จากผังเมืองสู่ผังเขต: เรียนรู้จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดในกทม.

เข้าปลายเดือนมีนาคมมาถึงต้นเมษายน 2564 โควิดระลอกที่ 3 ก็เริ่มแพร่กระจายอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นที่ยืนยันแล้วว่ามาจากบริเวณย่านทองหล่อ โดยเฉพาะสถานบริการในบริเวณนั้น จากนั้นก็กระจายออกไปหลายจังหวัด

ข้อค้นพบและข้อสันนิษฐานที่ตามมามีอีกสองเรื่อง คือ ไวรัสรอบนี้เป็นสายพันธุ์จากอังกฤษ (ที่ส่งออกทั้งไวรัสและวัคซีน) และคาดว่าน่าจะข้ามแดนมาจากกัมพูชา (ซึ่งประการหลังนี้ถือเป็นข้อสมมุติฐาน ด้วยว่าช่วงนี้ก้อระบาดหนักเหมือนกัน)

จะพบว่าในวันนี้อำนาจรัฐในการควบคุมความจริงและการตั้งคำถามเรื่องโควิดได้อ่อนแอลงไปมาก การพยายามไม่นับรอบการระบาดของโควิดว่าเป็นรอบที่สาม (ไม่ว่าจะเรียกว่าระบาดใหม่ หรือ ระบาดในเดือนเมษายน) เหมือนสมัยรอบที่สองที่พยายามเรียกว่าการระบาดใหม่นั้นดูไม่ค่อยมีผลอะไร ประชาชนก็เรียกมันว่ารอบสามอยู่ดี

ในแง่ของพื้นที่เอง จะพบว่าโควิดในประเทศไทยนำเข้ามาจากทุกพรมแดนแล้ว ในครั้งแรกมาจากสนามบินเข้ามาใจกลางกรุงเทพผ่านนักท่องเที่ยว และมาจากนักแสวงบุญจากชายแดนใต้

Advertisement

ขณะที่รอบสองนั้นมาจากฝั่งพม่า กระจายจากชายแดนทางเหนือ ทางตะวันตก เข้าสู่ตลาดมหาชัย และ บ่อนในภาคตะวันออก

ส่วนรอบที่สามสันนิษฐานว่ามาจากฝั่งกัมพูชา ข้ามแดนมาสู่ใจกลางกรุงในย่านสถานบันเทิง

พึงสังเกตว่าในรอบที่สองและสามนั้น ยังหาผู้ติดเชื่อและผู้แพร่เชื้อรายแรก (patient zero) ไม่เจอ ด้วยว่าลักษณะการแพร่ระบาดจากพรมแดนนั้นมีลักษณะที่ลื่นไหลกว่า

Advertisement

การระบาดของโควิดในรอบนี้ในด้านหนึ่งจะมีความโกรธเกรี้ยวจากสังคมอยู่มาก เนื่องจากมีระดับรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเที่ยวเฉยๆคงไม่มีใครว่า เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว

แต่มันไปเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของรูปแบบสถานบริการที่ไปเที่ยว (ซึ่งก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าตกลงไปหรือไม่) การไม่ยอมเปิดเผยไทม์ไลน์ รูปแบบการเที่ยวที่มีการรายงานว่าไปพบกับใครบ้างและมีนายตำรวจระดับสูงของพื้นที่เข้าไปดูแลด้วย รวมไปถึงรายงานข่าวว่ารัฐมนตรีที่ติดเชื้อนั้นได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังติด

ข้อสงสัยทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีนก็เลยยิ่งตามมา มิพักต้องกล่าวถึงระบบการบริหารจัดการวัคซีนที่ยังล่าช้า และ ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะมีสิทธิฉีดในลำดับเท่าไหร่

