‘ทำดีเริ่มที่เรา’ เปิดใจนักเรียนทุนชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า จากคนผู้รับสู่ผู้ให้ สานใจ สานพลัง สร้างสรรค์สังคม

“เราเชื่อว่า การให้การศึกษา คือการมอบโอกาสให้ทั้งชีวิต  สร้างคนคุณภาพ ที่มีคุณค่าต่อตัวเอง สังคม และประเทศ “

19 ปีผ่านไป  จากก้าวแรกจนวันนี้ คำกล่าวนี้ยังคงสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อสังคมของโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ที่มีความตั้งใจทำความดีเพื่อสังคมโดยการมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทยทั่วประเทศ 

โดยหลักในการคัดเลือกนักเรียนทุนของโครงการทุนการศึกษาฯ จะไม่ได้มุ่งเน้นการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เรียนดี เรียนเก่ง เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังพิจารณาถึงพฤติกรรม คุณธรรมประจำใจ 

ซึ่งสิ่งเหล่านื้ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญให้กับชีวิตของเยาวชน ได้นำไปใช้ในชีวิต และเมื่อสำเร็จการศึกษายังสามารถนำความรู้ความสามารถที่มีมาพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะการพัฒนาบ้านเกิดของตนเองพร้อมๆ กันไปด้วย 

Advertisement

ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาโครงการทุนการศึกษาบริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ได้จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ รวมนักเรียนทุนหลายร้อยคน จากทั้งที่สำเร็จการศึกษาในปี 2560-2562, ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปี 2544, และนักเรียนทุนที่กำลังศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฟังแรงบันดาลใจตอบแทนประเทศในอนาคต 

จากผู้รับสู่แพทย์อาสาผู้อุทิศเพื่อผู้อื่น

‘แพทย์หญิงชมพูนุท ศรีสุขุมชัย’ แพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่น ตัวแทนศิษย์เก่านักเรียนทุนกรุงไทยการไฟฟ้า ปี 2545 กล่าวว่า 

Advertisement

“นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ไ ด้รับทุนจากกรุงไทยการไฟฟ้า ทำให้ตนเองมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

ซึ่งเหตุผลที่เลือกเรียนคณะแพทย์เฉพาะทาง เพราะตนเองเห็นปัญหาว่าหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ และในฐานะนักเรียนทุนที่ได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอด ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษามีอาชีพแล้ว ให้ตอบแทนประเทศ ปัจจุบันตนมักจะออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และหน่วยแพทย์อาสา ทำงานด้านจิตอาสา โดยมุ่งมั่นทำหน้าที่ของแพทย์เพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่นต่อไป”

แพทย์หญิงชมพูนุท ศรีสุขุมชัย

ยึดหลักจรรยาบรรณแพทย์เพื่อผลประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด

ด้าน ‘ฎิษยณัฐิ สกุลมา’ นักรังสีการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชันแนล ศิษย์เก่านักเรียนทุนฯ เล่าว่า ตนเองได้รับทุนครั้งแรกเมื่อปี 2549 ซึ่งถือเป็นรอยต่อของชีวิตเนื่องจากคุณแม่ซึ่งเลี้ยงดูเพียงลำพังป่วยเป็นมะเร็ง โอกาสในการศึกษาต่อจึงเกือบจะเป็นศูนย์

“ผมต้องขอขอบคุณกรุงไทยการไฟฟ้าที่ให้โอกาสได้เรียนต่อตอนนั้นชีวิตมืดมนจริงๆ พอได้ทุนแล้วด้วยความอยากรักษาคุณแม่ ผมจึงเลือกเรียนสาขารังสีเทคนิค ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

มากไปกว่านั้นโครงการทุนสอนให้ผมรู้จักการ‘ให้’ทำให้หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วผมก็อยากรักษาคนไข้ทุกคนให้เหมือนกับรักษาคุณแม่ของผม แค่คนไข้ยิ้มได้ หายป่วย ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

‘ฎิษยณัฐิ’ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกคนสามารถให้และทำเพื่อสังคมได้เสมอ เพียงมองรอบๆ ตัว แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา บางครั้งมันอาจเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับผู้อื่นก็ได้

