จับเข่าคุยกับ “โน้ต” วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ เมื่อ “NFT” คือความหวังใหม่ของแวดวงศิลปะโลก

ในยุคที่ผู้คนตื่นตัวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี่ ศิลปินจำนวนมากค้นพบ ว่ามีช่องทางสำหรับขายงานศิลปินรูปแบบใหม่ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ NFT ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตให้ ศิลปินลืมตาอ้าปากได้ เพียงแค่ขายงานได้ชิ้นเดียวเท่านั้น 

ในฐานะนักสะสมงานศิลปะ โน้ต – วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ เจ้าของแกลเลอรีศิลปะย่านทองหล่อ Palette Artspace เป็นอีกคนที่ศึกษาเรื่องนี้ และมองเห็นเช่นกันว่านี่คือความหวังใหม่ของแวดวงศิลปะไทย ที่ช่วยให้สามารถทำงานที่รักได้อย่างมั่นคงได้ โดยไม่ต้องไส้แห้งอีกต่อไป!

เผางานศิลปะสะเทือนโลกทั้งใบ

NFT (Non-Fungible Token) คือหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เมื่อนำมาใช้บนเทคโนโลยีบล็อคเชน จะสามารถแสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ ได้ 

Advertisement

จริงๆ แล้ว NFT เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014 แต่เพิ่งเป็นกระแสไปทั่วโลกช่วงเดือนมีนาคม 2021 เมื่อศิลปินอินดี้นามว่า แบงค์ซี่ (Banksy) จุดไฟเผางานศิลปะของตัวเองทิ้ง ให้เหลืออยู่แต่งานออนไลน์ ในรูปแบบ NFT เท่านั้น สร้างกระแสสั่นสะเทือนวงการศิลปะทั่วโลกว่า ทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ!?

วัจนสินธุ์ ก็หันมาสนใจ NFT เพราะการเผางานของ แบงค์ซี่ เช่นกัน จึงลองศึกษาอย่างจริงจัง แล้วพบว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจ และช่วยให้คนทำงานศิลปะสามารถขายงานให้กับผู้คนทั่วทั้งโลกได้ และมันมีคุณค่ามากกว่าการเป็นไฟล์ดิจิทัลธรรมดาๆ

“คนอาจจะคิดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีค่า เพราะใครๆ ก็สามารถก็อปปี้ เซฟเก็บเป็นรูปได้ แต่คุณสมบัติของ NFT คือมันจะมีคุณค่าด้วยตัวมันเองในระบบบล็อคเชน มันจะไม่มีทางหายไป และมีข้อมูลระบุชัดเจนว่านี่คืองานที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก” นักสะสมงานศิลปะยืนยัน

Advertisement

NFT ทำอย่างนี้ก็ได้ด้วย!

NFTไม่ได้มีแต่การซื้อขายงานศิลปะจำพวกภาพวาดภาพเขียนวัจนสินธุ์เล่าว่าในโลกออนไลน์ยังสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ได้อีกหลายรูปแบบ ไล่ตั้งแต่การซื้อขายเพลงจากนักร้อง-นักแต่งเพลงชื่อดังได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง 

ขณะเดียวกันแฟนกีฬาบาสเก็ตบอล ก็ยังสามารถสะสม ‘โมเมนต์’ หรือคลิปสั้นๆ ของนักบาสเก็ต บอล  NBA ขณะทำแต้มผ่านแพลตฟอร์มของ NBA Top Shot ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาลหากเปิดได้ ‘โมเมนต์’ สวยๆ ของนักกีฬาเกรดเอ ไม่เพียงเท่านั้น ยังไปไกลถึงขั้นสามารถ ซื้อขายที่ดินออนไลน์ เพื่อนำมาใช้ในโอกาสต่างๆ ได้อีกด้วย 

อีกสิ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือเกม เกิดระบบที่เรียกว่า ‘Play to Earn’ หรือยิ่งเล่นเกมก็ยิ่งได้ เงินเยอะ และสามารถนำงินที่ได้จากเกมมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วย ปัจจุบันเกมเหล่านี้สามารถ เปลี่ยน ทัศนะของใครต่อใครจากที่เคยคิดว่าการเล่นเกมเป็นเรื่องเสียเวลาและไม่มีประโยชน์ได้อย่างทันควัน