ส่วนที่หนักที่สุดก็คือแรงกดดันที่ถาโถมไปสู่ตัวนายกรัฐมนตรี และ ระบบการบริหารสถานการณ์ของ ศบค. ที่มักชอบใช้ภาษาทางศีลธรรมและการพร่ำสอนประชาชนทั้งที่ไม่ว่าจะระลอกไหนที่ติดในบ้านเรามันเกี่ยวเนื่องกับความย่อหย่อนไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเรื่องสนามมวย การบังคับใช้กฏหมายตรวจคนเข้าเมืองและชายแดน รวมไปจนถึงการบริหารจัดการกิจการสถานบันเทิง

ในอีกด้านหนึ่งกับสถานการณ์โควิดระลองสาม บางคนอาจจะพยายามมีอารมณ์ขัน มองว่าการติดในรอบนี้ดูจะเป็นเรื่องของไฮโซตลาดบน มากกว่ารอบที่ผ่านๆมา เพราะสถานที่ที่เชื่อว่าแพร่กระจายเชื้อนั้นเป็นสถานที่บันเทิงราคาแพง

เมื่อพูดถึงเรื่องการติดเชื้อรอบที่สามนี้ ทำให้เราได้ยินคำว่า “คลัสเตอร์ทองหล่อ” อย่างชัดเจนขึ้น และเอาจริงทองหล่อนั้นก็เป็นหนึ่งในคลัสเตอร์ของรอบที่หนึ่งมาก่อน เมื่อกลางเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว ซึ่งมีการพบการติดเชื้อ 11 คน เป็นชาย 5 หญิง 6 ติดจากปาร์ตี้ร่วมกับชาวฮ่องกง จากการกินเหล้าแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่ร่วมมวน แต่ในรอบนั้นไม่มีการติดเชื้อต่อ จึงไม่ถือว่าเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” นั้นมีอะไรที่ควรพิจารณามากกว่าเรื่องของการเป็นแหล่งบันเทิง/แหล่ง “อโคจร” ตามที่ผู้นำประเทศกล่าวถึงไหม? และถ้าเราจะพูดถึง new normal หรือชีวิตวิถีใหม่ เราเรียนรู้ปัญหาของเมืองในชีวิตวิถีใหม่ผ่านการเข้าใจย่านทองหล่อได้อย่างไร?

เมื่อเราพิจารณาถึง “ย่านทองหล่อ” สิ่งที่ต้องย้ำให้เห็นก็คือย่านทองหล่อของคนในวันนี้ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นหนึ่งในผู้ติดและผู้แพร่ในรอบนี้กับคนรุ่นครึ่งศตวรรษอย่างผมและท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะไม่ค่อยเหมือนกัน

ทองหล่อสมั้ยนี้เป็นย่านบันเทิงและย่านที่พักอาศัยราคาแพง แต่สมัยที่ผมเด็กๆย่านทองหล่อนี่เป็นที่พักอาศัยแบบที่เงียบๆแต่ก็มีอะไรที่ขัดกับที่พักอาศัยทั่วๆไปอยู่มาก

ในสมัยนั้นทองหล่อเป็นแค่ซอยหรือย่ายที่พักอาศัย ไม่ใช่ถนนหรือย่านบัยเทิงแบบที่เราเข้าใจในวันนี้ ทองหล่ออยู่ในพื้นที่ที่อิงกับซอยเอกมัย เชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิทซึ่งเป้นถนนหลัก และอาศัยซอยเอกมัยในการเชื่อมต่อกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ด้วยข้อจำกัดที่ซอยทองหล่อไม่ได้ทะลุออกถนนเพชรบุรีตัดใหม่ได้เอง (ต้องไปเลี้ยวออกตรงแถวโรงงานน้ำดื่มโพลารีสท้ายซอย ซึ่งมืด) ซอยทองหล่อจึงเป็นซอยที่เงียบสงบ ร่มรื่น หน้าอยู่ นั่งสองแถวสีแดงจากต้นซอยมาท้ายซอย อาจจะข้ามเรือ/แพมาฝั่งเพชรบุรีตัดใหม่ได้ ไม่พลุกพล่านเหมือนซอยเอกมัย ที่แคบแต่รถติดมาตลอด (แม้ว่าจะมีร้านเนื้อตุ๋นแพะตุ๋นเจ้าดังอยู่ในซอยก็ตาม) แต่กระนั้นก็ตามท้ายซอยทองหล่อก็ไม่เปลี่ยว เพราะมีทั้งโรงพยาบาลและโรงพักใหญ่

