‘รอมฎอน’ เดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม

สำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศเรื่อง การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราห์ศักราช 1440 ความว่า เพื่อให้การกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1440 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งในวันและเวลาดังกล่าวหากมีผู้เห็นดวงจันทร์โปรดแจ้งกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะได้ตรวจสอบและรายงานผลการดูดวงจันทร์ดังกล่าวไปยังจุฬาราชมนตรี เพื่อออกประกาศแจ้งให้พี่น้องมุสลิมทราบต่อไป

การที่มีผู้เห็นดวงจันทร์ในวันและเวลาดังกล่าว มีการแจ้ง ตรวจสอบและรายงานผลการดูดวงจันทร์ไปยังจุฬาราชมนตรี มีการประกาศกำหนดเดือน “รอมฎอน” อย่างเป็นทางการ เทศกาลถือศีลอดก็จะเริ่มขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานที่ดูดวงจันทร์บริเวณศาลาดูดวงจันทร์ เขาปาเร๊ะ ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อกำหนดวันแรกของการถือศีลอดอดในเดือนรอมฎอน

“รอมฎอน” เป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและถือเป็นเดือนแห่งการอุทิศร่างกายและจิตวิญญาณให้แก่พระผู้เป็นเจ้า และยังเป็นหนึ่งในธรรมเนียมมุสลิมไม่กี่ประการที่เป็นที่คุ้นเคยของประชาชนต่าง ศาสนาเป็นอย่างดี ในฐานะเทศกาลถือศีลอด ซึ่งชาวมุสลิมทุกคนจะไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่มใดๆตั้งแต่พระอาทิตย์ ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อเป็นการฝึกความอดทนและให้เห็นใจผู้ที่ยากจนและขาดโอกาสในสังคม

Advertisement

ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งกินเวลา 29-30 วัน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเว้นเครื่องดื่ม พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี และต้องเข้มงวดระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนาและการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ รวมทั้งต้องไม่กระทำใดๆที่ ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะด้วย

ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย

ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม

Advertisement

ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก

ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ

ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย

โดยการปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำผิดนี้ เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย  

ดังนั้นแก่นแกนสาระของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงมีจุดประสงค์ เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก ได้เรียนรู้อุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินชีวิต การถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความเพียรและสติปัญญา การถือศีลอดจึงเป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์

การถือศีลอด จึงเป็นกระบวนการฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ การถือศีลจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

รอมฎอน ไม่ใช่ชื่อของเทศกาลหรือธรรมเนียมใดๆ แต่เป็นชื่อเรียกเดือนที่ 9 ในปฏิทินฮิจเราะญ์ หรือปฏิทินจันทรคติของอิสลาม ซึ่งถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพระคัมภีร์อัลกุ รอานลงมาให้แก่นบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อใช้สั่งสอนและเป็นเครื่องชี้ทางให้แก่อิสลามิกชนทั่วโลก โดยพระคัมภีร์ระบุว่าวันที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานให้แก่นบีมูฮัมหมัด คือช่วงวันที่ 26-27 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ในเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมทุกคนจึงต้องรักษาศีล อดอาหารเพื่อฝึกฝนการบังคับตนเองและเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของนบีมูฮัมหมัดได้ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษเพื่อ เป็นการบูชาพระเป็นเจ้า จนทำให้เดือนนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างในภาษาไทยว่า “เดือนบวช”

การเริ่มต้นวัตรปฏิบัติต่างๆในเดือนรอมฎอน จะมีขึ้นตั้งแต่วันแรกของเดือน โดยการประกาศการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนจะทำโดยผู้นำทางศาสนาของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะกำหนดจากการสังเกตคืนที่ปรากฎดวงจันทร์เสี้ยวเป็นครั้งแรกหลังจากคืน เดือนมืดให้เป็นวันที่ 1 ของเดือน และนับไปจนครบ 29-30 วันตามแต่ปฏิทินฮิจเราะญ์ของแต่ละปี โดยในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมหลักของโลก การเริ่มเดือนรอมฎอนจะยึดตามคำประกาศของผู้นำศาสนาอิสลามในอียิปต์เป็นสำคัญ

ถึงแม้ว่าการอดอาหารจะเป็นส่วนสำคัญในวัตรปฏิบัติของเดือนรอมฎอน แต่อาหารก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดยก่อนและหลังพระอาทิตย์ตก ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญร่วมกับครอบครัว โดยมีข้อบังคับว่าอาหารชนิดแรกที่อิสลามิกชนต้องรับประทานหลังจากถือศีลอดมา ทั้งวันคือ อินทผลัม ตามด้วยอาหารหวานต่างๆ เพื่อชดเชยกับพลังงานที่สูญเสียไปจากการอดอาหาร

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ชาวมุสลิมจะสามารถรับประทานอาหารได้ แต่ยังคงต้องสำรวมและถือศีลอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปล่อยให้ตนเองมีความสุขกับการรับประทานอาหารและผ่อนคลายมากเกินไป โดยถือว่าหากศาสนิกชนดื่มด่ำในรสชาติของอาหารและความสุขจากการรับประทาน การฝึกฝนตนเองที่กระทำมาทั้งวันก็เท่ากับเป็นการสูญเปล่า

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบศาสนกิจของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งแรงใจให้แก่ผู้ถือศีลอดได้ประกอบศาสนกิจได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ตามหลักศาสนาอิสลามที่ได้กำหนดไว้ เป็นประจำทุกปีที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมให้การสนับสนุนการประกอบศาสนกิจ โดยการมอบอินทผาลัม และสิ่งของจำเป็นโดยผ่านหน่วยทหาร ตำรวจ กองกำลังประจำถิ่นในพื้นที่ไปมอบให้แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิม ส่วนการดูแลอำนวยความสะดวกในการประกอบศาสนกิจในห้วงเดือนรอมฎอนนั้น แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้กำชับให้ทุกหน่วยดูแลความปลอดภัยในทุกพื้นที่ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมได้ประกอบศาสนกิจอย่างเต็มที่ มุ่งประกอบคุณงามความดีและให้อภัยแก่กัน รวมทั้งช่วยเหลือผู้ยากไร้สมความมุ่งมั่นตั้งใจในการกระทำความดีในเดือนอันประเสริฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image