สกศ. ร่วมกับ สมาคมครูภูมิปัญญาไทย สนองพระราชดำริ “อพ.สธ.” ใช้ “ไร่คุณมน” สะท้อนหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง

      “การสร้างเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่น และสร้างจุดเด่นความแตกต่างของสินค้าเกษตรในพื้นที่” ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหนึ่งในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-3580) ที่รัฐบาลได้วางไว้ สำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21

      ตัวชี้วัดที่สามารถบ่งชี้ความสำเร็จของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้น ส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมให้ประชาชนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมา “สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)” ร่วมเป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (อพ.สธ.-สกศ.) เพื่อดำเนินงาน รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการฯ ตามแผนแม่บทของ อพ.สธ. ตั้งแต่ 1 ต.ค.2559 – 30 ก.ย.2564  ดังนั้นเพื่อร่วมสนองพระราชดำริฯ โดยการปลูกฝังค่านิยมการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมพันธุ์พืชท้องถิ่น สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากพืชอย่างคุ้มค่าด้วยการนำมาเพิ่มมูลค่าสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม สีเขียวโดยอาศัยภูมิปัญญาไทยดำเนินรอยตามแนวทางของศาสตร์พระราชา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงร่วมกับสมาคมครูภูมิปัญญาไทยและศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยไร่คุณมน จัดทำโครงการประชุมเสวนาเรื่อง การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น:ศูนย์ต้นแบบไร่คุณมน เพื่อร่วมสนองพระราชดำริฯ และร่วมสืบสานศาสตร์ภูมิปัญญาไทยตามบริบทของพื้นที่ขึ้น ณ ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยไร่คุณมนอ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ในวันที่  17 กันยายน 2562 โดยมี ดร. สุภัทร จำปาทอง  เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธาน มีเครือข่ายครูภูมิปัญญาไทย เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา ร่วมเรียนรู้กว่า 600 คน

สำหรับพิธีเปิดงานดังกล่าว สะท้อนถึงบรรยากาศอันแสนงดงามของการสืบสานประเพณีแห่ม้าเต้น หรือที่เรียกว่า “ม้าเต้นระบำ” ที่มักจัดในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี โดยจะมีม้าทั่วประเทศมารวมกันที่นี่จำนวนมาก ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ก็ได้รับเกียรติจาก “ ดร.สุภัทร จำปาทอง” เลขาธิการสภาการศึกษา มาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกับกล่าวเปิดงานใจความตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา สกศ. มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามพระราชดำริและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางพันธุกรรมพืชโดยการสกัดบทเรียนชีวิต “ครูภูมิปัญญาไทย” ให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต โดยยึดหลักอาชีพผูกพันอยู่กับการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาพรรณพืชอย่างหลากหลายมิติ ที่ก่อประโยชน์ทั้งด้านการเกษตร การประกอบอาชีพ การรักษาโรค รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งพัฒนาอาชีพ ซึ่งจะเห็นว่าสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามกรอบแผนแม่บทของ อพ.สธ. โดยกิจกรรมในไร่คุณมนที่จัดขึ้นครั้งนี้ ส่วนหนึ่งถือเป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์วัฒนธรรมในท้องถิ่น

Advertisement

      “จริงอยู่ที่แห่งนี้เป็นกาญจนบุรี แต่อาจมีทรัพยากรในท้องถิ่นอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น เรื่องการเพาะเห็ด สามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้ถ้าสนใจ เราจะเติมเวทีเช่นนี้เป็นพื้นฐานต่อไปเรื่อยๆ เรามีเครือข่ายภูมิปัญญาไทยหลายร้อยคน การกระจายองค์ความรู้ในรูปแบบอื่นเป็นสิ่งที่เราต้องคิดให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คาดหวังให้ครูได้เห็นกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย เพราะปัจจุบันกว่า 50-60% เป็นคอนเทนต์คลาสรูม อีก 40% เป็นเวลาว่างซึ่งเด็กสามารถจะใช้เรียนอย่างอื่นได้ โดยเด็กควรจะต้องได้เรียนรู้และเตรียมตัวสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต ครูต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้จักดูแลตนเองได้ในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ”