ในอีกด้านหนึ่งทองหล่อกลับมีความพิเศษกว่าซอยสุขุมวิทอื่น เว้นแต่อโศก ก็เพราะซอยทองหล่อเป็นซอยที่กว้างมาก กว้างตั้งแต่หลายสิบปีก่อน (พ.ศ. 2523) คือมีเข้าไป 6 เลน ขณะที่ซอยสุขุมวิททั่วเว้นแต่อโศกก็จะมีแค่ 2-4 เลนเท่านั้น

ประวัติซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) บางคนก็สืบค้นไปว่าเดิมเจ้าที่ดินรายใหญ่คือ พลเรือตรี ทหาร ขำศิริ ซึ่งชื่อเดิมคือ ทองหล่อ ขำศิริ และซอยทองหล่อก็เป็นซอยที่มีการพัฒนาขึ้นในระบบซอยของสุขุมวิท ซึ่งเป็นการจัดสรรพื้นที่ครั้งใหญ่ของเอกชน ซึ่งแบ่งเป้นหลายยุค คือยุคที่หนึ่งก่อน 2475 คือประมาณ 2562 เมื่อมีการย้ายโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมาจากกุลสตรีวังหลัง มาอยู่ริมคลองแสนแสบ และมีการพัฒนาโดยนานเออี นานา ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวทางของรัฐบาลที่สร้างเส้นทางไปยังภาคตะวันออก

การพัฒนาในช่วงที่สองของสุขุมวิทเริ่มมาในยุค 2470 จากการตัดถนนต่อจาก สุขุมวิท 19 ไปจนถึงสมุทรปราการ แบะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อ 2479 ต่อมาเมื่อตัดจากกรุงเทพไปถึงตราดเมื่อ 2479 ก็มีชื่อว่าถนน สุขุมวิท แทน กรุงเทพฯ-ตราด ในยุครัฐบาลจอมพล ป.

ความผุกพันของสมาชิกคณะราษฎรอย่าง พลเรือตรีทองหล่อ และต่อมามีการตั้งสถาบันปรีดีในซอยทองหล่อในที่ดินแปลงหนึ่ง ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกถึงความผูกพันของทองหล่อกับประวัติศาสตร์การขยายตัวของที่ดินและเศรษฐกิจที่อิงกับภาคตะวันออกของไทย และการเปลี่ยนทองหล่ออาจจะนับเนื่องมาจากอีกสามปัจจัยใหญ่หลังการเป็นซอยของถนนสุขุมวิท คือการเป็น ซอยที่ตัน การเป็นซอยที่ตันแต่กว้าง 6 เลน การมีรถไฟฟ้ามาลงปากซอย และการเปิดถนนเชื่อมกับเพชรบุรีตัดใหม่ด้านหลังด้วยสะพานข้ามตลองทองหล่อ

ความที่เป็นซอยที่มี 6 เลนนั้นเองทำให้ทองหล่อกลายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา เพราะสามารถสร้างอาคารสูงได้

แต่เดี๋ยวก่อน เรากำลังจะต้องพิจารณาว่าในการพัฒนาที่ดินนั้นในกรุงเทพมีเงื่อนไขอะไรที่สำคัญในเรื่องนี้บ้าง ซึ่งเรื่องใหญ่ก็คือตัวผังเมืองรวมที่จะกำหนดว่าเราสามารถพัฒนาที่ดินใดๆได้บ้างในพื้นที่

