“PETE เปลปกป้อง” สุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนไทย ช่วย “ผู้ป่วย-ด่านหน้า” ฝ่าโควิด

การใช้งาน “PETE เปลปกป้อง” ในสถานการณ์จริง (ภาพจาก รพ.วิภาวดี ผ่าน MTEC)

    ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งแตะหลักสองหมื่นต่อวันในเดือนสิงหาคม ควบคู่กับยอดผู้เสียชีวิตนิวไฮในเดือนเดียวกัน ทำให้สังคมทวีความวิตกถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงง่ายๆ

    ช่วงรอคอยวัคซีนคุณภาพ ที่รัฐต้องจัดสรรให้ประชาชนได้มีเกราะป้องกันตนเองจากโรคอุบัติใหม่อย่างถ้วนหน้า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนานวัตกรรมสุดยอดฝีมือคนไทย “PETE (พีท) เปลปกป้อง” (Patient Isolation and Transportation Chamber) เปลระบบอากาศแบบความดันลบ นับเป็น “เกราะป้องกัน” ที่ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างแท้จริง “PETE เปลปกป้อง” จึงเป็นหนึ่งในไฮไลต์เด่นของมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญแห่งปี “เฮลท์แคร์ 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ที่ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ภายใต้ “เครือมติชน” ผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคมนี้ นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง 3 สื่อ ได้แก่ เฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น เครือมติชนยังร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BEM” สนับสนุนการมอบ “PETE เปลปกป้อง” จำนวน 10 ตัว รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่โรงพยาบาล 5 แห่ง แห่งละ 2 ตัว ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

ทั้งหมดเพื่อประคับประคองให้ทุกคนในสังคมรอดไปด้วยกัน และด้วยความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมของคนไทยต้องช่วยคนไทยได้ในยามวิกฤติ

Advertisement

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ MTEC

เกราะป้องกันชีวิต

ก่อนหน้านี้ MTEC เน้นการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย สอดคล้องกับ “เศรษฐกิจสูงวัย” ที่กลุ่มผู้สูงวัยมีกำลังซื้อสูง สามารถเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ 

แต่แล้วเมื่อโควิดระบาดทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 MTEC จึงปรับกลยุทธ์มาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือโควิด 

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ MTEC เล่าว่า ช่วงต้นของการระบาด ผู้บริหารและนักวิจัยของ MTEC หารือกันว่า จะมีส่วนช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญที่พบขณะนั้นคือ บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนชุดป้องกันและประสบความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพราะไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ที่ต้องใช้เปลระบบความดันลบ ที่มีอยู่ก็เป็นเปลนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพง และมีข้อจำกัดในการใช้งานหลายประการ

“เพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมใช้ได้ผลจริง ทีมนักวิจัย MTEC จึงทำงานร่วมกับหมอหลายๆ ที่ ทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ฯลฯ ว่าต้องการเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติแบบไหนบ้าง โดยในการออกแบบ ทีมนักวิจัยใช้การทำงานที่เรียกว่า design thinking คือเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นที่มาของนวัตกรรม PETE เปลปกป้องตัวนี้” 

PETE เปลปกป้อง” ที่ออกแบบจากความต้องการใช้งานจริง

ด้าน ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อํานวยการ MTEC เพิ่มเติมว่า เปลส่วนใหญ่มีน้ำหนักมาก และถ้าชิ้นส่วนเสียหายหรืออะไหล่ไม่พอก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ทีมนักวิจัย MTEC ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุ จึงพัฒนาเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา พับเก็บได้ ไม่ใช้วัสดุที่เป็นโลหะ เพื่อให้เข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ 

ที่สำคัญคือมีต้นทุนราว 250,000 บาท ถูกกว่าเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาเฉลี่ย 600,000-700,000 บาท โดยยังคงคุณภาพและมาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับสากลไว้ครบถ้วน 

    ดร.จุลเทพ บอกด้วยว่า “PETE เปลปกป้อง” มีความแข็งแรง ทนทาน มีการกรองเชื้อไม่ให้เล็ดลอดออกมา จึงช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับรถ ผู้ขนย้ายเปล แพทย์และพยาบาล รวมทั้งลดความเสี่ยงของผู้คนที่อยู่ในเส้นทางลำเลียงผู้ป่วยได้อีกด้วย 

    นอกจากนี้ หากมีเหตุต้องทำหัตถการทางการแพทย์ระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล สถานการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องรับมือให้ได้ สะท้อนการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานจริงมากที่สุด ทำให้ MTEC เป็นหน่วยงานแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างจริงจัง 

    ผู้อำนวยการ MTEC เพิ่มเติมอีกว่า นับถึงตอนนี้ MTEC ผลิต “PETE เปลปกป้อง” เองแล้วหลายสิบตัว และมีบริษัทเอกชนที่รับถ่ายทอดสิทธิเป็นผู้ผลิตในเชิงอุตสาหรรม ซึ่งส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ไปแล้วราว 20 ตัว โดยมีแผนจะส่งมอบภายในสิ้นปีนี้ราว 100 ตัว พร้อมมองถึงโอกาสในอนาคต ที่ไทยอาจเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคหรือขยายไปถึงระดับโลก สอดรับกับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ที่เป็น “นิว เอส-เคิร์ฟ” ของไทย

    “MTEC ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตร ที่สนับสนุนการผลิต PETE เปลปกป้อง เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ความตั้งใจของเราคือขยายผลให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่รับผลิตเปลนี้ 

“ในวิกฤติทุกคนมีความทุกข์ เราก็ทุกข์ แต่เราต้องแปลงความทุกข์นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมให้ได้ ยิ่งในสถานการณ์นาทีเป็นตายของผู้ป่วย เราได้เห็นการทำงานหนักหนาของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน โดยมีอุปกรณ์ที่ MTEC พัฒนาไว้ใช้งาน เราก็ดีใจที่ได้มีส่วนช่วยให้ทุกคนผ่านสถานการณ์นี้ไปได้” 