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้งาน NFT ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ในอนาคต วัจนสินธุ์เชื่อว่า มันยังเปิดกว้าง และเกิดสิ่งแปลกใหม่ได้อีกมากมาย “ผมได้ยินว่ามีคนกำลังเริ่มทำเป็น e-Book เป็น NFT และเริ่มมีงานวิดีโออาร์ตด้วยแล้ว ไม่แน่ว่าอีกหน่อยคนทำหนังก็อาจทำ NFT ด้วยก็เป็นได้ครับ” วัจนสินธุ์ย้ำ

มูลค่าสูง คุณค่าทางใจสูง 

หากใครติดตามการซื้อขายผลงานศิลปะ NFT จะพบเห็นอยู่บ่อยๆ ว่ามีผู้ขายงานศิลปะ ในราคาสูง ปรี๊ด แต่สามารถขายออกได้เรื่อยๆ วัจนสินธุ์อธิบายว่าหลักการขายงานใน NFT ไม่ซับซ้อน 

“หากงานชิ้นนั้นมีคุณค่าทางใจต่อผู้ซื้อ ไม่ว่าจะตั้งราคาแพงแค่ไหนมันก็อาจไม่ได้แพงจนเกินไป”

ทั้งนี้งานที่จะพบเห็นได้บ่อยๆ อาจเป็นงานวาดตัวละครจากภาพยนตร์ หรือการ์ตูนที่ชื่นชอบ “แต่นั่นไม่ ใช่แนวทางของผม” วัจนสินธุ์เผย “ผมจะชอบนำเสนองานในรูปแบบของตัวเองมากกว่า พอคนเห็นคนชอบเขา ก็จะสนับสนุน วิธีนี้อาจได้ผลช้าหน่อย แต่ผมชอบมากกว่า”

วัจนสินธุ์ เล่าว่าในฐานะนักสะสมงานศิลปะ เขาชอบซื้องานของผู้อื่นมาเก็บไว้ดูและชื่นชม มากกว่า การขายผลงานของตัวเอง 

“เวลาผมเห็นศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบดั้งเดิมอยู่แล้วมาทำ NFT ผมจะซื้องานของเขาเลย อีกแบบ คือผมจะอุดหนุนงานของศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งทำ NFT เป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุน ให้พวกเขา มีกำลังใจ อยากทำงานต่อไป”

นิทรรศการออนไลน์ที่เข้าถึงคนทั่วทุกมุมโลก

หลังศึกษาว่า NFT มีลูกเล่นมากมายให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานได้แบบไร้ลิมิต ในฐานะเจ้าของ แกลเลอรี ศิลปะ วัจนสินธุ์ ยังถือโอกาสนี้จัดแสดงงานศิลปะในรูปแบบ NFT เริ่มที่งาน 2D Afterlife นิทรรศการจากศิลปนิพนธ์ของ จิณห์นิภา นิวาศะบุตร นิสิตชั้นปีที่ 4 วิชาเอกจิตรกรรม สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดแสดงภาพวาด สีน้ำมันของตัวการ์ตูนจาก การ์ตูนญี่ปุ่นที่เสียชีวิตไปกลางทาง เพื่อให้ผู้คนได้มาเคารพศพตัวละครที่รักผ่านโลกออนไลน์

จริงๆ แล้ว งานนี้เคยจัดขึ้นที่ Palette Artspace เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีผู้เดินทาง มาเข้าชมกว่า 300 คน แต่พอย้ายมาบนออนไลน์ จำนวนผู้เข้าชมนิทรรศการ กลับเพิ่มขึ้นนับหมื่นคน แถมยังดึงดูดผู้คนมาจากทั่วทุกมุมโลก!

