ดัชนี‘เชื่อมั่น’หอการค้าฯ วูบต่อเนื่อง7เดือนติด

หมายเหตุ – หอการค้าไทยร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าภูมิภาคทั่วประเทศ 369 ตัวอย่าง สำรวจระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2562 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 46.5 จากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 46.7 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.3 จากระดับ 48.2

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ด้านปัจจัยด้านลบ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัว 2.3% เป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี, ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย, ปัญหาขัดแย้งของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย-ปากีสถาน เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น และการประท้วงในฮ่องกง, ดัชนีหุ้นไทยเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลง 57.05 จุด จาก 1,711.97 ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 เป็น 1,654.92 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562, สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลต่อการส่งออกของประเทศไทย และสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม

Advertisement

ส่วนปัจจัยบวก ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท, การส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม 2562 เพิ่มขึ้น 4.28% มูลค่าอยู่ที่ 21,204.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.67% มีมูลค่าอยู่ที่ 21,094.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 110.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 1.50% ต่อปี, ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากระดับ 30.793 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 เป็น 30.768 บาท/เหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 สะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา และการค้าชายแดนและผ่านแดน 7 เดือน ปี 2562 เพิ่มขึ้น 1.67 มีมูลค่าอยู่ที่ 806,232.63 ล้านบาท

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดในปัจจุบันและคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า ประจำเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง 47.3 จากระดับ 47.6 ในเดือนก่อนหน้า ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง, การเร่งโอนเงินบัตรสวัสดิการของรัฐบาลที่ให้เงินเพิ่มขึ้น 2 เดือน และนักท่องเที่ยวยังคงมีการขยายตัว

ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมทั้งการส่งออกที่อาจลดลงได้, ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชนในเมืองสูง และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้มีการชะลอการใช้จ่าย สิ่งที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ แก้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุน, เพิ่มการแข่งขันการค้าพัฒนาคุณภาพสินค้าและควบคุมราคาให้ไม่แพง และส่งเสริมเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ

Advertisement

ดัชนีความเชื่อมั่นในพื้นที่ภาคกลาง ลดลง 46.1 จาก 46.3 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่องโดยจ่ายเงินให้กับประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงส่งผลให้ต้นทุนลดลง ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ คือ สถานการณ์ในภาคเกษตรคาดว่าปริมาณน้ำสำหรับ การเกษตรน้อยกว่าปีที่ผ่านมา, เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในบางพื้นที่ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีความเชื่อมั่นในพื้นที่ภาคตะวันออก ลดลง 50.8 จาก 50.9 ปัจจัยบวก คือ ภาคอุตสาหกรรมเริ่มดีขึ้นการส่งเสริมจากภาครัฐ และมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาค, ภาคบริการมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง, นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล 3.16 แสนล้านบาท ด้านปัจจัยลบที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวลดลงในบางจังหวัดของภาคเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน, สินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกที่น้อยลง, ค่าครองชีพสูง และปัญหาหนี้สินในครัวเรือน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง 45.5 จาก 45.9 ซึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ พื้นที่เมืองขยายตัวจากโครงสร้างเศรษฐกิจการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น, ผู้ประกอบการในภาคบริการมีความพร้อมที่จะลงทุนมากขึ้นจากการขยายตัวในเขตเมือง ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ราคาข้าวเหนียวที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปริมาณข้าวเหนียวในตลาดมีน้อยส่งผลต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชน, สถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร, ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในอีกหลายจังหวัด และระดับรายได้จากภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับไม่สูงและภาระหนี้ครัวเรือน

ดัชนีความเชื่อมั่นในพื้นที่ภาคเหนือ ลดลง 46.6 จาก 46.8 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศและความเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงด้วยเหตุจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า และสภาพอากาศมีฝนตกหนักบางแห่ง และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และสิ่งที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ แก้ไขปัญหาความยากจน ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว, พัฒนาฟื้นด้านครัวเรือนเพิ่มรายได้และสนับสนุนเงินทุนพัฒนาธุรกิจ และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป

ดัชนีความเชื่อมั่นในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ เข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และมีมาตรการนำยางพารามาพัฒนาถนนทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ คือ บางจังหวัดมีการชะลอการลงทุนเนื่องจากกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และมูลค่าการค้าชายแดนมาเลเซียลดลง และสิ่งที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา, ควบคุมค่าครองชีพที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้สะดวกมากขึ้น

จากตัวเลขดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค ทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้า และการจ้างงานที่มีระดับต่ำกว่า 50 ขณะที่ภาคบริการยังคงทรงตัวที่ระดับ 50.2 ในส่วนของปัจจัยด้านบวก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท การส่งออกและนำเข้าของไทยเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ทำให้เกินดุลการค้าที่ 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการค้าชายแดนและผ่านแดน 7 เดือนแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้น 1.67% มีมูลค่า 8.06 แสนล้านบาท

สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาจากหอการค้าภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย การเร่งดำเนินโครงการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเร็ว, การเพิ่มมาตรการป้องกันสถานการณ์ภัยธรรมชาติ และแผนแก้ไขปัญหาอย่างรัดกุม, ภาครัฐควรส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพสามารถส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น, มาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจในการรักษาสภาพคล่อง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มความทันสมัย, มาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคไม่ให้แพงเกินไปและช่วยเหลือต้นทุนสินค้า ของผู้ผลิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและมาตรการดูแลและควบคุมต้นทุนวัตถุดิบให้ไม่แพงจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 จะมีโอกาสขยายตัวถึง 4% ได้ โดยที่การขยายตัวจะอยู่ในกรอบเบื้องต้นที่ 3.8-4.2% และคาดว่าจะผลักดันในเศรษฐกิจไทยในปีนี้เกิน 3% โดยโตประมาณ 3-3.2% ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้านโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเงินในการปล่อยสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้า รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐไม่รวดเร็วพอ ตลอดจนเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณทรุดตัวรุนแรง เศรษฐกิจไทยทั้งปีอาจจะโตต่ำกว่า 3% ได้ในปีนี้ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าเดือนตุลาคมนี้จะคลี่คลายลง และการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐเป็นหลักต่อไป

นอกจากนี้ มองว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรจะเป็นมาตรการที่ช่วยเติมเงินเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งคาดว่าวงเงินที่จะเติมเข้าไปมีมูลค่ากว่า 5-7 หมื่นล้านบาท พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้อย่างข้าวและยางพารา จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในประเทศระดับใกล้เคียงกับปกติ ถึงแม้ว่าเงินอาจจะถึงมือเกษตรกรไม่เท่ากันแต่มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อที่มากขึ้น หากมีการออกมาตรการอื่นๆ อาทิ การแจกเงินสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม หรือเร่งมาตรการชิมช้อปใช้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการคลายตัวมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลต่อไปว่า หลังจากนี้จะเริ่มออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในมาตรการไหนเพิ่มเติมอีกบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image