เจาะเบื้องหลังของสงครามวัคซีน ผ่านหนังสือซีรีส์โควิด-19

“สมรภูมิ” การต่อสู้กับ “โควิด-19″ ณ เวลานี้ คงกล่าวได้ว่า สถานการณ์ของ “วัคซีน” อาวุธสำคัญในการปราบโรคร้ายนี้ ยังเต็มไปด้วยความสับสน และประเด็นถกเถียงอย่างไม่รู้จบ แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ “ซีซันใหม่” ไปแล้วก็ตาม แต่ประเด็นคำถามก็ยังคงถูกยกขึ้นมาถามอยู่เป็นระยะ ทั้งเรื่องที่มาของวัคซีน ประสิทธิภาพการป้องกัน โดยเฉพาะประเด็นล่าสุด แท้จริงแล้ววัคซีนหวังผลได้หรือไม่ 

ทั้งหมดนี้ คือ ประเด็นสุดเข้มข้นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีทอล์ก “HEALTH BOOK TALK เจาะลึกเบื้องหลังวัคซีนและวิกฤติโรคระบาด” ในงาน “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน มหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งใหญ่แห่งปี โดยมี ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม หนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือ “Vaccine War : สมรภูมิวัคซีนโควิด-19” และ นางสาวชนมน วังทิพย์ หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือภาษาไทย สำนักพิมพ์มติชน ร่วมเวที

วัคซีนตัวไหนดีที่สุด?

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสื่อโซเชียล คือ วัคซีนตัวไหนที่มีประสิทธิผลดีที่สุด 

Advertisement

จากคำถามนี้ แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการเปรียบเทียบถึงประสิทธิผลของวัคซีนอย่างชัดเจน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอจะอนุมานได้ว่าประสิทธิผลที่เกิดจากการใช้กับประชากรในประเทศนั้น ๆ สามารถชี้ได้ว่าตัวไหนเป็นตัวที่ดีที่สุด ซึ่ง ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์ ให้มุมมองเรื่องนี้ว่า

ตัวไหนดีที่สุด ต้องเอาทั้งหมดมาวิ่งแข่งในสนาม แต่ปัญหาคือวัคซีนที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมเลยคือวัคซีนจีนกับรัสเซีย ดังนั้นถ้าจะเอาการเปรียบเทียบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหน เชิงวิทยาศาสตร์อาจไม่ตรงมาก แต่ถ้าพอจะอนุมานได้ว่า ต้องดูประสิทธิผลที่เกิดจากการใช้จริงหลักแสนถึงหลักล้าน และข้อมูลพวกนี้ก็ถูกป้อนเข้าโลกโซเชียลตลอดเวลา เราต้องมีข้อมูลที่เป็นข้อมูลอ้างอิงที่ดี อย่างผมก็เข้าประชุมของ WHO เดือนละหนึ่งครั้ง ส่วนใหญ่ผู้จัดการประชุมจะอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการให้ข้อมูลอัปเดตที่สุด ณ ตอนนั้น และเป็นข้อมูลที่เปิดให้บริษัทวัคซีน ที่ตอนนี้ทุกคนมุ่งเน้นไปที่บูสเตอร์ อัดเข้าไปว่าจะเป็นแบบไหน เกณฑ์จะเป็นอย่างไร เดือนหน้าก็จะมีประชุมแบบนี้อีก บริษัทวัคซีนก็จะทยอยเข้าไปอัปเดตข้อมูลเป็นระยะ ซึ่งเวลาเขาเล่า ก็จะเป็นการเล่าของแต่ละบริษัท ไม่ใช่เอาทุกตัวมารวมกัน เพราะฉะนั้นจึงเทียบยากว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหน” 

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับดราม่าทอล์กออฟเดอะทาวน์

Advertisement

    วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อฉีดไปแล้วจะทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตัน หลายประเทศเคยยุติการให้ฉีดวัคซีนตัวนี้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงในกระแสโซเชียลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทที่อยู่ในหนังสือ Vaccine War สมรภูมิวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลถึงผลข้างเคียงของวัคซีนนี้ โดยกล่าวถึงเบื้องหลังที่มาที่ไป ชุดข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงกระแสดราม่ามีข้อมูลจริงมากน้อยแค่ไหน

