คนกรุงฉีดวัคซีนกว่า 76% สูงวัยเกิน 79% สธ.-กทม.ส่ง 260 ทีมเคลื่อนเร็วลงชุมชน ขอ ปชช.อยู่บ้าน

คนกรุงฉีดวัคซีนกว่า 76% สูงวัยเกิน 79% สธ.-กทม.ส่ง 260 ทีมเคลื่อนเร็วลงชุมชน ขอ ปชช.อยู่บ้าน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงข่าวประเด็นกระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร ร่วมมือสู้โควิด-19

นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 17,669 ราย สะสมทั้งหมด 561,030 ราย ผู้รักษาหายเพิ่ม 9,798 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 165 ราย สะสม 4,562 ราย ทั้งนี้ การระบาดของประเทศไทย จุดศูนย์กลางระบาดยังอยู่ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปต่างจังหวัด ทำภาพรวมพบการระบาดในต่างจังหวัดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในกรุงเทพฯมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกับแนวโน้มของประเทศ ฉะนั้น การทำงานร่วมมือระหว่าง สธ. และหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ กทม. โดยสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และหน่วยงานอื่นๆ จึงมีความสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับสำนักอนามัย กทม.ในการสนับสนุนวัคซีนผ่านคณะอนุกรรมการการจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร โดยจัดสรรให้กับหน่วยงานและพื้นที่ต่างๆ ผ่านสำนักอนามัย กทม.อีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การทำงานเชิงรุกในชุมชนด้วยทีมเคลื่อนที่เร็ว หรือ Comprehensive COVID-19 response (CCRT) ซึ่งเป็นทีมเชิงรุก มีกำลังคนจากหลายหน่วยงาน เช่น สธ. สำนักอนามัย กทม. จิตอาสา ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายพัฒนาสังคม ลงไปในชุมชนเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1.ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ด้วยการตรวจชุดแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) 2.การฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน และ 3.การให้ความรู้ แนวปฏิบัติตัวป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ ทีม CCRT เรามีทั้งหมด 260 ทีม มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 59,708 ราย มีการตรวจคัดกรองผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อ 81,290 ราย

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-วันที่ 28 ก.ค. ขณะนี้ กรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนสะสม 5,668,720 โดส เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,643,227 ราย และได้รับครบ 2 เข็มอีก 1,025,493 ราย หากเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ที่เราตั้งเป้าในการฉีดวัคซีน 7,699,174 ราย ก็ถือว่ากรุงเทพฯฉีดวัคซีนค่อนข้างเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ ว่าสิ้นเดือน ก.ค.64 จะต้องฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านโดส รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่เรากำหนดไว้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องได้รับวัคซีนประมาณ 80% ขณะนี้ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับเป้าหมาย

“ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สธ. และ กทม. โดยเฉพาะสำนักอนามัย กทม. นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายการฉีดวัคซีนของ กทม.อีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล (รพ.) ภาครัฐ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รพ.ฝ่ายความมั่นคง รพ.เอกชน และอื่นๆ ที่สนับสนุนร่วมมือกัน และยังมีภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ได้รับวัคซีนในเขตกรุงเทพฯ นอกจากการรายงานตัวเลขแล้ว กรมควบคุมโรคได้มีการสุ่มสำรวจประชาชนในกรุงเทพฯทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 ราย ข้อมูลวันที่ 24-25 ก.ค.64 แบบสำรวจมีคำถามสำคัญคือ “ท่านได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่” พบว่า ประชาชน 76.5% ตอบว่า ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งสอดคล้องกับการผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 47.3% ซิโนแวค 28.3% และยังไม่ได้ฉีด 23.5% อย่างไรก็ตาม สำหรับอีกกลุ่มที่เราให้ความสนใจคือ กลุ่มผู้สูงอายุ แบบสำรวจจึงมีคำถามว่า “ในบ้านท่านมีผู้สูงอายุหรือไม่” พบว่า มีผู้สูงอายุ 65.7% โดยในกลุ่มนี้มีการสอบถามต่อว่า “ผู้สูงอายุในบ้านฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่” พบว่า ฉีดวัคซีนแล้ว 79.92%

นอกจากนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า การทำงานร่วมกันยังมีการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยรถตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน 2 จุด คือ สนามกีฬากองทัพอากาศธูปะเตมีย์ และสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งตรวจคัดกรองวันละ 1,500 ราย และมีการส่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมโรค ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกรุงเทพมหานคร เช่น การสอบสวนโรคและเฝ้าระวังทั้ง 6 กลุ่มเขตของ กทม. ได้แก่ กรุงเทพเหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้

“ภารกิจที่กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลทำให้ภารกิจเป้าหมายการฉีดวัคซีน และภารกิจสอบสวนควบคุมโรค เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนให้การระบาดของโรคมีการชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการระบาดของโรคยังสูงอยู่ มาตรการต่างๆ ที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีอยู่มาก เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน เมื่อพบคนอื่นๆ การเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ หากไม่จำเป็นให้อยู่บ้าน อย่าทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ยกเว้นในเรื่องการไปหาหมอ ฉีดวัคซีน การอุปโภคบริโภค ยังดำเนินการได้ นอกจากนั้น ขอให้อยู่บ้านมากที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยกันยับยั้งการระบาดของโควิด-19” นพ.โอภาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image