“ท็อป จิรายุส” แห่งบิทคับ เปิดอนาคตยุค Web 3.0 พลิกโฉมโลกทั้งใบให้อยู่บนดิจิทัล 

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คำศัพท์ต่างๆ ทั้ง เมตาเวิร์ส, เออาร์/วีอาร์, บิ๊ก ดาต้า, เอ็นเอฟที กลายเป็นคำที่สังคมคุ้นหูมากขึ้น และมาพร้อมกับยุคสมัยที่เรียกว่า Web 3.0 แต่หลาย อาจยัง ไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วคำเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร เกี่ยวพันอะไรกับเราในอนาคต และทำไมเราถึงควรรู้เรื่องดังกล่าว 

เพื่อคลายข้อสงสัย ในงาน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE มหกรรม อีสปอร์ตครั้งใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม จึงจัดหัวข้อสุดพิเศษ ขึ้นในวันสุดท้ายของงาน ในชื่อ “What world of Blockchain will be? What will be the impact?” โดยมี ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มาให้ความรู้ พร้อมฉายภาพความเปลี่ยนแปลงและอนาคตของ Web 3.0 ว่า สิ่งดังกล่าวคืออะไร  จะทำให้เกิดโมเดลธุรกิจอะไร ใหม่ๆ บ้าง แล้วมนุษย์จะสามารถทำสิ่งใหม่อะไรได้อีกในอนาคต!

Disruptive Technologies เปลี่ยนพฤติกรรม สร้างโมเดลธุรกิจ 

จิรายุสเริ่มด้วยการชวนตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีตทุกๆ 10 ปี จะเกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้น และเทคโนโลยีดังกล่าว จะกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่เปลี่ยนกฎเกณฑ์พฤติกรรมและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้มนุษย์

Advertisement

หากย้อนไปใน ค.ศ.1990-2000 ทศวรรษดังกล่าวมีสิ่งที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์” ออกมาพร้อมคำว่า Web 1.0 เป็นการสื่อสารทางเดียว ที่ทุกคนเห็นเหมือนกัน แต่ไม่สามารถตอบโต้กันไปมาได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 2000 โลกก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า Web 2.0 มาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานอันใหม่ ที่เรียกว่า “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” เกิดเป็นโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน รวมทั้งเกิดสิ่งที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย มีสัญญาณโทรศัพท์แบบ 4G ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลได้สร้างความแตกต่างจาก Web 1.0 เพราะยุค Web 2.0 ผู้ใช้งานสามารถสื่อสาร โต้ตอบกับคน ทั้ง โลกได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นการสื่อสารสองทาง และมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น 

“ในยุคแรกเราสื่อสารได้เพียงผ่านตัวหนังสือ จนมาสู่การสื่อสารแบบรูปภาพและวิดีโอ จนตอนนี้เราสามารถ ไลฟ์สื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีการไลฟ์คือ ต้นทุนของอินเทอร์เน็ตคงที่ ไม่ว่าจะมีผู้ฟัง 500 คน หรือ 5 ล้านคน ต้นทุนการผลิตในส่วนอินเทอร์เน็ตก็ยังคงเท่าเดิม 

Advertisement

“ในทางกลับกัน ถ้าผมพูดในห้องประชุมต่อหน้าคน 50 คน หรือ 500 คน ผมก็ต้องขยายห้องเพิ่ม เพราะใน โลกความเป็นจริงต้นทุนมันโต ขณะที่โลกออนไลน์ต้นทุนดังกล่าวยังคงเท่าเดิม นั่นเป็นข้อดีของ Web 2.0 

“แต่ข้อเสียคือ ใน 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือกูเกิล เขามีอิทธิพลมากต่อผู้ใช้ อินเทอร์เน็ต เพราะว่าฐานข้อมูลที่เขาได้จากการใช้งานจากผู้ใช้ เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวบริษัท ซึ่งสามารถ นำไปขายต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้” จิรายุส บอก แล้วยกตัวอย่างว่า หากเรากำลังสนใจรองเท้า และ ใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นหาข้อมูล เพียงไม่นานเราก็จะพบโฆษณารองเท้าเต็มไปหมดบนโซเชียลมีเดีย ที่มาคอย หลอกหลอนผู้ใช้งาน สิ่งดังกล่าวเรียกว่าการ abuse data ของลูกค้า โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของดาต้า 

ข้อเสียถัดไปของ Web 2.0 คือบริษัทต่างๆ จะไม่แชร์ฐานข้อมูลร่วมกัน อาทิ เฟซบุ๊กจะไม่มีทางแชร์ข้อมูล กับกูเกิล กลายเป็นข้อจำกัดของการพัฒนา ที่ต้องพึ่งพาบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากจนเกินไป  และข้อเสียประการสำคัญ ของ Web 2.0 คือรูปแบบของอุปกรณ์ อย่างโทรศัพท์มือถือที่มีขนาดเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ กลายเป็นข้อจำกัดของ ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตไปโดยปริยาย

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดกลายเป็นอดีตไปแล้ว มันกำลังจะเปลี่ยนไป ตั้งแต่ปี 2000-2020 เพราะโลกของเราไม่ได้พัฒนาแบบเส้นตรง แต่เป็นการพัฒนาแบบเลขยกกำลัง การมาของ Web 3.0 คือการ มาของแพ็คเกจของเทคโนโลยีที่เข้ามาพร้อมๆ กัน โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นเทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์ รวมถึงเมตาเวิร์ส” ผู้ก่อตั้งบิทคับ กล่าว 

จากสังคมก้มหน้า สู่สังคมสวมแว่นดิจิทัลใน Web 3.0 

หลายคนคงยังสงสัยว่า เทคโนโลยีเออาร์ (Augmented reality-AR) กับวีอาร์ (Virtual Reality-VR) ต่างกันอย่างไร 

เรื่องนี้ จิรายุสยกตัวอย่างหนึ่งในโปรเจกต์แว่นตาของเฟซบุ๊ก ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ แว่นตาชื่อดังอย่าง เรย์แบน ที่สร้างแว่นตาพิเศษที่ตัวเลนส์ถูกออกแบบเป็นเลนส์ดิจิทัล ทำให้เราสามารถอยู่ในโลกจริง แต่สามารถ เสพดิจิทัล คอนเทนต์ ได้พร้อมๆ กัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่า เออาร์ ซึ่งจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน จากเดิมที่เรามัก ได้ยินคำเปรียบเปรยเชิงเสียดสีที่ว่า “สังคมก้มหน้า” คำดังกล่าวจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “สังคมใส่แว่นตา” ไปใน ท้ายที่สุด

ในอนาคตอันใกล้นอกจากแว่นตาเออาร์ ยังมีแว่นอีกแบบหนึ่งที่มีชื่อว่า วีอาร์ เป็นโลกเสมือนที่เราสามารถ เป็นใครหรืออยากมีหน้าตาแบบไหนก็ได้บนโลกออนไลน์แห่งนั้น แต่หากถามว่า แล้วโลกเสมือนกับโลก แห่งความ เป็นจริงจะสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร คำตอบคือ สามารถเชื่อมต่อกันบนเมตาเวิร์สที่กำลังพัฒนาในปัจจุบัน 

และภายใน5ปีข้างหน้าเรายังสามารถใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมเพื่อพูดคุยกับทุกคนบนโลกได้เลยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนได้ด้วย 

พลิกโฉมโลกด้วย Web 3.0

จิรายุสบอกว่า การมาของเทคโนโลยีที่เรียกว่า บล็อกเชน, เอ็นเอฟที, ประสบการณ์ 3 มิติ ในปัจจุบันได้  กลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของ Web 3.0 ไปแล้ว แต่หากถามว่า การมาของ Web 3.0 จะสร้างความแตกต่าง ได้อย่างไรต่อสังคมมนุษย์ คำตอบดังกล่าว ต้องชวนย้อนไปสังเกตการเกิดขึ้นของ Web 1.0 และ Web 2.0 ที่มักเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขอดีต ที่เป็นข้อจำกัดและข้อเสียของเทคโนโลยีในยุคที่ผ่านมา เช่น ยุค Web 2.0   ข้อเสีย คือบริษัทใหญ่ๆ ไม่แบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้งาน ทำให้กระบวนการพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น ผนวกกับประสบการณ์การ ใช้ อินเทอร์เน็ตก็เล็กเกินไปในกล่องสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่าโทรศัพท์มือถือ จนกลายเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยี ที่ทำได้ เพียงการมอบประสบการณ์ 2 มิติ ให้ผู้ใช้งาน

ทว่าเมื่อ Web 3.0 เกิดขึ้น จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า data interoperability และ decentralized web คือ ไม่มีบริษัท ใดบริษัทหนึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลแบบรวมศูนย์อีกต่อไป ทำให้เทคโนโลยีเอไอจะเข้ามามีส่วนร่วมในการนำข้อมูลไปใช้ เพื่อวิเคราะห์และสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้ผู้ใช้งาน เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น อาทิ แว่นตาอัจฉริยะ ถุงมืออัจฉริยะ หรือแม้กระทั่งการสร้างทีวี ที่สามารถสร้างรสชาติให้ผู้ชมได้ลิ้มลองขณะรับชมได้

ประการต่อมา Web 3.0 จะทำให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของอินเทอร์เน็ต เป็นเจ้าของระบบ เศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกันได้ ผ่านการถือ protocol token ยกตัวอย่าง เหรียญ ETH (อีเธอร์) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่สามารถสร้าง ความ เปลี่ยนแปลงต่อโลกได้อย่างมหันต์ อาทิ การขอกู้เงินได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวกลาง หรือที่เราเรียกว่า DeFi (Decentralized Finance) เกิดการระดมทุนโดยที่ไม่ต้องมีตัวกลาง ที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) ผ่านการใช้ smart contract

“เราสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านธนาคารกลาง ด้วย Decentralized Exchange Protocol ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้น และจะพัฒนาต่อไปในอนาคตในรูปแบบ decentralization ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทใดบริษัทหนึ่ง” 

NFT ประตูสู่ Open Financial Web

ผู้ก่อตั้งบิทคับ ยังพูดถึงประเด็นฮอตอย่างเรื่องเอ็นเอฟที (Non-Fungible Token-NFT) แต่ก่อนจะกล่าวถึง รายละเอียด เขาขอยกตัวอย่างสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทุกคนต่างรู้จัก อย่าง เหรียญ BTC (บิทคอยน์) หรือเหรียญ ETH โดยเหรียญดังกล่าวนับเป็น fungible token หรือโทเคนที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะตัว อาทิ เหรียญ 1 บาท ทอง 1 บาท ทุกชิ้นมีลักษณะที่เหมือนกัน มีมูลค่าที่เท่ากัน เหรียญไหนก็สามารถใช้แทนกันได้

แต่เอ็นเอฟทีจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีลักษณะไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ ที่ถูกอัปโหลดบนบล็อกเชน โดยที่เราสามารถกำหนดให้สินทรัพย์ดังกล่าวมีจำนวนจำกัดได้ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า blockchain digital scarcity ทำให้เราสามารถอัปโหลดสินค้าของเราให้กลายเป็นเอ็นเอฟที ที่มีชิ้นเดียวในโลกได้ เพื่อสร้างมูลค่าให้สิ่งของรอบตัวได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบน Web 2.0 

จิรายุสบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นก้าวสำคัญ ที่เราจะสามารถก้าวเข้าสู่ open financial web ที่จะทำให้มูลค่า ของสิ่งของทุกชนิดกลายเป็นดิจิทัลเอ็นเอฟทีเงินจะไม่ใช่กระดาษอีกต่อไปเหมือนเพลงที่ไม่ได้เล่นจากเทปเหมือนในอดีต  

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบิทคับบอกด้วยว่า ในยุค Web 1.0 และ Web 2.0 เรามักพูดกันอยู่แค่สองคำคือ globalization ที่มีความหมายถึงการเคลื่อนที่ของผู้คนอย่างอิสระ และ digitalization ที่มีความหมายถึงข้อมูลที่ไหลเวียนอย่างอิสระ 

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน Web 3.0 คือการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น เกิดเป็นคำใหม่คือ tokenization พอเรามีทั้งสามอย่าง เราจะมีสิ่งที่เรียกว่าดิจิทัล อีโคโนมี อย่างเต็มตัว ทำให้เราใช้เวลาอยู่ในโลกดิจิทัลมากกว่าโลกจริง สินทรัพย์ต่างๆ จะเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่าง play to earn เล่นเกมให้ได้เงิน หรือ exercise to earn ออกกำลังกายแล้วได้เงิน 

“ฟังดูอาจเป็นเรื่องตลก ถ้าตอนนี้เราสามารถเล่นเกมแล้วได้เงิน ออกกำลังกายแล้วได้เงิน ดูโฆษณาแล้วได้เงิน แต่ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นแล้ว อย่าลืมว่าการมาของเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การทำธุรกิจอย่าง มหาศาล  ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน หากเราบอกคนอื่นว่าเราจะสามารถแชร์บ้านให้คนแปลกหน้าได้แล้ว คนยุคก่อน หน้าคงมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 

“จนกระทั่งมือถือและอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น สิ่งดังกล่าวได้เปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจอย่างสิ้นเชิง เกิดสิ่งที่เรียกว่า Airbnb เกิด Grab หรือ Uber ที่กลายเป็นอู่รถแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเราไม่จำเป็นต้องมีรถของตัวเอง หรือ แม้กระทั่ง YouTube ที่กลายเป็นช่องทีวีที่มีรายการมากที่สุดของประเทศไทยโดยไม่จำเป็นต้องมีรายการของตัวเอง” 

ทั้งหมดคือโลกแห่ง Web 3.0 ที่จิรายุสเห็นว่า คือโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อ ธุรกิจและต่อโลก ได้อย่างมหาศาล 

งาน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE นอกจากจะเป็นเวทีการแข่งขัน อีสปอร์ต ครั้งใหญ่ระดับประเทศ ยังเต็มไปด้วยเวทีทอล์กสุดเอ็กซ์คลูซีฟในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับโลกอนาคต ที่เหล่าวิทยากร มากความสามารถจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีบทบาทขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย ได้มาร่วมแบ่งปัน ประสบการณ์ เสนอมุมมองใหม่ๆ ให้ทุกคนได้เห็นถึงบริบทการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ให้ได้เข้าใจถึงความ เปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น 

แม้ว่างาน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE  จะสิ้นสุดลง แต่เนื้อหาสาระดีๆ ยังไม่จบไปด้วย ติดตามรับชมข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ได้ทาง https://www.metathailand.io/ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/metathailand2022/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image