ฎิษยณัฐิ สกุลมา

ใช้ความรู้ด้านการวิจัยพันธ์พืช สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศ

ขณะที่ ‘สุนิศา สุเนต’ ผู้ช่วยนักวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี พูดถึงหลักในการใช้ชีวิตของตนเองว่า

“ที่ผ่านมาตนเองเป็นเด็กต่างจังหวัด ครอบครัวป็นชาวนาจึงรู้ความยากลำบากของชาวนาและเกษตรกรดี ยังจำได้ว่าวันที่ตนเองได้ทุนฯ พ่อแม่ดีใจแค่ไหนที่ลูกสาวจะได้เรียนหนังสือ”

และด้วยความที่เธอเป็นลูกชาวนาที่โตมากับชีวิตที่ต้องฝากไว้กับกับดิน กับฟ้า เธอจึงคิดอยู่เสมอว่าหากได้เรียนต่อจะเลือกอาชีพที่ช่วยรักษาและพัฒาข้าวไทย ซึ่งทุกวันนี้สามารถทำตามความฝันได้ เพราะได้รับโอกาสจากทุนกรุงไทยการไฟฟ้า จนสามารถคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สุนิศา สุเนตร

สิ่งเล็กๆ ที่แสนยิ่งใหญ่

สำหรับ ‘กัญจน์ตินันท์ แก้วประดับ’ นักกีฬาทีมชาติรักบี้ ตัวแทนนักเรียนทุนกรุงไทยการไฟฟ้า ปี  2553 กล่าวว่าที่ผ่านมาต้องหาเงินเรียนเองตั้งแต่ชั้น ม.1 ชีวิตไม่เคยคิดว่าจะได้เรียนถึงมหาวิทยาลัย 

ปัจจุบัน ‘กัญจน์ตินันท์’ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธนบุรี 

สำหรับแนวคิดเรื่องการตอบแทนสังคม เขากล่าวว่า

ทุกคนมีหนทางเป็นของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาทีมชาติแบบตน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนยิ่งใหญ่ ทุกคนต่างมีคุณค่าของตนเอง  ขอเพียงแค่คุณเป็นคนดี มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำดี มุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมของเราดีขึ้น เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้ตอบแทนชาติแล้ว”

“เราไม่จำเป็นต้องทำแต่สิ่งยิ่งใหญ่ แต่เราสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำสิ่งเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมรอบข้างของเรา”

กัญจน์ตินันท์ แก้วประดับ

ชีวิตที่ได้รับโอกาส  สู่แรงบันดาลใจจิตสาธารณะ

ส่วน ‘อนุชิต วงษ์แก้ว’  นักศึกกชั้น ปวส.2 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม วิทยาลัยสารพัดช่างกาญจนบุรี  นายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย  เล่าให้ฟังว่า ตนเองได้แนวคิดการเป็นผู้นำที่ดีจากโครงการทุนการศึกษาฯทั้งเรื่องทัศนคติ การวางแผน การทำงานต่างๆ และการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งเขาได้นำตัวอย่างนี้ไปใช้ในบทบาทนายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทยที่ได้รับ

‘อนุชิต’ กล่าวเสริมว่า ตนเองมีความเชื่อว่า “ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกกว่าคำสอน”

อนุชิต วงษ์แก้ว

ตอบแทนสังคมด้วยงานจิตอาสา

สอดคล้องกับ ‘เอนก บุญมาวงศ์’ ศิษย์เก่านักเรียนทุนรุ่น  2545 ที่เชื่อเรื่องการทำดีผ่านกิจกรรมอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทน โดยหลังจากที่จบจาก คณะอุตสาหกรรม วิทยาลัยการอาชีพเถิน จังหวัดลำปาง ‘เอนก’ ใช้เวลาว่างหลังจากงานประจำเป็นจิตอาสาประจำชุมชน

“ตั้งแต่สมัยเรียนทุกคนในชุมชนจะรู้ดีว่าผมทำงานด้านจิตอาสาต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้จะเป็นงานด้านสาธารณะต่างๆ ตั้งแต่งานเล็กงานน้อย ไปจนถึงงานใหญ่

