มหิดลพร้อมสู้ภัยโควิด-19 เปิดตัว “เอไอ-อิมมูไนเซอร์” หุ่นยนต์พัฒนาวัคซีนอัจฉริยะ ในงาน ‘Healthcare 2020’

“วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” สิ่งสำคัญที่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนากันอยู่ตอนนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ โดยประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีน หรือนวัตกรรมที่เสริมสร้างการทำงานของวัคซีนก็ตามซึ่งล่าสุดทีมพัฒนาวัคซีนจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดตัว “หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)”นวัตกรรมทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีนขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อเร่งสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาวัคซีนของไทยสู่ระดับโลก รวมถึงผลักดันการพัฒนาวัคซีนของศูนย์วิจัยวัคซีนต่าง ๆ ให้สำเร็จอย่างรวดเร็วและปลอดภัยสูงสุด

         ผศ.ดร.จำรัส พร้อมมาศ ที่ปรึกษาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญในนานาประเทศคาดการณ์กันว่า มนุษย์เราจะสามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกขึ้นมาได้สำเร็จภายในระยะเวลา 12-18 เดือน นับจากที่ทางการจีนเผยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสออกมา ถือเป็นการร่นเวลาพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเร็วที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา ดังนั้นหากมีนวัตกรรมเทคโนโลยีมาทำงานทดแทนมนุษย์ ก็จะทำให้การพัฒนาวัคซีนก้าวสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น จึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ในการคิดค้นเอไอ อิมมูไนเซอร์ ขึ้น ซึ่งเป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการลบล้างฤทธิ์ของเชื้อไวรัส เพื่อยกระดับขั้นตอนการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนของไทยด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอ โดยนำกระบวนการทำงานเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้ ทำให้ช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อนและเสี่ยงอันตรายของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานได้กว่า 30% และสามารถทดแทนแรงงานบุคลากรที่ขาดแคลนในกระบวนการทดสอบในห้องวิจัยได้กว่า 50%

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า หุ่นยนต์เอไอ – อิมมูไนเซอร์ เป็นหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพสูง ชนิด 6 แกน และมี 2 แขน สามารถปฏิบัติการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการลบล้างฤทธิ์ของไวรัส ที่เรียกว่า Neutralization Test ทดแทนมนุษย์ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การนำเพลทเลี้ยงเซลล์ที่บรรจุเซลล์เพาะเลี้ยงเข้าระบบ, ช่วยระบบติดฉลากบนเพลท, ปฏิบัติการเจือจาง (Dilute) ซีรั่มตัวอย่างที่มีแอนติบอดี(Antibody) ในหลอดทดลองด้วยตัวทำละลายในปริมาณตามต้องการ, นำซีรั่มที่เจือจางแล้วตามกำหนดผสมกับตัวอย่างไวรัส, ดูดน้ำเลี้ยงเซลล์, นำตัวอย่างที่ผสมเข้าสู่เซลล์เพาะเลี้ยงแล้ววางบนเครื่องเขย่า, เติมอาหารเลี้ยงเซลล์ลักษณะกึ่งแข็ง, บ่มในอุณหภูมิและระยะเวลาที่กำหนด, เทอาหารเลี้ยงเซลล์ทิ้งและฆ่าเชื้อ, ถ่ายภาพและประมวลผลโดยการอ่านจำนวนไวรัสพลาค (plaque) ที่ปรากฏขึ้น และวิเคราะห์ผลทั้งระบบด้วยเอไอ

ทางด้าน ศ.ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และรักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนถือเป็นห้องปฏิบัติการที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตประชาชนและมวลมนุษย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายแรง เช่น วิกฤติการณ์ไวรัส SARS-CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งขณะนี้นักวิจัยนานาประเทศกำลังเร่งคิดค้นพัฒนาวัคซีน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยนักวิจัยด้านวัคซีนจะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการใช้งาน จึงอาจก่อให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้าและคลาดเคลื่อนได้ การใช้หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยในวิถีใหม่สำหรับป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญหลายชนิด ให้ประสบความสำเร็จได้เร็วและปลอดภัยมากขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ หุ่นยนต์มีคุณสมบัติพิเศษ คือ วิเคราะห์ภาพถ่ายเพลทเพาะเชื้อตรวจนับจำนวนและขนาดพลาคที่ปรากฏขึ้นบนเพลท ได้คราวละมาก ๆ ในเวลาอันสั้น ลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์สามารถรายงานผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันได้รวดเร็วและแม่นยำ ตอบรับกับสถานการณ์การระบาดของโรค ช่วยลดข้อผิดพลาดและความซ้ำซ้อนจากแรงงานคน ทำการประมวลผลข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องต่ออินเอร์เน็ต เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ถูกออกแบบให้เป็นระบบปิดในการปฏิบัติการด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน ช่วยลดตวามเสี่ยงจากการติดเชื้อ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภารวมถึงสามารถทำงานอัตโนมัติได้ตลอดทั้งวัน หรือตั้งค่าให้ทำงานตามตารางเวลาที่กำหนดได้ด้วย

เอไอ – อิมมูไนเซอร์ นับเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานข้อมูลด้านไวรัสและภูมิคุ้มกันของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สามารถเป็นกำลังสำคัญให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ยกระดับ เพิ่มศักยภาพด้านการพัฒนาวัคซีนประเทศไทยได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดสตาร์ทอัพและการจ้างงานของกลุ่มนักประดิษฐ์ด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และลดการนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยี และซอฟท์แวร์จากต่างประเทศได้ด้วย

Advertisement

มารู้จักหุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)”แบบใกล้ชิด ในงาน Healthcare 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ ครบจบทุกเรื่องสุขภาพในงานเดียว พร้อมมาตรการ Clean & Care ร่วมงานได้ปลอดภัย พบกันวันนี้ถึง  6 กันยายน 2563 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เวลา 10.00 20.00 น. เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 และอย่าลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนมารับสิทธิ์ตรวจร่างกายฟรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image