คนกลางคืน คนถูกลืม เสียงความเดือดร้อน จากอาชีพที่รัฐไม่เหลียวแล

“คนทำงานกลางคืนเป็นกลุ่มอาชีพที่ถูกทอดทิ้ง โดนตัดช่องทางทำมาหากิน ถูกสั่งปิดมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว มาตรการล็อกดาวน์ก็ไม่ได้ผล เราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนธุรกิจกลางคืน ร้านอาหาร ร้านค้า ให้สามารถกลับมาเปิดกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้ง เพราะตอนนี้ทุกคนเครียด อยากให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนเหล่านี้บ้าง” 

เสียงสะท้อนความลำบากของ นายนพป์เศรษฐ์ หิรัญวาทิต ซีเนียร์บาร์เทนเดอร์ร้าน Rabbit Hole ย่านทองหล่อ ในฐานะประชาชนคนทำงานกลางคืน กลุ่มอาชีพที่รัฐสั่งปิดเป็นกลุ่มแรก จากผลกระทบของโควิด-19 แต่กลับเป็นกลุ่มสุดท้ายที่รัฐเหลียวแล และช่วยเหลือ จนทำให้กลุ่มอาชีพที่เคยสร้างสีสันในชีวิตยามค่ำคืนให้ผู้คน กำลังจะล้มหายตายจาก จากการถูกตัดช่องทางทำมาหากินมาโดยตลอดในระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด 

ล็อกดาวน์” จุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของอาชีพคนกลางคืน

หลังจากการใช้ยาแรงของรัฐบาลด้วยมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร และบริการ ไม่สามารถเปิดรับลูกค้าให้รับประทานอาหารหรือใช้บริการที่ร้านได้ กลายเป็นผลกระทบวงกว้างที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนขาดรายได้ และส่งผลใหญ่ไปถึงเศรษฐกิจมวลรวมทั้งประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหากยาแรงในการล็อกดาวน์เพื่อหวังควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ผล ก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่กำลังจะย้อนกลับเข้าสู่ตัวเองในท้ายที่สุด 

Advertisement

กระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม รัฐประกาศผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดบริการได้ โดยมีข้อจำกัดอย่างเข้มงวด ซึ่งสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้บางส่วน รวมถึงอนุญาตให้ห้างฯ ร้านเสริมสวย สปา สนามกีฬา ไปจนกระทั่งโรงภาพยนตร์ สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ แม้จะไม่กลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องด้วยการจำกัดผู้ใช้บริการในแต่ละครั้ง แต่ก็ช่วยให้หลายกิจการกลับมาทำมาหากิน ลืมตาอ้าปาก กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง 

ทว่าการคลายล็อกดังกล่าว รัฐยังคงลืมกลุ่มอาชีพหนึ่งไปอย่างสนิท นั่นคือกลุ่มอาชีพคนทำงานกลางคืน ผับ บาร์ร้านอาหาร ที่ทำกิจการกลางคืนเป็นหลัก ด้วยมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และจำกัดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. ทำให้กลุ่มอาชีพที่เคยสร้างสีสันในชีวิตยามค่ำคืนให้ผู้คน กลายเป็นความไม่จำเป็นของรัฐ และถูกทอดทิ้งอย่างไม่เหลียวแล 

แม้ล่าสุด รัฐจะประกาศว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะอนุญาต ให้ร้านอาหารสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอนุญาตให้สถานบันเทิงเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมหรือไม่ภายให้วันที่ 1 ธันวาคม 2564แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยคำถามของคนประกอบอาชีพกลางคืนว่า เปิดครั้งนี้จะยาวนานได้สักเพียงใด รัฐจะบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดได้มากน้อยแค่ไหน  จะถูกสั่งปิดในเร็ววันเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะความลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญมันสะสมจนไม่อาจทุเลาได้ในเร็ววัน 

Advertisement

ความเดือดร้อน การปรับตัว และการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด

“วันแรกที่รัฐให้ร้านเราปิด เรารู้สึกว่าเราคงได้พักหลังจากทำงานหนักมาทั้งปี มันคงเป็นการปิดชั่วคราวสัก 3-4 วัน และกลับมาเปิดเป็นปกติ แต่พอผ่านไปสักอาทิตย์ สองอาทิตย์ มันเริ่มส่อแววแล้วว่าสถานการณ์มันแปลกๆ จะสั่งปิดไปอีกนานไหม เราจะได้กลับมาทำงานอีกรึเปล่า” 

คงเป็นการปิดชั่วคราวที่ยาวนานชั่วนิรันดร์สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพกลางคืน เพราะหลังจากที่รัฐประกาศล็อกดาวน์ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ คนทำงานกลางคืนก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตทำงานได้อย่างเคย ในระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 1 ปีครึ่ง ที่การสั่งปิดและเปิดของภาครัฐ ทำให้ย่านสถานบันเทิงที่เคยคึกคักยามค่ำคืน ถูกแทนที่ด้วยถนนที่ว่างเปล่า เก้าอี้ที่ถูกพับเก็บ ความเงียบสงัด และป้ายประกาศเซ้งกิจการจำนวนมาก 