Advertisement

      สร้างเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นตามศาสตร์พระราชา

      ภายหลังจากการเปิดการงานโดยเลขาธิการสภาการศึกษาแล้ว วงเสวนาก็เริ่มขึ้นโดยมีวิทยากรมากประสบการณ์จากเครือข่ายภูมิปัญญาไทยและผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการสร้างเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นตามศาสตร์พระราชา โดย “ตรีวิทย์ วินิชสำเภาทิพย์” นักวิชาการ สำนักงาน กปร. ได้ให้มุมมองเรื่องหนึ่งว่า เป็นบทบาทของทุกคนที่จะต้องช่วยกันสร้างป่า และปกป้องรักษาพันธุกรรมพืช “1 โรงเรียน 1 ป่า” เมื่อได้ป่าก็ต้องปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยวันนี้โจทย์ที่ยังท้าทาย คือ ทำให้คนที่ยังไม่ทราบประโยชน์พืชพันธุ์ท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์ในปัจจัยพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่น และสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีเอกลักษณ์ได้ เช่นเดียวกับที่ “กมล เปี่ยมสมบูรณ์” อดีตอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า โรงเรียนควรมีป่าชุมชน หาก 1 โรงเรียนมี 1 ป่า จะช่วยเพิ่มผืนป่าจาก 37-39% ทั่วประเทศ เป็น 60-70% นอกจากนี้โรงเรียนควรจัดให้มีกิจกรรม เช่น การสำรวจพรรณไม้รอบโรงเรียนว่ามีพรรณไม้ใดบ้างที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ เป็นต้น ส่วนคนที่กำลังปลูกสร้างบ้านเรือนก็ควรปลูกสร้างต้นไม้ด้วยเช่นกัน โดยควรที่จะปลูกไม้มีค่า เพราะ “ปลูก” และ “ตัดทำประโยชน์” ได้ เช่น ไม้สัก ประดู่ ยางนา ชิงชัน เป็นต้น 

      ขณะที่ “บุญเลิศ ไทยทัตกุล” ครูภูมิปัญญารุ่น 3 ด้านเกษตรกรรม ได้แนะนำผู้ร่วมฟังเสวนาว่า ให้เพาะเลี้ยงเห็ดเสริมในสวน อย่างเห็ดโคน เห็ดเผาะ โดยเห็ดโคนสามารถกำหนดให้มาเกิดที่สวนของเราได้ด้วยวิธีการขุดรังปลวกใต้รากต้นไม้ที่พบเห็ดโคนบางส่วนย้ายมาฝังในสวนของเรา เพียงเท่านี้ก็จะมีเห็ดโคนเกิดขึ้นที่สวนของเราทุกปี ส่วนเห็ดเผาะซึ่งมักเกิดกับไม้เต็ง ไม้รัง ให้ขุดบริเวณที่มีเห็ดเผาะ ขุดลงไปจะเจอเม็ดดำๆ ให้เลือกเม็ดที่แก่แล้วนำมาผ่า ซึ่งจะได้ฝุ่นสีน้ำตาล ให้เอามาละลายน้ำและรดตามโคนต้นไม้ เชื้อเห็ดจะลงไปอาศัยกับรากต้นไม้และโตไปกับต้นไม้ ประมาณ 2 ปี ถึงจะเริ่มเก็บได้ จากนั้นก็จะเกิดเห็ดขึ้นที่ต้นไม้นั้นทุกๆ ปี 