ผังเมืองรวมฉบับล่าสุด คือ 2556 นั้นกำหนดให้พื้นที่ทองหล่อ ซึ่งอยู่ในเขตวัฒนา เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ซึ่งย่อมหมายถึงการอนุญาติให้มีการสร้างอาคารที่พักอาศัยแบบแนวตั้งได้มาก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ย่านที่พักอาศัยหนาแน่น (สีน้ำตาล) นั้นก็ไม่เท่ากับย่านพาณิชกรรม (ไล่เรียงมาตั้งแต่ทางรถไฟและต้นถนนสุขุมวิท มาจนถึงก่อนซอย 27 และมาขนาบด้านท้ายตรงเลยวัดธาตุทองมาหน่อย)

ในรายละเอียดของโซนสีน้ำตาลนั้น แม้ว่าจะอนุญาติให้สร้างที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ และ การสาธารณูปโภค แต่ก็ยังอนุญาติให้ใช้ประโยชน์พื้นที่อื่นได้ไม่เกิน ร้อยละ 10

แต่กระนั้นก็ตามในข้อกำหนดของพื้นที่โซนสีน้ำตาล ก็ยังห้ามไม่ให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข้อห้ามการใช้ประโยชน์ ดังต่อไปนี้คือ โรงงาน (เว้นแต่ที่มีกฏกระทรวงอนุญาติ) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง (เว้นแต่ปั๊ม) สถายที่เลี้ยงสัตว์เช่นม้า โค กระบือ สุสานและฌาปนสถาน สถานบริการตามกฏหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงฆ่าสัตว์ ไซโล กำจัดมูลฝอย แฃะ การซื้อขายเก็บวัสดุ ฯลฯ

คำถามแรกคือ สถานบริการ ที่อ้างถึงมันมีอยู่เต็มไปหมดได้อย่างไร?

คำตอบที่หนึ่งก็คือ เพราะทองหล่อนั้น เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นที่กลายเป็นแบบพิเศษ คืออยู่ในรายละเอียดย่อยคือ ย.9 และ ย.10 ที่เป็นสองพื้นที่เฉพาะในส่วนของที่พักอาศัยหนาแน่นที่ไม่ระบุห้ามให้มีสถานบริการ

คำตอบที่สองก็คือ ถ้าไปดูตัวคำจำกัดความในพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 (มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นะระยะ) ก็จะพบว่ามีการกำหนดในมาตรา 3 ว่าหมายถึง สถานเต้นรำ รำวง รองเง็ง รวมถึง สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอื่นโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า สถานอาบอบนวด ผับ คาราโอเกะ และ เธค รวมไปถึงสถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นซึ่่งเปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. นั่นหมายความว่าเรื่องของสถานบริการนั้นมีความซับซ้อนมาก

ความสลับซับซ้อนในทางกฏหมายนั้นมาอยู่ที่เรื่องของการนิยามเรื่องสถานบริการ เพราะมีอีกสองชนิดคือ สถานบริการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายสถานบริการ และ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสองอย่างหลังนั้นไม่เข้าเงื่อนไขสถานบริการ ซึ่งโดยเจตนาของการจัดระเบียบบ้านเมืองแล้ว คำสั่งของ คสช.เองก็มองว่าแม้จะไม่ได้มีนิยามเฉพาะเจาะจง ก็ยังหมายรวมถึงสถานประกอบการที่ไม่ครบองค์ประกอบการเป็นสถาบริการตามพรบ.สถานบริการ แต่มีลักษณะการให้บริการที่เห็นได้ว่าเป็นการรวมกลุ่มหรือเป็นแหล่งมั่วสุมอันอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และให้อำนาจในการพิจารณาอยู่ในดุลยพินิจของ ผบ.ตร. รองผบ.ตร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

ในอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดิ่มนั้น แม้ว่าอาจจะตั้งได้เพราะไม่เข้าข่ายการเป็นสถานบริการ แต่ก็จะต้องถูกควบคุมการประกอบกิจาการ ไม่ทำให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ รักษาความสะอาด และ ควบคุมความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือย และ เหตุรำคาญอื่นๆ ตามกฏหมายสาธารณสุข กฏหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และ กฏหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

กล่าวโดยสรุปกฏหมายบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ว่าไม่ดีไปเสียทั้งหมด มันมีแนวปฏิบัติบางอย่างอยู่ และมีเจตนารมณ์บางอย่างอยู่ ไม่ใช่อ้างว่าพอไม่เข้าตามเรื่องสถานบันเทิงแล้วจะตั้งตรงไหนก็ได้เกลื่อนกราดไปหมด

คำตอบที่สาม อาจมีการอ้างอิงไปถึงพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาติให้ตั้งสถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร 2545 ที่อนุญาติให้ตั้งสถานบริการได้ อาทิ ย่านพัฒนพงษ์ ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ ย่านรัชดาภิเษก โดยความเห็นท้ายกฤษฎีกาคือ โดยที่กรุงเทพมหานครมีผู้ประกอบการกิจการสถานบริการเป้นจำนวนมาก ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรวบคุมดูแลให้สถานบริการมีการปฏิบัติตามกฏหมายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจมีสถานบริการดำเนินการไปในทางกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาติให้ตั้งสถาบริการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

จะเห็นว่าโดยเงื่อนกฏหมายนั้นการประกาศพื้นที่ทองหล่อซึ่งแม้อาจจะถูกมองว่าอยู่ในพื้นที่ยกเว้นให้ตั้งสถานบริการได้ แต่เงื่อนไขของความเดือดร้อนรำคาญนั้นย่อมเป็นเงื่อนไขที่สำคัญเช่นกันในการนำมาปรับใช้ในเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อย

และต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่ใช่ที่อยู่อาศัยนั้น โดยตัวกฏหมายเองไม่ได้ต้องการให้กิจการอื่นที่ไม่ใช่กิจการหลักคือที่อยู่อาศัยนั้นเป็นกิจการหลักอยู่ดี ดังนั้นการได้รับอนุญาติให้ตั้งได้นั้นควรจะต้องได้สัดส่วนกับพื้นที่อื่นๆในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่หลงกันไปอยู่ในเรื่องของพื้นที่สีเขียว หรือ พื้นที่ว่างเท่านั้น

ชาวทองหล่อในปัจจุบัน ก็เช่นเดียวกับชาวสุขุมวิทจำนวนไม่น้อยที่อาจจะเคยอยู่มาก่อนตั้งแต่พื้นที่ยังเป็นพื้นที่พักอาศัยหนาแน่นน้อย หรือเคยเป็นชานเมืองมาก่อน แต่ในวันนี้พวกเขาต้องเผชิญปัญหามากมายที่เกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ที่แม้ว่าอาจสะดวกสบายเรื่องร้านอาหาร และการคมนาคมขนส่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นพวกเขากำหนดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ยาก

นอกจากผังเมืองยังไม่สามารถกำกับการพัฒนาได้จริง การสร้างข้อยกเว้นและการตีความเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ยังนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เราจะมีกลไกในพื้นที่ได้อย่างไรที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาและกำหนดเงื่อนไข/การควบคุมการพัฒนาเพื่อให้คนในพื้นที่นั้นสามารถต่อรองและมีสิทธิที่จะมีชีวิตในเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี และจะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า The Right to the City นั้นไม่ได้หมายเพียงแค่เป็นเรื่องของคนจนเท่านั้น คนรวยเองก็ทุกข์ได้

ที่ผ่านมาเราว่างเว้นจากการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.มาหลายปี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครก็ถูกยุติบทบาทมาตั้งแต่รัฐประหาร สมาชิกสภาเขตก็ถูกยุบโดยอ้างว่าเป็นลูกน้องนักการเมือง

เหลือแต่ผู้อำนายการเขตและหน่วยงานระดับเขตที่ขาดการมีส่วนร่วมและตรวจสอบโดยประชาชนในเขตนั้น

แน่นอนว่าในแง่ของการบริหารงานนั้น การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. สภากทม. และการทดแทนสภาเขตด้วยกลไกสถาบันท้องถิ่นใหม่ๆจำต้องเกิดขึ้น แต่เงื่อนไขอีกประการที่มีความสำคัญก็คือ การส่งเสริมให้เกิดการยึดโยงระหว่างเขตกับประชาชน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงความใฝ่ฝันและข้อตกลงของคนในเขตว่าต้องการให้พื้นที่ของตนเป็นอย่างไรมากกว่าคำขวัญลอยๆ

