‘ฐากร’กลั่นอักษร ‘สื่อสารผ่านสายลม’ เล่าเรื่องราว‘กสทช.’

‘ฐากร’กลั่นอักษร ‘สื่อสารผ่านสายลม’ เล่าเรื่องราว‘กสทช.’

14 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จะประชุมนัดแรก เพื่อเดินหน้าประเทศไทยให้ทันกับยุคดิจิทัล
เป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยที่ยกระดับการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

แต่กว่าจะมาถึง 5G ณ วันนี้ได้ หนทางขรุขระและเต็มไปด้วยดงหนาม รวมถึงการพัฒนากิจการอื่นๆ ทั้งการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่มีอุปสรรคปัญหามากมาย ต้องใช้วิธีการต่างๆ นานา กว่าจะแก้ไขให้ลุล่วง
นับเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าและน่าศึกษา

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะที่คลุกวงใน นำประสบการณ์มาบอกเล่าผ่านตัวอักษรในหนังสือชื่อ “สื่อสารผ่านสายลม” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

“ฐากร” เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของพ็อกเก็ตบุ๊กเรื่องนี้ว่า เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ต่างๆ ในขณะที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ตลอดเกือบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบโทรคมนาคมทั้ง 3G, 4G จนถึง 5G

Advertisement

ส่วนเรื่องโทรทัศน์ อย่างเช่นปัญหาทีวีดิจิทัล เรามีวิธีการจัดการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ผมถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดจากประสบการณ์จริง ทั้งในเชิงกลยุทธ์การแก้ปัญหา รวมถึงหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“หลายเรื่องผมทำงานเฉพาะตัว ทั้งการขอออกมาตรา 44 ในการเดินหน้าเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาอยู่ โดยมีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่ 3 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายเป็นการออกมาตรการไม่เก็บเงินกับทีวีดิจิทัล รวมถึงการช่วยค่าโครงข่ายในระยะเวลาที่เหลือ” ฐากรเล่าให้ฟังเป็นน้ำจิ้ม

อดีตเลขา กสทช.ยังบอกอีกว่า หนังสือเล่มนี้ผู้อ่านจะเห็นถึงขั้นตอน วิธีการแก้ปัญหาในเหตุการณ์ต่างๆ หลายเรื่องที่หลายคนไม่รู้ จึงนำมาแชร์ให้รับรู้กัน เช่น วิธีการประมูลคลื่นความถี่คืออะไร เมื่อมีปัญหา เรารับมือและแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

Advertisement

อย่างการขับเคลื่อน 5G แม้หลายฝ่ายมองว่าไทยยังไม่จำเป็นต้องรีบเดินหน้า 5G เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่เมื่อนำวิธีการและกลยุทธ์มาใช้อย่างถูกต้อง จนวันนี้ประเทศไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน เพราะเหตุใดเราจึงสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หนังสือเล่มนี้จะบอกให้ทราบ

“เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาจึงเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้ผมหลังจากหมดวาระในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ผมทุ่มเทเขียนหนังสือเล่มนี้โดยใช้เวลา 1 เดือนเต็ม จนเสร็จสมบูรณ์ มี 16 บท 175 หน้า กลั่นกรองมาจากประสบการณ์การทำงานกว่า 9 ปี เพื่อนำมาถ่ายทอดให้บุคลากร กสทช. รวมถึงประชาชนได้เห็นอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นเบื้องหลังของคนที่ทำงานจริง” อดีตเลขา กสทช.เปรย

“ฐากร” บอกอีกว่า หนังสือเล่มนี้พิมพ์เพียง 5,000 เล่มเท่านั้น เนื่องจากไม่ใช่พิมพ์เพื่อจำหน่ายแต่แจกฟรีให้กับประชาชน พร้อมมอบให้ กสทช. ผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อเป็นวิทยาการที่อาจนำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในการปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์สูงสุดในอนาคตต่อไป ฐากรเผยถึงวัตถุประสงค์

“ฐากร” บอก ในหนังสือเล่มนี้ บทที่อยากให้ทุกคนอ่าน คงจะเป็นตอนที่พูดถึงการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ซึ่งขณะนั้นมีเสียงส่วนหนึ่งตั้งคำถามเรื่องการออกมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงการช่วยเหลือเรื่องไม่มีค่าปรับคืนสัญญาในวันนั้น ไม่ได้ทำให้รายรับของรัฐลดลง หรือเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด

อีกบทที่ห้ามพลาด คือ “บทสุดท้าย” เป็นเรื่องที่ผมเคยจะยื่นเรื่องลาออกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิดจึงเลือกที่จะปฏิบัติงานต่อ และได้ทำเพิ่มอีก 4 โครงการพิเศษคือ