      ส่วน “กฤษณ์ ฤกธิ์เดชา” นายกสมาคมครูภูมิปัญญาไทยและครูภูมิปัญญารุ่น 3 ด้านศิลปกรรม ก็ได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทุกคนต้องมี คือ ความคิดโดยอาศัย “5 ต้น” ต้นไม้ ต้นน้ำ ต้นทุน ต้นแบบ ต้นคิด กล่าวคือ ต้องรู้ประโยชน์ทุกส่วนของต้นไม้ตั้งแต่รากไปจนถึงใบ รู้จักรักษาและใช้อย่างปลอดภัย ทำเป็นแบบอย่าง เมื่อมีความรู้ก็ต้องขยัน และรู้จักมัธยัสถ์พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีโดยการสร้างวินัยการออม เท่านี้ก็สร้างสุขอย่างยั่งยืนได้

      ช่วยให้ชุมชนมีอาชีพ โดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่น

      “มนรัตน์ สารภาพ” ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไร่คุณมนและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร “ไร่คุณมน” ของ จ.กาญจนบุรี ในฐานะครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 3 ด้านโภชนาการ ของสกศ. เล่าว่า ไร่แห่งนี้มีมาตั้งแต่ปี 2538 ความตั้งใจแรกมาซื้อพื้นที่เพื่อทำธุรกิจเชิงเกษตร โดยระยะแรกทำสวนสักทอง และให้คนดูแลสวนปลูกถั่วขาย จากนั้นเริ่มปลูกต้นมะพร้าว ข้าวโพด สวนผัก ทำข้าวกระบอกไม้ไผ่ ทำเป็นระบบเครือข่ายขายส่งตลาด ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ขายไม่ได้ก็เอาที่เหลือมาแปรรูป เช่น นำข้าวโพดมาแปรรูปเป็นน้ำนมข้าวโพด ท็อฟฟี่นมข้าวโพด ไอศกรีมน้ำนมข้าวโพด เป็นต้น

      “เราใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เราใช้วัตถุดิบโดยไม่มีการทิ้ง เราพึ่งพาตนเอง พัฒนาภูมิปัญญาและให้ความรู้เรื่องของพืช พอได้เป็นครูภูมิปัญญาไทย นับตั้งแต่ปี 2546 ก็ได้ต่อยอดองค์ความรู้ขยายสู่ชุมชน จนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และร่วมกันแปรรูปสินค้าที่ล้นตลาด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด กล้วยน้ำว้า ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรมีราคาที่ขึ้นลงตลอดเวลา แต่เพราะเรารู้จักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโปรดักซ์ จึงอยู่ได้”

      ปัจจุบันที่แห่งนี้เปรียบเสมือนสถาบันการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย ให้เครือข่ายเกษตรกร ชาวบ้าน และนักวิชาการหลายแขนง เพื่อช่วยพัฒนาด้านการเกษตรกรให้ปลอดภัยต่อการบริโภคด้วยการแปรรูป สร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการนำ “ทรัพยากรในท้องถิ่น” มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การปลูกเก็บเกี่ยว แปรรูป ซึ่งการจัดงานครั้งนี้น้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมก็จะได้เรียนรู้กระบวนการสกัดน้ำมันงา ลูกประคบ กล้วยน้ำว้า/กล้วยหอมทอดสุญญากาศ กล้วยหอมสไลด์ ไอศกรีมน้ำนมข้าวโพด น้ำส้มควันไม้และเตาเผาถ่านอิวาเตะ ผ่านกิจกรรมตามฐานต่าง ๆ โดยทุกฐาน ได้สะท้อนให้น้องๆ เห็นว่า การประยุกต์ภูมิปัญญาในท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบ/พืชในชุมชน และใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็สามารถที่จะสร้างงานสร้างรายให้กับตัวเองและชุมชนได้ 

