จุฬาฯ นำนวัตกรรมเด่นร่วมจัดแสดงในงาน  มติชนเฮลท์แคร์ 2020 : สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำนวัตกรรม มาร่วมจัดแสดงในงาน “มติชนเฮลท์แคร์ 2020” ซึ่งจัดภายใต้แนวคิด ”สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2563 เวลา 10.00-20.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมงาน “มติชนเฮลท์แคร์ 2020” ในธีม “CU Innovation” ด้วยแนวคิด Innovation For Society ช่วยวิกฤติชาติด้วยนวัตกรรม เนื่องจากต้องการให้ประชาชนไทยและประชาคมโลก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านนวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

โดยในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 6 ชิ้น เข้ามาโชว์ภายในงาน ได้แก่         

Advertisement
  1. Chula COVID-19 Strip Test โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพไบโอเทค คิดค้นชุดตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยี “Molecular pharming” ผลิตโปรตีนจากใบยาสูบเพื่อเป็นยา วัคซีน และโปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัสเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของชุดตรวจภูมิคุ้มกันของโควิด-19 ที่ใช้จับกับแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วย 
  2. MASK Shield Plus โดยบริษัท แนบโซลูท จำกัด สเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้า แก้ไขปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ให้ประชาชนสามารถหันมาใช้หน้ากากได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดปริมาณขยะจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดการสูง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากขยะ
  3. CU-RoboCovid หุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ที่ช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายของชุด PPE และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผลงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid ที่มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ราคาถูก และผลิตได้เร็ว ทันต่อความต้องการใช้งาน โดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในประเทศ ประกอบไปด้วย “ปิ่นโต” หุ่นยนต์ส่งของ และเวชภัณฑ์แบบแมนนวล และ “กระจก” หุ่นยนต์สื่อสารทางไกลในรูปแบบแท็บเล็ต ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเครื่องทำจากวัสดุ Military Grade สามารถใช้แอลกอฮอล์เช็ดล้างได้ กันน้ำ กันกระแทกได้
  4. NINJA ROBOT หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์ Regional Center of Robotic Technology เดิมมีจุดประสงค์แรกเริ่มคือรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางศูนย์ฯ ได้นำหุ่นยนต์บางส่วนมาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสในโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย เช่น ใช้ในการสื่อสารทางไกลระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อไวรัส ใช้ตรวจวัด บันทึกสุขภาพ และประเมินสุขภาพเบื้องต้น โดยมีอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย คลื่นหัวใจ และออกซิเจนในเลือด ติดกับหุ่นยนต์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งเก็บไว้ในระบบคลาวด์ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น
  5. AUTONOMOUS ROBOTS นวัตกรรมจากศูนย์ Regional Center of Robotic Technology นวัตกรรมทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นหุ่นยนต์ฟื้นฟูการใช้กล้ามเนื้อและข้อต่อของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบเกมและโปรแกรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ 
  6. Tann D (ทานน์ดี) นวัตกรรมเส้นโปรตีนคุณภาพดีพร้อมทานผลิตจากไข่ขาว 100% ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการโปรตีน ผู้คุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย สร้างกล้ามเนื้อ และเด็กที่กำลังเจริญเติบโต 

“Innovation ที่เกิดขึ้นเป็นการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรภาคเอกชนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณาจารย์จากจุฬาฯ นำความรู้ สร้างความรู้ และมีภาคเอกชนมาช่วยผลิตและนำออกสู่ตลาด มีการพัฒนา CU Innovation Hub เป็นแพลตฟอร์มที่บ่มเพราะเรื่องนวัตกรรมในจุฬาฯ นอกจากนี้ยังมี Siam Innovation District เป็นแพลตฟอร์มเปิดให้กับเยาวชนคนไทย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษาไทย คนไทยโดยทั่วไปที่มีความคิดดี ๆ มีไอเดียดี ๆ มาพบกับพาร์ทเนอร์ภาคเอกชนที่มีความสามารถในการผลิต สามารถนำความคิดมาร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเพื่อออกสู่ตลาด”อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กล่าวว่า โดยแนวคิด Innovation For Society ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้พัฒนานวัตกรรม  เปิดตลาดให้คนไทยได้ใช้นวัตกรรม เมื่อมีคนใช้ มูลค่าของนวัตกรรมจะเกิดขึ้น ตลาดด้านนวัตกรรมจะเกิดขึ้น  มูลค่าของนวัตกรรมก็จะยิ่งสูงขึ้น สิ่งที่จุฬาฯ คาดหวังคือให้มีคนใช้นวัตกรรมเป็นจำนวนมาก สามารถพัฒนาคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ แต่ราคาเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้ตั้ง CU Enterprise เพื่อที่จะได้มีการระดมทุน เงินทุนไปลงทุนกับงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้งานนวัตกรรมสามารถพัฒนาไปได้รวดเร็ว นอกเหนือจากกลไกของภาครัฐ 

“วันนี้ CU Innovation Hub และ Siam Innovation District มีสตาร์ทอัพกว่า 100 บริษัท มีนวัตกรรมมากมายที่อยู่ในขั้นตอนการทำงาน และกำลังจะทยอยออกมาสู่สังคม ทั้งนี้นวัตกรรมเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะต่าง ๆ คณาจารย์ภายในจุฬาฯ เช่น แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น เนื่องจากความรู้จากแขนงเดียวตอบโจทย์ไม่ได้ ต้องมีการผสมผสานของความรู้ร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จุฬาฯ เท่านั้น แต่ก็อยากจะเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทำได้ด้วย” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว 

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้ายว่า  ถ้าเราร่วมมือกันจับมือกันพัฒนา ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ลดการกีดกันกันเอง จะทำให้ผลผลิตนวัตกรรมจากประเทศไทยออกไปขยายขอบเขตจากเมืองไทย ขยายออกไปนอกประเทศได้รวดเร็วขึ้น

โดยทุกท่านสามารถเข้ามาชมงานนวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ภายในงาน Healthcare 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ ครบจบทุกเรื่องสุขภาพในงานเดียว พร้อมมาตรการ Clean & Care ร่วมงานได้ปลอดภัย พบกันตั้งแต่วันนี้ถึง  6 กันยายน 2563 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เวลา 10.00 – 20.00 น. เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 และอย่าลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนมารับสิทธิ์ตรวจร่างกายฟรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image