‘สสส.’ รุกสร้างสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อ ชู 4 แนวทาง 3 คาถา นำ ‘วัยเก๋า’ ใช้สื่อเป็น

    ทุกวันนี้ ‘สื่อออนไลน์’ ไม่ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตที่จำกัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่เป็นโลกใบใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจในกลุ่ม ‘ผู้สูงวัย’ ด้วยเช่นเดียวกัน 

    ทว่านอกเหนือจากข่าวสารและสาระความรู้ต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ ยังมีภัยที่ทำให้ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องกลายเป็นเหยื่อจากสารพัดเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพ เหตุผลสำคัญนั่นคือ ยังขาดทักษะการใช้สื่อและบริโภคข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน มีการส่งต่อข้อมูลและภาพโดยไม่ทันกลั่นกรอง หรือตรวจความถูกต้องก่อน ผู้สูงวัยจึงมักเป็นเหยื่อของข่าวปลอมและการหลอกลวงโดยไม่รู้ตัว

    การสร้างภูมิต้านทานด้านสื่อให้ผู้สูงวัย จึงเป็นหนึ่งในวิธีพื้นฐานที่จะทำให้ผู้สูงวัยรับส่งข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย

Advertisement

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท ทำมาปัน จำกัด และ ภาคีเครือข่ายสูงวัยรู้ทันสื่อ 12 จังหวัด จึงผนึกกำลังจัดตั้ง ‘ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ’ ในบันทึกข้อตกลง ‘สร้างสังคมผู้สูงวัย รู้ทันสื่อ’ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานสร้างสังคมผู้สูงวัยรู้ทันสื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำไปสู่การสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะที่ยั่งยืน

    นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ ให้ข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ข้อมูลปี 2564 พบว่า ผู้สูงอายุเปิดรับสื่อออนไลน์มากที่สุด เมื่อเทียบกับสื่ออื่น ๆ จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากสื่อออนไลน์มีพัฒนาการที่ซับซ้อนมากที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้สูงอายุจะก้าวทันตามสื่อได้ทัน

Advertisement

    “ด้วยเหตุนี้ ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยเพื่อรับมือ และมีเทคนิคติดตามสื่อ สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อ มุ่งพัฒนาระบบ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเครื่องมือ เพื่อสร้างเป็นหลักการพื้นฐานของการรู้ทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ”

    นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องสร้างเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มผู้สูงวัย เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถปฏิเสธอิทธิพลของสื่อออนไลน์ ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว

    “สสส. มุ่งเน้นเสริมพลังประชาชนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดีได้”

    สำหรับยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. นั้น นางญาณีบอกว่า มุ่งพัฒนา ‘คน’ และ ‘ปัจจัยแวดล้อม’ เป็นเครื่องมือสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่มีความสมดุล จัดการความรู้ และสร้างเครื่องมือที่สามารถนำไปยกระดับการทำงาน และการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติที่แท้จริงได้ เป็นที่มาของการบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ 

    นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้สูงวัยว่า ข้อมูลปี 2564 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ผู้สูงวัยอายุ 57-73 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 21 นาทีต่อวัน ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผู้สูงอายุต้องงดเว้นกิจกรรมรวมกลุ่ม การใช้สื่อออนไลน์จึงมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น

    “ความเสี่ยงมากที่สุดของผู้สูงอายุเมื่ออยู่กับสื่อออนไลน์ คือ โอกาสที่จะได้รับข่าวลวง และยังส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากที่สุด ซึ่งกรมกิจการผู้สูงอายุ มีความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและภูมิคุ้มกันการใช้สื่อดิจิทัลในผู้สูงอายุ จึงมีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ”

ขณะที่ นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษากลุ่มคนตัว D บริษัท ทำมาปัน จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า กลุ่มคนตัว D ขับเคลื่อนงานสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ ตั้งแต่ปี 2562 โดยร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่ายอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งล่าสุดปี 2565 ได้พัฒนาเครื่องมือ ‘คาถาสูงวัย รู้ทันสื่อ’ ขึ้นมา เพื่อเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการความรู้ด้านสื่อของผู้สูงวัย

    “สำหรับเครื่องมือคาถาสูงวัย รู้ทันสื่อ ประกอบด้วย 3 ข้อ คือ 1.จำเป็นหรือไม่? 2.หาข้อมูลเพิ่มเติม และ 3.เดือดร้อนตัวเองและคนรอบข้างหรือไม่? เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์สื่อ รับสื่อ และใช้สื่ออย่างปลอดภัย ตอบโจทย์บริบทการใช้สื่อในแต่ละพื้นที่ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อบุคคล ถือเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงและเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์”

    ทั้งนี้ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ได้กล่าวย้ำถึงความร่วมมือ และแนวทางการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงวัยครั้งนี้ด้วยว่า เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย ซึ่งแนวทางส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มผู้สูงวัย สสส. ได้แบ่งออกเป็น 4 ข้อสำคัญ คือ 

  1. พัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ คือ รอบรู้ด้านสุขภาพ ขยายผลเกิดเป็นเครือข่ายอาสาสูงวัยเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ 
  2. พัฒนากลไกการทำงานระดับพื้นที่ปฏิบัติการ คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ กลไกเฝ้าระวังสื่อ เพื่อการใช้สื่ออย่างปลอดภัย ไม่ถูกหลอกลวง 
  3. สนับสนุนการจัดการความรู้ งานวิชาการ เครื่องมือ และหลักสูตร ที่สอดคล้องกับบริบทการบริโภคสื่อของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหมายรวมถึงการจัดตั้ง ‘ศูนย์วิชาการด้านความรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ’ ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นศูนย์รวมความรู้ (Knowledge Hub) เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทยให้เป็นไปด้วยความยั่งยืน 
  4. พัฒนาการสื่อสาร สร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และสื่อสารต่อสาธารณะ สร้างการรับรู้ประเด็นผู้สูงอายุกับการรู้เท่าทันสื่อ 

    “ความร่วมมือครั้งนี้ เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้การใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยในผู้สูงวัย ให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และที่สำคัญยังเป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่อง ‘คัด-กรอง’ ข่าวสารในผู้สูงวัยได้อีกด้วย” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image