“พอมันอยู่ในโลกออนไลน์ ใครๆ ก็มาดูได้ เลยเกิดการแชร์กันปากต่อปาก จนเข้ามาดูงานเป็น หมื่นคน แล้วไม่ได้มีแค่คนกรุงเทพ แต่ยังมีคนต่างจังหวัด ไปจนถึงคนต่างชาติ เราได้ผู้ชมจากจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ยุโรป อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ แม้กระทั่ง Yahoo Japan ยังทำข่าวชื่นชมด้วยความภูมิใจว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของเขามีอิทธิพลขนาดไหน”

ปัญหาลิขสิทธิ์ตามติดพื้นที่ออนไลน์

เช่นเดียวกันกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เมื่อนำงานศิลปะมาซื้อขายในรูปแบบของ NFT ก็ต้องคำนึงถึงลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้วย แต่ผู้คนอาจไม่ได้คำนึงถึงประเด็นดังกล่าวเท่าที่ควร จนเกิดปัญหา การขโมยรูปจากศิลปินมาขายในนามของตัวเอง 

“สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักสะสม และก่อนจะซื้อผลงาน แต่ละครั้ง ต้องตรวจเช็กให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ซื้อผลงานที่ขโมยมา”

อีกปัญหาที่พบเห็นบ่อยเช่นกัน คือการนำของที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขใหม่

“ใน NFT เราจะเห็นคนวาดคาแรคเตอร์การ์ตูนเยอะมาก ผมยอมรับว่าตรงนั้นมีความเสี่ยง ถ้าวันหนึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์คิดจะฟ้อง เขาทำได้เลย เพราะถือว่าเราไปละเมิดเขา ผมอยากแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้สร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ ชิ้นใหม่ขึ้นมาเลยดีกว่า NFT ช่วยให้ขายงานได้อยู่แล้ว มีโอกาสที่คนจะเห็นมันมากเลยนะในช่วงเวลานี้แน่นอน”

สำหรับนิทรรศการ 2D Afterlife ที่ผ่านมา วัจนสินธุ์ ยืนยันว่างานนี้ดำเนินการถูกต้อง โดยติดต่อ ไปถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ในไทย แจ้งให้ทราบว่าจะมีการจัดนิทรรศการนี้ และเป็นงานที่จัดขึ้น เพื่อการศึกษา ดังนั้นจะไม่มีการขายงานที่จัดแสดงใดๆ และจะไม่มีการใส่โลโก้การ์ตูนแต่ละเรื่องด้วย 

หมั่นศึกษา อย่ากลัวตกรถ

วัจนสินธุ์คาดการณ์ว่าแนวโน้มของ NFT จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ผู้คน สนใจ งานศิลปะมากขึ้น 

“เมื่อก่อนเวลาศิลปินอยากให้คนเห็นงาน ต้องไปหาพื้นที่ ไปติดต่อตามแกลลอรี หรือส่งประกวด แต่พอมี NFT ทุกคนสามารถสร้างงาน แล้วนำเสนอผลงานต่อสาธารณชนได้ง่ายขึ้น มันส่งเสริมศิลปินไทย ให้โกอินเตอร์ได้ด้วย”

สำหรับศิลปินคนไหนที่ยังไม่สนใจ NFT วัจนสินธุ์แนะนำว่าอย่างน้อยก็ควรหาความรู้เอาไว้ดีกว่า เพราะยิ่งรู้เร็ว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อีกหลายประการ

“ช่วงนี้ NFT เพิ่งเริ่มจริงจัง แต่รู้ไว้ก่อนก็ดีนะ ที่ผ่านมาคนไทยใช้เฟซบุ๊ก ใช้แอปพลิเคชันจากต่าง ประเทศ เงินก็รั่วไหล แต่ตอนนี้พอมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา ถ้าเราศึกษาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ มันอาจกลายเป็น ไอเดีย ธุรกิจ ที่ทำให้เงินมันอยู่ในประเทศ หรือเก็บเงินจากต่างประเทศมาก็ได้”

วันที่ 22 มกราคม 2565 วัจนสินธุ์ ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้เสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับ NFT ในงาน Meta Thailand 2022  เพื่อแชร์ประสบการณ์การขายงานใน NFT และความเป็นไปได้อีกมากมาย ที่จะเกิด ขึ้นในอนาคตภายหน้า 

แต่ก่อนจะไปถึงวันงาน หากใครต้องการรู้จัก NFT มากขึ้นกว่านี้ สามารถรับชมนิทรรศการ ออนไลน์ที่ วัจนสินธุ์ ทำขึ้นร่วมกับอาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ความว่างเปล่า” สามารถรับชมผลงานได้ทางช่องทางนี้ https://www.cryptovoxels.com/play?coords=W@60W,656N,15.5F

หรือสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่างนี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image