นพป์เศรษฐ์ บอกเล่าถึงความเดือดร้อนเพิ่มเติมว่า จากเดิมที่อาชีพบาร์เทนเดอร์เคยเลี้ยงปากท้องตน และครอบครัวได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขัดสน เคยเป็นงานที่ภาคภูมิใจในการออกไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้กับประเทศ แต่ในวันนี้กลับต้องมาเครียดทุกวัน เพราะรายได้ทั้งหมดกลายเป็นศูนย์จากการสั่งปิดของรัฐบาล จนเงินเก็บไม่เหลือ ต้องนำเงินสำรองมาประทังชีวิต บัตรเครดิตเต็มวงเงิน กลายเป็นหนี้สินที่ต้องแบกรับ จนต้องปรับตัวทำอาชีพเสริมอื่นๆ อาทิทำโดนัทขาย รับงานเอกสารออนไลน์ เพื่อประคับประคองตนให้อยู่รอดในแต่ละวัน ทางด้านพนักงานคนอื่น ก็ตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน กลับบ้านต่างจังหวัดเพราะไม่สามารถแบกรับค่าเช่า ค่ากินอยู่ ในช่วงที่ขาดรายได้ บางส่วนก็ตัดสินใจทิ้งความฝัน ทิ้งอาชีพ เพื่อปากท้องและการดิ้นรนเอาตัวรอดในแต่ละวัน

เยียวยาที่ไม่เพียงพอ 

เมื่อถามถึงการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐ นพป์เศรษฐ์กล่าวว่า คนประกอบอาชีพกลางคืน ได้รับเพียงเงินเยียวยาจากประกันสังคม ซึ่งมีความยุ่งยากในการช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ต้องไปนั่งลงทะเบียน ต้องคอยตามเป็นระยะ ในบางครั้งก็จ่ายช้า โดยได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3-4 พันบาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ณ ปัจจุบัน ซึ่งเงินเยียวยาดังกล่าวเป็นเงินกลุ่มเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งหมด แต่สิ่งที่แตกต่างคือกลุ่มอาชีพอื่นยังสามารถทำงานที่บ้าน (WFH) หรือเปิดให้บริการตอนกลางวันได้บ้าง แต่สำหรับอาชีพคนทำงานกลางคืนแล้ว พวกเขาไม่เหลือรายได้เลยแม้แต่ทางเดียว พนักงานทุกคนมีภาระมีครอบครัวที่ต้องดูแล พวกเขาจะอยู่รอด และปรับตัวได้อย่างไร 

ด้วยความลำบากทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนประกอบอาชีพกลางคืนขึ้น เพื่อร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากรัฐให้กลับมาเปิดกิจการได้บ้างแต่รัฐได้ปัดตกเรื่องนี้อย่างทันควัน ด้วยเหตุผลว่า

“การกินเหล้าสังสรรค์ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดของการรื้อฟื้นเศรษฐกิจบ้านเมืองในช่วงเวลานี้”

คำตอบที่สร้างคำถามคาใจ และสร้างบาดแผลแสนเจ็บปวดที่รัฐมอบให้กับผู้ประกอบอาชีพกลางคืน เพียงเพราะพวกเขาอยากกลับมาทำงานทำอาชีพสุจริตของพวกเขาอีกครั้ง

ความหวังสุดท้ายของผู้ถูกลืม ที่อยากส่งต่อให้ภาครัฐ 

ตลอดบทสนทนา นพป์เศรษฐ์ เติมไปด้วยน้ำเสียงที่อัดอั้นกับสิ่งที่เขาเผชิญมากว่า 1 ปีครึ่ง และอยากบอกกับรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งที่กลุ่มคนอาชีพกลางคืนต้องการมากที่สุด ณ เวลานี้อาจไม่ใช่เงินเยียวยาจากรัฐบาล แต่เป็นการได้กลับมาทำงาน ได้กลับมาเปิดร้านตามปกติ เราทุกคนต่างเข้าใจว่าสถานการณ์มันแย่ มันไม่ดี แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ เราอยากส่งเสียงให้สังคมและรัฐบาลได้ยินว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่ต้นเหตุของการติดเชื้อ แต่เกิดจากการไม่เว้นระยะห่าง โดยเราพร้อมทำตามมาตรการหรือเงื่อนไขทุกอย่างที่รัฐกำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เรายินดีถึงแม้ว่าจะมีการลดปริมาณการรับลูกค้า ข้อจำกัดเรื่องเวลา เพียงขอแค่ให้เราได้กลับมาทำงาน ได้กลับมามีรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นปกติ

“อยากให้รัฐมองเห็นความสำคัญของอาชีพคนกลางคืนบ้าง อยากให้มองว่าธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างเม็ดเงินขับเคลื่อนให้กับประเทศไม่น้อยในช่วงก่อนหน้า ไม่อยากให้มองเหล้า สุรา ผับ บาร์ ในมิติสิ่งอบายมุขเพียงอย่างเดียว”

“ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะสามารถกลับมาลืมตาอ้าปากเหมือนธุรกิจอื่นๆ ได้เมื่อไหร่ เราพร้อมเสมอในการกลับมาทำงาน ตอนนี้เรารอเพียงแค่ประกาศจากรัฐบาลว่าให้เปิดกิจการได้ เราพร้อมที่จะเปิดวันนี้พรุ่งนี้เลยในทันที ซึ่งมันคือความหวังที่ริบหรี่ของพวกเราคนประกอบอาชีพกลางคืนในทุกๆ วัน”

แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร แต่อย่างน้อย การพิจารณาที่จะเกิดขึ้นภายในวันที่ 1 ธันวาคม คงเป็นสิ่งที่กลุ่มคนทำงานกลางคืนภาวนาให้เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่พวกเขาเฝ้าคอยมาตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่ง หวังว่าจะเป็นสัญญาณที่จะกลับมาประกอบอาชีพ กลับมาทำงาน และคงเป็นความหวังให้พวกเขาค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image