สภาฯ นายจ้างประเมินตกงานจากโควิด-19 ถึง 6.5 ล้านคน

ตกงาน

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) ประเมินผลกระทบโควิด-19 ทำให้ตกงาน 6.5 ล้านคน กลุ่มท่องเที่ยวมากสุด รองลงมากลุ่มธุรกิจในห้าง ลุ้นการแพร่ระบาดจบใน 1 เดือน วอนรัฐอัดสภาพคล่องช่วยเอสเอ็มอี

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) กล่าวว่า จากไวรัสโควิด -19 เริ่มระบาดในไทยมานานกว่า 2 เดือน เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงต่อการจ้างงานในคาดว่าในเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน จะมีคนตกงานไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านคน จากปกติสถิติคนว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติสูงสุดไม่เกิน 5 แสนคน เนื่องจากเขานับจาก 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์คือ ถ้าทำงาน 1ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แม้ไม่ได้รับค่าจ้างก็ตาม ถือว่าไม่ตกงาน ซึ่งไทยเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมดังนั้นทำให้อัตราการว่างงานที่ภาครัฐประเมินอยู่ในระดับที่ต่ำ เพราะแค่ถือจอบไปนา ไปสวน ถือว่ามีงานทำแล้ว

“ตัวเลข 6.5 ล้านคนมาจาก เช่น  แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2.75 ล้านคน ลูกจ้างที่ถูกปิดกิจการโดยคำสั่งรัฐ เช่น ลูกจ้างในร้านค้า ร้านอาหาร ในห้าง ประมาณ 1 ล้านคน ร้านค้ารายย่อย 8.4 แสนคน แผงลอย 9 หมื่น ร้านนวดแผนโบราณ ร้านเสริมสวย 3.7 แสนคน ร้านอาหาร 2.1 แสนคน แรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ปิดชั่วคราวหลายแสนคน นอกจากนี้มีแรงงานเด็กจบใหม่ 5 แสนคนจบใหม่ คนตกงานสะสม 4 แสนคน”นายธนิต กล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ตัวเลขตกงานสูงขึ้นเรื่อยๆ คงต้องรอดูว่าไวรัสโควิด-19 จะจบอย่างไร หากสามารถจบได้เร็วภายใน 1 เดือนธุรกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ถ้าจบช้าลากยาวไปอีกหลายเดือน การฟื้นตัวจะลำบากมากขึ้น เพราะขณะนี้ภาคท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด คนไทยไม่เที่ยว ต่างชาติเข้ามาไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้ยาแรงในการควบคุมไวรัส การประกาศเคอร์ฟิว ต้องเข้มงวด เพราะไม่อย่างนั้นอุตสาหกรรมคงต้องปิดอีกหลายกลุ่ม จากขณะนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ของ  6 ค่ายรถยนต์ประกาศปิดตัว 1 เดือน ถ้าไวรัสยังไม่จบเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น คงจะปิดต่อเนื่องยาวกว่า 1 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และอะไหล่ชิ้นส่วนรถยต์ ต้องปิดตัวตามโรงงานผลิต ซึ่งตัวเลขงานอาจจะสูงกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้น

Advertisement

นายธนิต กล่าวว่า นายจ้างไม่อยากให้คนออก พยายามรักษาแรงงานไว้ หากเศรษกิจฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ แต่ดูแล้วไม่ง่าย เพราะการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก การส่งออก การท่องเที่ยวที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยกระทบหมด สหประชาชาติ(ยูเอ็น) ประกาศแล้วว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลก ถดถอย รุนแรง ต่ำที่สุดตั้งแต่เคยเป็นมาในอดีต

นายธนิต กล่าวว่า สิ่งสำคัญขณะนี้ของภาคธุรกิจคือสภาพคล่องผู้ประกอบการ การที่รัฐเตรียมออกมาตรการเยียวยารระยะที่ 3 วงเงิน 1.6-1.7 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเข้าช่วยดูแลประชาชนและธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมาตรการระยะที่ 1 และ 2 ใช้เงินรวมกัน 5.258 แสนล้านบาท มีสินเชื่อกว่า 2 แสนล้าน แต่ธุรกิจรายเล็กยังเข้าไม่ถึง ธนาคารนำเสนอให้แต่รายใหญ่ เพราะกลัวเรื่องหนี้เสีย

“แม้รัฐมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนไปก่อนหน้านี้จากธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาทดอกเบี้ย 2% ต่อปี ถูกกว่าที่ธุรกิจไปกู้แบงก์ต้องเสียดอกเบี้ย 7-8% ต่อปี แต่เงื่อนการปล่อยกู้ของธนาคารต่างๆ ยังมีเงื่อนไข เช่น ต้องมีผลประกอบการที่ดี มียอดขาย ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีรายเล็กยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนเกณฑ์เงื่อนไขการกู้เงิน รวมถึงต้องบรรษัทสินเชื่อขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(บสย.) เข้ามาเพิ่มวงเงินค้ำประกันเช่น 50% จากเดิมค้ำประกันไม่เกิน 30% เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้”นายธนิตกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image