1.แบ่งเงินส่วนหนึ่งของสำนักงาน กสทช.จัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆ รวมกว่า 1,200 ล้านบาท ในการรับมือกับโควิด

2.นำเงินค่าปรับจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีปัญหาสัญญาณโทรศัพท์มือถือล่ม ไปช่วยโรงพยาบาลต่างๆ

3.เพิ่มอินเตอร์เน็ต 10 กิ๊ก ให้ประชาชนใช้งานฟรี

4.โทรฟรี 100 นาทีทุกเครือข่าย

“กว่า 1 เดือนสุดท้ายที่ยังเป็นเลขาธิการ กสทช. ทำให้ผมมีส่วนช่วยบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด” ฐากรบอกด้วยความอิ่มใจ

“ฐากร” ยังเล่าย้อนไปถึงความรู้สึกตั้งแต่วันแรกที่ทำงานใน กสทช.จนถึงวันอำลาเก้าอี้เลขา กสทช. ว่า ผมอยู่ที่นี่มานาน ร่วมต่อสู้กับองค์กรตั้งแต่วันที่ไม่มีใครรู้จัก จนวันนี้เป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาชนมากยิ่งขึ้น เมื่อวันสุดท้ายที่จะพ้นจากตำแหน่ง ผมรู้สึกใจหาย ยิ่งวันแรกที่พ้นตำแหน่งแล้ว ตื่นเช้ามาแล้วไม่ได้ไปทำงานเหมือนทุกวัน ผมรู้สึกเหมือนมีอะไรขาดหายไป

“ทุกวันนี้ผมยังตื่นเช้าเหมือนเคย ไปทำงานทุกวัน เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทอยู่เบื้องหลัง คอยให้คำแนะนำ เพื่อให้องค์กรเดินหน้าดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นความภาคภูมิใจของผม” อดีตเลขาฯ กสทช. เผยถึงความรู้สึก

อย่างไรก็ตาม แม้จะผลักดันงานต่างๆ ไปมากมาย แต่หลายเรื่องยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงต้องฝาก กสทช.ชุดใหม่รับช่วงต่อ อาทิ 1.เรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จัดระเบียบสายสื่อสาร ต้องรีบดำเนินการ 2.การขับเคลื่อน 5G ต้องเดินหน้าต่อยอดให้เร็ว 3.การประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงระหว่างไทยคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ 4.ทำอย่างไรที่จะให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นี่คือสิ่งที่อยากจะฝาก กสทช.ขับเคลื่อนโดยเร็ว

“ฐากร” ยังเสริมอีกว่า ปัจจุบันนอกจากทั่วโลกจะให้การยอมรับประเทศไทยเรื่องระบบสาธารณสุขแล้ว ยังยอมรับว่าระบบโทรคมนาคมของไทย ดีไม่แพ้ใครในโลกเช่นกัน

นี่คือจุดแข็งของไทย เป็นสิ่งที่เราไม่ควรรอช้าที่จะรีบเร่งพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำประเทศไทยให้เป็นฮับของ Work from Home และ Work from Thailand to The hold World หากเราทำประเทศของเราให้โดดเด่นในเรื่องนี้ ทุกคนอยากจะมาประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี ทุกคนอยากจะใช้ระบบโทรคมนาคมที่ดี เพราะฉะนั้นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงล้วนอยากให้พนักงานของพวกเขามาทำงานที่ประเทศไทย

“อีกวิธีที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้คือรัฐบาลออกนโยบายอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้พร้อมออกวีซ่า โดยช่วงกักตัว 14 วันเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยจะมีรายได้จากการอนุญาตให้ต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยเกิน 8 เดือน ไม่รวมการจับจ่ายใช้สอยด้านการท่องเที่ยว” อดีตเลขาฯ กสทช.แนะนำ

“ผมยังคงมุ่งมั่นทำงานผลักดันเกี่ยวกับระบบโทรคมนาคมอย่างจริงจังต่อไป มุ่งหวังให้ระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย ก้าวหน้าได้รับการยอมรับเหมือนอย่างประเทศมหาอำนาจอย่างจีน หรือสหรัฐ ผมเป็นนักบริหารความจริง ไม่ใช่นักบริหารความฝัน เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่ผมคิด จะต้องลงมือทำให้เป็นจริงทันที นี่คือสิ่งที่ผมยึดถือและนำมาใช้ต่อการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด” ฐากรสรุป

เป็นการเรียกน้ำย่อยชวนหาหนังสือ “สื่อสารผ่านสายลม” มาอ่าน เป็น “สายลม”ที่เต็มไปด้วยคลื่นความถี่ และเป็น “สายลม”ซึ่งเป็นชื่อซอย (พหลโยธิน 8) อันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน กสทช. ที่มีเรื่องราวน่าศึกษาและเรียนรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image