนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่  ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ได้ใบอนุญาตให้เปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองจากกรมศุลกากร โดยเปิดที่ศูนย์การค้าโชว์ ดีซี แต่กลับเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ คือ ทอท.ไม่ยอมดำเนินการให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิอย่างไรก็ตามข้อเสนอและแรงกดดัน
นี้ยังไม่เป็นผล เพราะ ทอท.ยังคงยืนยันให้รอหมด
สัญญาสัมปทานในปี 2563

       สี่  กลุ่มทุนต่างชาติ ที่รอแพ็คกับกลุ่มทุนในประเทศ เพื่อสร้างการต่อรอง และแบ่งประโยชน์กัน
อย่างลงตัว ดีเอฟเอส เป็นกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ซึ่งตอนนี้บริหารสนามบินชางงี  ก็มีแนวโน้มที่จะกระโดด
เข้ามาร่วมศึกสัมปทานดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิด้วยเช่นกัน โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างดีเอฟเอส (DFS) กับ
เซ็นทรัล ซึ่งน่าจะเป็นการรวมกันเพื่อรุกเจ้าใหญ่ ขยายโอกาสในการครอบครองสัมปทานใหม่
ที่กำลังจะเกิดขึ้น

       ห้า กลุ่มทุนไทยที่ยังเดินหน้าเพื่อหาทางต่อยอดธุรกิจ กลุ่มเดอะมอลล์ ผู้ที่คว้าสัมปทานพื้นที่
เชิงพาณิชย์สินค้าและบริการ ที่สนามบินดอนเมือง และอายุสัมปทานก็กำลังจะหมดอายุลงในปี 2565 และ กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ ภายใต้การดำเนินการของนายแพทย์ปราเสริฐ  ปราสาททองโอสถ จากเดิมที่มีธุรกิจ
โรงพยาบาล สายการบิน ได้เข้าเทคโอเวอร์บริษัทมอร์แดนฟรี ที่ได้เปิดให้บริการร้านค้าปลอดอากร
อยู่ที่สนามบินสมุย อู่ตะเภา สุราษฎรธานี และหลวงพระบาง

       ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กิจการร้านค้าปลอดภาษีในไทย เคยมีผู้ประกอบการมารับสัมปทานหลาย
ราย ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จและต้องถอนตัวออกไป จนกระทั่งต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการ
พร้อมที่จะรับความเสี่ยง โดยการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำสูงสุดเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับและร่วมเข้าประมูลมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ เป็นไปตามกติกา ส่วนกติกาใหม่จะเป็นอย่างไรนั้น
คงเป็นเรื่องที่ต้องมองผลประโยชน์ให้รอบด้านและโอกาสความไปได้อย่างเหมาะสม

       ในกิจการดิวตี้ฟรีที่เข้มแข็งและเป็นมืออาชีพของไทย  นักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจาก
จะมาช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมแล้ว ยังช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์ไทยด้วยคุณภาพและภาพลักษณ์
ที่ได้มาตรฐานระดับโลก ยอดขายที่เกิดขึ้นคือส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐทั้งในรูปแบบผลตอบแทนและภาษี รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นหน้า เป็นตาของคนไทยทั้งชาติ
นั่นคือการมองกว้าง-คิดไกล ไม่ใช่เพียงแค่แข่งแพ้แล้วเดินเกมหลังฉากเปลี่ยนกติกา
มองแคบ-คิดสั้น เอื้อประโยชน์เฉพาะตนอย่างชัดเจน ถ้ามาด้วยเกมแบบนี้ จะให้สังคมคาดหวัง
ว่าประโยชน์สูงสุดจะตกแก่ส่วนรวมอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image