ดังที่ได้เรียนไว้ในหลายกรรมหลายวาระว่าผังเมืองคือ ธรรมนูญของท้องถิ่นที่จะต้องมาร่วมสร้าง และ ผังเมืองอาจจะต้องเป็น “หลักเมือง” ด้วยคือจะต้องเป็นที่น่าเชื่อถือว่าคุ้มครองประชาชนได้

ผังเขตที่เรายังไม่มี ก็ควรจะถูกมองว่าเป็นธรรมนูญในระดับเขตเช่นกัน และควรถูกส่งเสริมให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น

เราจะเห็นว่าข้อจำกัดของผังเมืองที่ผ่านมาคือกำหนดได้แต่ “ภาพกว้าง” ของแต่ละพื้นที่เท่านั้นว่าควรจะเป็นอะไร แต่ในการจัดพื้นที่เองในระดับท้องถิ่นหรือเขตนั้นคำถามคืออะไรควรจะอยู่ในส่วนไหนนั้นไม่มีระบุไว้ในผังเมือง และสิ่งนี้เองที่เปิดโอกาสให้อำนาจในแต่ละพื้นที่ตกอยู่ในมือของนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่มีเส้นสายกับอำนาจรัฐในพื้นที่ได้มากกว่การที่จะค้องปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่นั้น

การจัดทำผังเขตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญ และต้องสามารถเชื่อมโยงกับผังเมืองรวมของกทม.ได้ด้วย อย่าลืมว่าหนึ่งในข้อจำกัดของผังเมืองรวมคือการไปให้ความสำคัญกับการกำหนดการใช้ที่ดินในแบบเดียวคืออยากให้แต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะเป็นการใช้ที่ดินแบบเดียว เช่น พานิชยกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และ ที่พักอาศัย และให้กิจการอื่นๆนั้นเป็นเรื่องของข้อยกเว้น ไม่ใช่เรื่องหลัก เช่นสถานบริการ หรือ กิจการอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ

แต่ในอีกด้านหนึ่งในความเปนจริงได้สอนให้เรารู้ว่า วิธีคิดในการวางผังเมืองแบบการใช้ที่ดินหลักในแต่ละส่วนไม่รวมกันอาจจะนำไปสู่การเสื่อมโทรมและความน่าเบื่อของเมืองได้ เมื่อเทียบเคียงกับการวางผังเมืองในแบบที่เน้นการใช้ที่ดินแบบผสม และสามารถเดินได้ ซึ่งทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวาได้มากกว่า (ในความเป็นจริงข้อถกเถียงนี้มีความซับซ้อน เพราะเมืองเดินได้ในแบบทฤษฎีนั้นเข้าอกเข้าใจว่าอาคารสูงและหนาแน่นนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่มีรายได้น้อย ขณะที่บางประเทศการพูดถึงเมืองเดินได้มักเป็นเรื่องของการรองรับการพัฒนาของที่อยู่อาศัยตึกสูงที่ราคาแพง)

ในกรณีของทองหล่อ ซึ่งถนน 6 เลนนั้นเป็นทั้งโอกาสของนักลงทุน และ บางส่วนเป็นวิกฤติของพื้นที่ เพราะทำให้สามารถยกเว้นเงื่อนไขมากมายในพื้นที่โซนน้ำตาล เช่นการสร้างตึกสูงและอาหารใหญ่ (แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนึงถึงสัดส่วนพื้นที่ในเขตนั้น) สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือจะทำอย่างไรให้ทองหล่อเป็น “ย่าน” ที่มีชุมชนที่แข็งแรงในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การมองแบบนักพัฒนาที่ดินที่มองว่าทองหล่อเป็นแค่พื้นที่คุณภาพราคาแพง ที่เต็็มไปด้วยข้อยกเว้นเท่านั้น

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image