เปิดผลสัมฤทธิ์การขับเคลื่อนการศึกษาชายแดนใต้ 6 ด้าน  ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

วิสัยทัศน์สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) สู่รูปธรรม คือ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หัวเรือใหญ่ในฐานะประธานการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่มุ่งยกระดับคุณภาพ เสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา  โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน คือ 1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

นายสันติ แสงระวี ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ยะลา) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานศึกษาธิการ ภาค 7 ยะลา เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจที่สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด โดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาส  ทั้งยังประสานการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) อย่างเข้มแข็งด้วย

Advertisement

ผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผลสะท้อนประสิทธิภาพภายใต้การทำงานที่เป็น 

Advertisement

“MOE one team” เกิดการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหลักสำคัญคือ “การศึกษาถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าของประชาชน” นำมาสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผลการดำเนินงานแบบบูรณาการที่สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มีการบูรณาการขับเคลื่อนเพื่อกำหนดแนวทางที่จะทำให้เยาวชนและประชาชนเกิดความภาคภูมิใจและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแกนหลักในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ตลอดจนปลูกฝังการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ด้านที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน ให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาประชากรวัยแรงงาน ให้มีทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมประสบการณ์ด้านอาชีพเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพทางเลือกและพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจนผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดรับตามนโยบายเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ด้านที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพัฒนาระบบการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์สู่การบูรณาการการเรียนรู้ของนักเรียน พัฒนาสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน และการดำเนินการพัฒนาครูให้มีศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการเรียนการสอน  

ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา ได้ดำเนินการสร้างแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส นำประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบการศึกษา ช่วยเหลือผู้เรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยโดยโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการสร้างโรงเรียนต้นแบบเพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านกีฬา ภายใต้โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดมาตรฐานสถานศึกษาน่าอยู่ น่าเรียน และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาและชุมชน

ด้านที่ 6 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา มีการดำเนินการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมความสัมพันธ์โรงเรียนกับชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบการสานพลังประชารัฐ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการศึกษา รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมความสำเร็จขึ้นได้ด้วยกลไกประชารัฐ ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน ตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลทั้ง 6 ด้าน เพื่อให้การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” นายสันติ แสงระวี กล่าวสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image