      ต่อยอดให้เกิดประโยชน์สุข

      การจัดการประชุมเสวนานี้มีฐานให้เรียนรู้หลากหลายฐาน เช่น การผลิตน้ำส้มควันไม้และเตาถ่านอิวาเตะ  การสกัดน้ำมันงา การห่อลูกประคบสมุนไพร การปั่นไอศกรีมน้ำนมข้าวโพด การแปรรูปเห็ด รวมถึงมีครูภูมิปัญญาไทยหลายท่านมาร่วมจัดฐานให้ความรู้ ได้แก่ นางมาลี แววเพ็ชร  ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 4 สอนทำขนมเกสรดอกลำเจียก นางคำพัน อ่อนอุทัย ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 7 สอนการใช้ทำน้ำผักสะทอนในการปรุงอาหารต่าง ๆ นางบังเอิญ ดีคำ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 7  ได้นำผ้าทอบ้านหนองปลิงมาแสดง เป็นต้น

      “อ.ดวงใจ มะลินิล” ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านวังดัง ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กล่าวภายหลังพานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ในไร่คุณมนว่า นักเรียนได้มาเห็นแบบอย่างที่จะนำไปทำเป็นอาชีพ อย่างไม้หอม ผ้ามัดย้อม ลูกประคบ น้ำนมข้าวโพด ขณะเดียวกันความรู้ต่างๆ ที่ได้จากการฟังเสวนา ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไม้มีค่า ปลูกพืชเสริม ปลูกเห็ด ก็จะนำไปปรับใช้ในสวนของโรงเรียน เพราะที่โรงเรียนมีการทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว มีการปลูกไม้สัก ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งต่อไปอาจจะมีการเพิ่มกิจกรรมสำรวจและทำจุดศึกษาข้อมูลพรรณไม้ชุมชน เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียนและคนในพื้นที่ด้วย

      เช่นเดียวกับ “อ.กิจรภัฏดล วงศ์แสง” ครูสอนการงานอาชีพโรงเรียนหนองกระทุ่ม ต.หนองกุ่ม ที่บอกว่า อยากนำเรื่องการปลูกเห็ด ไปต่อยอดทำที่โรงเรียน เพราะขณะนี้โรงเรียนได้ขยายพื้นที่ป่าให้กว้างขึ้น เดิมเป็นต้นไม้รกร้าง และได้แปลงมาเป็นสวนกล้วย น่าจะต้องปลูกพืชและปลูกไม้มีค่าเข้าไปเสริม รวมถึงอยากให้มีเตาเผาถ่านอิวาเตะเข้าไปเป็นอีกกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย เพราะอยากให้นักเรียนได้ทดลองทำน้ำส้มควันไม้ อยากให้เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ทำไปเรื่อยๆ เชื่อว่าจะเกิดองค์ความรู้ และมีทักษะ และเอาไปใช้ประยุกต์ใช้ต่อในชีวิตประจำวันได้ 

      ขณะที่มุมมองของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกกับทุกฐานการเรียนรู้และอยากให้มีโครงการที่ดีแบบนี้มาจัดอีก โดยหนึ่งในนั้นคือ ด.ญ.ณัฐกานต์ พลเสน และ ด.ญ.สุธิมา ศรีรักษา นักเรียน ชั้นป.5 จากโรงเรียนบ้านพุพรหม ต.หนองกุ่ม เผยความประทับใจว่า ได้พากันไปดูทุกฐาน ได้ชิมน้ำนมข้าวโพด ไอศกรีมน้ำนมข้าวโพด รู้สึกอร่อยและอยากทำเอง เพราะนอกจากอร่อยแล้วก็ดีต่อสุขภาพด้วย การทำผ้ามัดย้อมก็ทำไม่ยาก การทำกล้วยสไลด์ก็ยิ่งง่ายและกล้วยที่บ้านก็มีอยู่เยอะ สามารถทำขายเป็นรายได้เสริมได้ เรียกได้ว่าทุกฐานส่งเสริมการเรียนรู้แบบเศรษฐกิจพอเพียง

      สำคัญ คือ เรียนรู้อย่างสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น จัดการป่าชุมชนร่วมกันโดยที่คนในชุมชนเลือกใช้ประโยชน์จากป่า เมื่อ “ป่าดี” และ “ทรัพยากรทางพรรณพืชสมบูรณ์” คนก็อยู่ได้อย่างมีความสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image