    ชนมน วังทิพย์ หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือภาษาไทย สำนักพิมพ์มติชน เล่าว่า “ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ไม่ใช่แค่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกระงับการทดสอบ แต่ความจริงยังมีวัคซีนอีกหลายตัวที่เคยถูกระงับไป ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งเบื้องลึกและเบื้องหลังของความดราม่าเหล่านั้น ความจริงแล้วมีความจริงอะไรแฝงอยู่บ้าง”

    ด้าน ภก.ดร.นรภัทร เสริมว่า บทนี้จะนำไปศึกษาเรื่องของวัคซีนหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, แอสตร้าเซนเนก้า, สปุตนิก วี ทั้งการตลาด การทดสอบต่าง ๆ โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในช่วงที่มีการระบาดในแอฟริกาใต้ ถูกนำไปทดสอบอย่างไร ซึ่งขณะนั้นก็เกิดดราม่าเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการไขข้อกระจ่างในหนังสือเรื่องนี้ที่จะตอบคำถามถึงเหตุผลการกระทำเหล่านั้น ทั้งในเรื่องของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์

“สูตรวัคซีนไขว้ เป็นสูตรที่ใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว”

ภก.ดร.นรภัทร กล่าวว่า เป็นหนึ่งในสูตรที่ WHO ให้การรับรอง โดยระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้วที่มีความนิยมมากที่สุด คือ ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก และฉีดวัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์-โมเดอร์นา) เป็นโดสที่ 2 ซึ่งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง และมีตัวอย่างทดลองการฉีดในลักษณะนี้แล้วหลายกลุ่ม โดยได้ยกตัวอย่างการไขว้สูตรของประเทศเยอรมนี ต้นกำเนิดของวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ว่า ที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทดลองฉีดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการใช้สูตรฉีดวัคซีนไขว้ ว่ามีประสิทธิผลที่ดี

“สำหรับประเทศไทยมีการนำวิธีนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน โดยให้วัคซีนซิโนแวคเป็นโดสแรก และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสที่ 2 ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนไทยได้รับสูตรนี้จำนวนเกินหนึ่งล้านคนแล้ว และก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้ฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียมาบ้างแล้ว” 

ระดมความรู้สู้โควิดผ่านหนังสือซีรีส์ 5 เล่ม 

    ขณะที่การระบาดของโควิดยังเป็นวิกฤติของทุกชีวิตในสังคม สำนักพิมพ์มติชน ในฐานะอีกหนึ่งองค์กรสื่อ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอองค์ความรู้ ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสังคม เพื่อเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ ๆ กับสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ได้ระดมความรู้เรื่องโควิด-19 เพื่อนำพาไปทำความรู้จักโรคที่ครั้งหนึ่งไม่มีใครรู้จักไปจนถึงบทเรียนที่ได้รับจากวิกฤติครั้งนี้ ที่รวมไปถึงสิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อไปหลังสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านหนังสือทั้งหมด 5 เล่ม ได้แก่

  • COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ เขียนโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ 
  • จากปีศาจสู่เชื้อโรค เขียนโดย ชาติชาย มุกสง คำนิยมโดย ทวีศักดิ์ เผือกสม
  • ไดอารี่ล็อกดาวน์อู่ฮั่น เขียนโดย Guo Jing แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร
  • Vaccine War สมรภูมิวัคซีนโควิด-19 : เขียนโดย ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ, นรภัทร ปีสิริกานต์
  • บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด : เขียนโดย Fareed Zakaria แปลโดย วิภัชภาค

โดยหนังสือ Vaccine War สมรภูมิวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นหมุดหมายแรกในการก้าวต่อไปหลังเกิดวิกฤติโรคระบาด ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นการเจาะลึกเบื้องหลังสมรภูมิวัคซีน ตลาดการค้าที่เม็ดเงินสะพัดระดับแสนล้าน และมีอนาคตของโลกเป็นเดิมพัน ศึกษากลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีน แนวทางการกระจาย วิวัฒนาการของไวรัสที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อต้านวัคซีน การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประชาชน การตีความประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการงัดข้อกันทางการค้าระหว่างมหาอำนาจในสมรภูมิ รวมถึงบทวิเคราะห์อันเข้มข้นน่าติดตามจากผู้คร่ำหวอดในวงการ

