ดิวตี้ฟรีไทย ชน ต่างชาติ

        ในขณะรังสีความร้อนเดือนเมษายน ขยายแผ่ซ่านไปทั่วไทย อุณหภูมิธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย หลังเทศกาลสงกรานต์ก็เริ่มร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

        18 เมษายน 2562 คือวันสุดท้าย ที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. เปิดขายซองประกวดราคาโครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร(ดิวตี้ฟรี)สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) สนามบินสุวรรณภูมิ  ปรากฎว่ามีเอกชนมาซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรี 5 ราย และโครงการรีเทล 4 ราย

        5 ราย ที่เข้ามาซื้อซองประมูลประกวดราคาดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ  ได้แก่

        1. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

Advertisement

        แม้จะโชว์ชื่อให้เห็นเฉพาะบริษัทคนไทย   แต่ การประมูลรอบนี้ก็เป็นการแข่งขันระหว่างดิวตี้ฟรีสายพันธุ์ไทย และดิวตี้ฟรีสายพันธุ์ลูกผสมไทย-ต่างชาติ ตัวยืนดิวตี้ฟรีสายพันธุ์ไทย ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้ได้รับสัมทานเดิมโดยเมื่อปี 2561  ที่ผ่านมา คิง เพาเวอร์ ได้ขยายอาณาจักรโดยชนะการประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร(Duty Free) ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ และบริษัท คิง เพาเวอร์ โกลบอล ดีวีลอปเมนท์ เป็น บริษัทร่วมทุนไทย-ฮ่องกงได้รับอนุญาตให้บริหาร 5 กลุ่มสินค้าลักชัวรี่ พื้นที่ร้านค้าดิวตี้ ฟรี จากท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง  ขณะที่ผู้ท้าชิงคือ บริษัทดิวตี้ฟรีต่างชาติ ที่อยู่ในกระแสข่าวมาตลอด ยังไม่ได้หลุดไปไหน ไม่ว่าจะเป็น ดีเอฟเอส แห่งสิงคโปร์ หรือ ล็อตเต้ แห่งเกาหลีใต้ แม้ไม่มีชื่อในรอบแรก เพราะเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ซื้อซองจะต้องเป็นเอกชนคนไทย 100% ฉะนั้นการแจ้งชื่อ joint venture ที่จะร่วมประมูลให้ ทอท.ทราบต้องกระทำ ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม แล้วยื่นซองประมูลวันที่ 22 พฤษภาคม โดยวันที่ 31 พฤษภาคม นี้จะประกาศผลผู้ชนะการประมูล

ดีเอฟเอส แห่งสิงคโปร์  เคยจับมือกับ กลุ่มเซ็นทรัล ในนาม Central DFS Consortium   เมื่อครั้งประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินอู่ตะเภา เชื่อว่าในครั้งนี้ เซ็นทรัลยังคง แพ็คคู่กับดีเอฟเอสอีกเพราะเซ็นทรัลต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญด้านดิวตี้ฟรีของดีเอฟเอสแล้วยังมีเหตุผลเรื่องการระดมทุน เนื่องจากรอบนี้ เซ็นทรัล เข้าร่วมประมูลทั้งดิวตี้ฟรี และรีเทลเซ้นทรัลต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล  เช่นเดียวกับกลุ่มล็อตเต้ ที่พลาดท่าจากสนามบินอู่ตะเภาแล้วก็สร้างเซอร์ไพรซ์ด้วยการจับมือกับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ การหันมาจับมือกันรอบนี้ จึงเป็น “ใหญ่จับใหญ่” โดยกลุ่มล็อตเต้ แม้จะสามารถปักหลักดิวตี้ฟรีในเมือง แต่คงเทียบไม่ได้กับผลประโยชน์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนนายแพทย์ประเสริฐนั้นบอกได้คำเดียว  “ กลับมาทวงคืนศักดิ์ศรีเก่า ” อีกกลุ่มทุนที่เข้ามาซื้อทั้งซองดิวตี้ฟรี และรีเทล คือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์ในการขยายธุรกิจร้านอาหารในสนามบิน ผ่านบริษัท ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับ เอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสนามบินในหลายประเทศ จึงเป็นบริษัทไทยอีกรายที่จับมือกับบริษัทต่างชาติในรอบนี้ รายสุดท้ายที่สร้างเซอร์ไพร์ซแบบสุดๆๆ คือ บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจกับ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ของนายชายนิด อรรถญาณสกุล ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับสอง ขณะที่ประธานบริษัท คือ นายวิชัย ทองแตง  บุคคลหลายอาชีพ ทนายความ นักธุรกิจ  เซียนหุ้น ลอบบี้ยิสต์ กลุ่มนี้ยังไม่ยังไม่แน่ชัดว่าจะจับมือกับกลุ่มใดแต่ชื่อชั้น วิชัยกับชายนิดไม่ธรรมดา

        สิบปีผ่านมา กิจการดิวตี้ฟรีไทย ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากธุรกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ที่กลุ่มทุนรายแล้ว รายเล่า ก้าวเข้ามาและถอยออกไป  แต่ คิง เพาเวอร์พลิกโฉมจนกลายเป็นธุรกิจที่แข็งแรง มูลค่านับแสนล้าน ที่สร้างความเชื่อมั่นว่า “คนไทยทำได้”   

Advertisement

        การประมูลธุรกิจดิวตี้ฟรีของไทย ที่มีมูลค่ามหาศาล ครั้งนี้ ผลสุดท้ายจะได้ผู้ประกอบการภายในประเทศ  หรือจะได้ธุรกิจร่วมทุนกับต่างชาติ ใครจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้ตกอยู่กับคนไทยในระยะยาวมากกว่ากัน ผู้ที่ตัดสินใจ ใน ทอท. ก็คงต้องพิจารณา ให้รอบด้าน รวมถึงเม็ดเงินที่จะไหลเวียนอยู่ในเมืองไทย เปรียบเทียบกับเงินที่ไหลออกไปต่างประเทศ  ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ และความเหมาะสมของการบริหารงาน ในระยะยาวที่จะต้องพิจารณา ให้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image