ยิ่งพอได้มารับทุนจากชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า ยิ่งได้มาเรียนรู้เรื่องการทำความดีเพื่อตแบแทนสังคม ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาถูกต้อง”

‘เอนก’ กล่าว่า ตนเองดีใจและภูมิใจมากที่ได้เป็นนักเรียนทุนกรุงไทยการไฟฟ้า ได้เรียนสายอาชีพและนำสิ่งที่ตัวเองรักมาช่วยสังคมและผู้อื่นได้

เอนก บุญมาวงศ์

เชื่อในพลังด้านบวกและมุ่งมั่นในเส้นทางที่ตั้งใจ 

ฟาก ‘มณฑิรา ชินโซ  นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนคราชสีมา   กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะเดินตามความฝันว่า  

“ไม่เคยลืมคำสอนของผู้ให้ทุนที่เป็นพลังด้านบวกสอนให้เรารู้จักการเป็นผู้ให้ในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ ตอนนี้ตัวเองเป็นครูฝึกสอน เริ่มเข้าใจความรู้สึกของผู้ให้ทุนแล้วว่า เวลาที่เราอยากให้คนอื่นได้รับโอกาสดีๆ เป็นอย่างไร

  ตั้งเป้าว่าจะนำโอกาสที่ตนเองเคยได้รับ ไปต่อยอดส่งเสริมให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้มีโอกาสดีๆ และยังผลักดันให้เราเป็นคนมีความเชื่อมั่น กล้าแสดงออก กล้าที่จะเปิดประสบการณ์ตัวเองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เช่น การก้าวสู่เวทีมิสแกรนด์ การประกวดที่ไม่ใช่แค่ต้องการคนสวย แต่ต้องการผู้หญิงที่มีความฉลาดและมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวแทนผู้หญิงไทย เป็นตัวแทนประเทศ”   

มณฑิรา ชินโซ

บ่มเพาะภูมิคุ้มกันด้วยความดี

มาถึง ‘ชลาวุธ มูลสุวรรณ’ ศิษย์เก่านักเรียนทุนกรุงไทยการไฟฟ้า ปี 2553 เล่าว่า ตนเองได้รับทุนตั้งแต่ระดับมัธยมเรื่อยมาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยพะเยา สาขาสัตวศาสตร์  เขากล่าวว่าทุนการไฟฟ้าเปรียบเสมือนประตูข้ามมิติ เปลี่ยนให้ตนเองเป็นคนที่ดีกว่าเดิมและพร้อมจะตอบแทนสังคมในทุกโอกาสที่มี

“ผมถือว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้รับทุนการศึกษาจากกรุงไทยการไฟฟ้าฯ โดยเฉพาะกิจกรรมต่างๆ ของโครงการที่ผมได้เข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมในแต่ละปีจะช่วยบ่มเพาะผมให้มีภูมิคุ้มกัน 

เปรียบเหมือนกะหล่ำปลีที่มีใบหุ้มหนาขึ้นที่ละชั้น ใบยิ่งหนา ประสบการณ์ยิ่งเยอะ ยิ่งแข็งแกร่งและพร้อมจะเติบโตต่อไป”

ชลาวุธ มูลสุวรรณ

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวบางส่วนจากตัวแทนนักเรียนทุนและศิษย์เก่านักเรียนทุนกรุงไทยการไฟฟ้า     ซึ่งในอนาคต ยังคงมีกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชนไทยอีกมาก  ร่วมติดตามกิจกรรมของโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด และเรื่องราวของตัวอย่างเด็กไทยที่ประสบความสำเร็จและได้รับโอกาสจนสำเร็จการศึกษา สามารถมีอาชีพที่มั่นคง และกลายเป็นบุคคลต้นแบบในวิชาชีพต่างๆ ในแคมเปญ 19 ปี 19 พลังความดี ตอบแทนสังคม ของนักเรียนทุนชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า ได้ที่แฟนเพจ โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด https://www.facebook.com/ThaicityScholarship

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image