ภก.ดร.นรภัทร หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้คล้ายจดหมายเหตุ เป็นการรวมเอาสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดเรื่องโรคระบาดที่อู่ฮั่น สิ่งที่ตามมามีประเทศอะไรกระทบบ้าง โดยเรียงลำดับเหตุช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผ่านหนังสือเล่มนี้ ด้วยการนำเสนอด้วยบทความทางวิชาการ หลักการเศรษฐศาสตร์ แต่ให้ความรู้สึกเบาไม่หนักจนเกินไป

จุดน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือ การนำเนื้อหาหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มาเรียงร้อยให้เป็นประเด็นที่เข้าใจง่าย เขียนด้วยภาษาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่เน้นทฤษฎีมากจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันยังแฝงด้วยข้อเท็จจริงที่ควรรู้ไว้ด้วย

ขณะที่ หนังสือเรื่อง บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด ชนมน กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้แค่มีวิธีการเอาชีวิตรอดหลังโควิดระบาดเท่านั้น แต่จุดน่าสนใจคือการตั้งต้นถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ทำนายอนาคต และพาไปย้อนสู่อดีตเพื่อเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ 

สิ่งสำคัญคือคุณภาพของรัฐบาลไม่ใช่ขนาด คือหนึ่งตัวอย่างจากหนังสือเรื่อง หนังสือบทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด ที่หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือภาษาไทยได้หยิบยกขึ้นมา โดยอธิบายว่า “เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่มีการพูดถึงวิธีการจัดการโรคระบาด การจัดการปัญหาวัคซีนไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่ดูเหมือนจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้กลับกลายว่าจัดการได้ในภายหลัง ขณะที่จีนที่ดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ได้ตั้งแต่แรก แต่แฝงด้วยเบื้องหลังที่ไม่โปร่งใส มีการปิดปากสื่อ และหนังสือยังพาไปต่อถึง รัฐ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ รวมถึงประเด็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ที่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป”

นอกเหนือจากนั้น ชนมน ให้ความเห็นถึงหนังสือ บทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด ว่า เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับทุกคน เพื่ออ่านทำความเข้าใจ พยายามหาทางออก รวมถึงหลักการรับมือหลังโรคระบาด ขณะเดียวกันเป็นหนังสือที่ทำให้เรากลับมาครุ่นคิด ตั้งคำถามและวิพากษ์ตัวเราเอง ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของสังคมแข็งแรงมากพอหรือยัง หรือถ้ามองว่าล้มเหลว เป็นการล้มเหลวที่จุดไหน

“หนังสือเล่มนี้เป็นโลกของการระบาดครั้งใหญ่ ไม่ใช่เพราะว่าเราเอาชนะโควิดมาได้แล้ว ไม่ใช่เพราะว่าโควิดล้มจากเราแล้ว แต่เราก้าวผ่านจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว แต่ว่าตอนนี้เรารู้แล้วว่าการระบาดคืออะไร เรารู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร เรารู้ว่าความท้าทายคืออะไร ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ประโยคส่วนหนึ่งจากหนังสือ ซึ่ง ชนมน ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า บทเรียนจากหนังสือเป็นทั้งบทเรียนและข้อทำนายในเวลาเดียวกัน และสำคัญยังทิ้งคำถามปลายเปิดว่าปัญหาที่ถูกแก้ด้วยวิธีหนึ่งอาจจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป ขณะเดียวกันยังมีแกนที่สามารถใช้ได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

นอกจากนี้ยังมีหนังสือชุดซีรีส์โควิด-19 อีก 3 เล่มด้วยกัน คือ COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ (ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์) หนังสือที่จะพาไปทำความรู้จัก โรคโควิด-19” ด้วยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา, จากปีศาจสู่เชื้อโรค (ชาติชาย มุกสง คำนิยมโดย ทวีศักดิ์ เผือกสม) หนังสือที่นำพาไปศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์และโรคระบาด, ไดอารี่ล็อกดาวน์อู่ฮั่น (Guo Jing แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร) หนังสือที่จะพาไปสำรวจเสียงผู้คนที่ร่วมชะตากรรมกับวิกฤติครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image