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมพัฒนา PETE เปลปกป้อง

น้ำหนักเบา พับเก็บได้ เคลื่อนย้ายสะดวก

    ระยะเวลาราว 1 ปีครึ่ง นับจากวันเริ่มต้นโครงการ ถือว่านานพอที่จะทำให้ทีมนักวิจัย MTEC สามารถปรับปรุงและพัฒนา “PETE เปลปกป้อง” มาแล้วถึง 7 เวอร์ชัน 

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม MTEC เล่าว่า ทีมนักวิจัย 8 คน ได้รับโจทย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า โรงพยาบาลต่างๆ มีความต้องการเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระบบความดันลบ จึงแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีทั้งนักวิจัยที่ออกแบบระบบความดันลบ ระบบการฆ่าเชื้อ การกรองอากาศ นักวิจัยที่ออกแบบวัสดุเพื่อนำมาใช้งานจริง และนักวิจัยที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ 

    หลังจากเก็บข้อมูลและผลิตเปลต้นแบบ โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศเป็นหลักแล้ว ก็นำไปทดลองใช้งานจริงหลายที่ อาทิ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แล้วนำความเห็นมาปรับปรุงพัฒนา “PETE เปลปกป้อง” ให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น

“เวอร์ชันแรกเข้าเครื่องเอกซเรย์ไม่ผ่าน เพราะมีวัสดุโลหะอยู่นิดหนึ่ง เราจึงลองปรับเปลี่ยนหลายครั้งจนได้งานที่สำเร็จออกมา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลายท่านช่วยให้คำแนะนำระหว่างพัฒนา 

“อย่างเรื่องขนาดของแคปซูล ความยาวต้องเหมาะกับตัวผู้ป่วย เราทำยาว 2 เมตร เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ตัวสูง และความสูงของแคปซูลต้องทำให้เข้าเครื่องเอกซเรย์ได้พอดี ตัวเปลรองรับน้ำหนักผู้ป่วยสูงสุด 250 กิโลกรัม เพราะหน้างานเราเจอผู้ป่วยที่หนักเกิน 100 กิโลกรัมเยอะมาก ขณะที่เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอื่นๆ รองรับได้ 120-150 กิโลกรัมเท่านั้น” ดร.ศราวุธ ยกตัวอย่าง 

แล้วอธิบายส่วนประกอบของ “PETE เปลปกป้อง” ว่า มีด้วยกัน 3 ชิ้นส่วนหลัก

ส่วนแรก คือ “แคปซูล” หรือห้องแยกผู้ป่วย เป็นพลาสติกใส มีช่องใส่กระดานรองหลังใต้แคปซูล มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือ และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล 

ส่วนที่สอง คือ ส่วนสร้างความดันลบ เป็นกล่องเล็กๆ มีระบบกรองอากาศด้วยแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง 99.995% (เฮป้า ฟิลเตอร์) และฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี-ซี ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก

ส่วนที่สาม คือ ระบบควบคุมแรงดันอากาศแบบอัตโนมัติ ซึ่ง MTEC จดสิทธิบัตรไว้ สามารถควบคุมระบบอากาศและแจ้งเตือนผู้ใช้ในกรณีที่มีความผิดพลาด เช่น ลืมรูดซิปแคปซูล เป็นต้น 

กล่องสร้างความดันลบที่แยกออกมาพกพาได้ง่าย

เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว สามารถใช้น้ำยาผสมกับน้ำและใช้ปืนพ่นที่มีความปลอดภัย พ่นทำความสะอาดภายในและภายนอกได้ทันที จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้งไม่เกิน 5 นาที ก็สามารถพับแคปซูลเก็บในถุง เป็นการประหยัดพื้นที่ และพร้อมใช้งานสำหรับผู้ป่วยรายต่อไปได้ 

“นอกจากจะสร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ก็ปลอดภัยด้วย จากที่ใส่เฟซชีลด์ ใส่ชุดพีพีอี พอมีเปลนี้ก็เหมือนด่านแรกที่ป้องกันการกระจายเชื้อ การช่วยเหลือต่างๆ ก็ทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่สามารถพับเก็บได้เพื่อประหยัดพื้นที่

ดร.ศราวุธ บอกด้วยว่า “PETE เปลปกป้อง” ไม่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์โควิดอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสามารถใช้ได้กับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ซาร์ส ฯลฯ ได้ด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ และขณะนี้กำลังวางแผนพัฒนาเวอร์ชันที่ 8 โดยเน้นลดต้นทุนการผลิต เพราะโรงพยาบาลทั่วประเทศต้องการเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ไม่มีกำลังพอจะจัดซื้อ 

“เป้าหมายของเราคือทำคุณภาพให้ดีกว่าเดิมและลดต้นทุนให้ต่ำลง ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้เราสามารถกระจายความช่วยเหลือไปได้เยอะขึ้น

“จากเดิมที่นวัตกรรมช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น มาตอนนี้พวกเราเห็นเจ้าหน้าที่เข็นเปลปกป้องที่มีผู้ป่วยอยู่ในนั้น ทุกคนฮึกเหิมเลย เพราะนี่เกินกว่าเพิ่มคุณภาพชีวิตแล้ว แต่คือการรักษาชีวิตของผู้ป่วยและทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขาได้กลับไปเจอครอบครัวและคนที่รักอีกครั้ง” ดร.ศราวุธ บอก

เพราะตัวเลขไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิตของผู้คนที่สูญเสียและเจ็บปวดจากโควิด การมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว รวมทั้งช่วยปกป้องบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image