สสส. ผนึกภาคีสร้างสุข ร่วมเคลื่อนเป้าหมาย‘อาหาร-สุขภาพ-มนุษย์-สิ่งแวดล้อม’มุ่งสู่ภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน
ท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนกำลังตื่นตัวและตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่ส่งผลพวงในทุกมิติ การส่งเสริมสร้างสังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืนผ่านการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี และสุขภาพที่ดี จำเป็นต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ จึงสานพลังภาคี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิด ต่อยอดสู่การขับเคลื่อนสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะ ภายใต้งาน สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 ขึ้น
เวที ‘สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13’ หรือ ‘ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ’ ได้รับการสานพลังจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันความมั่นคง 4 ด้าน คือ อาหาร สุขภาพ มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เน้นย้ำถึงความสำคัญของเวทีสร้างสุขภาคใต้ ว่า ยุคที่การเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง และต้องขับเคลื่อนตลอดเวลา เวทีนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ประชาคมสร้างเสริมสุขภาวะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลของการดำเนินการในปีที่ผ่านมา และสานต่อด้วยการบูรณาการการทำงานด้วยการเน้นพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ภายใต้แกนหลักทั้ง 4 ประเด็น ทั้งเรื่องอาหาร สุขภาพ มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดแข็งของภาคใต้ที่ใช้เวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนด้านสุขภาวะของประชากรในพื้นที่ บนความท้าทายของ Digitalization ในปัจจุบัน
นอกจากบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ก้าวสู่โลกดิจิทัลแล้ว ปัจจัยและแนวโน้มสุขภาพของคนไทยในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งด้านสังคม โครงสร้างประชากร สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ความเป็นเมือง เศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงโรคระบาด มีผลให้อันดับการเกิดโรคและการเสียชีวิตเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งสำคัญคือ การเกิดโรคที่ส่งผลต่อสุขภาวะไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่มาจากสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
“ในอีก 10 ปี โรคที่เสี่ยงเกิดกับคนใต้มากที่สุด คือ โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน มะเร็งตับ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง กล่าวง่ายๆ คือ เป็นกลุ่มโรค NCDs ขณะที่พฤติกรรมเสี่ยงยังอยู่ในเรื่องการสูบบุหรี่ สถานการณ์เด็ก ปัญหามลภาวะ ยังมีตัวเลขที่พุ่งสูงอยู่ ซึ่งต้องอาศัยภาคีเครือข่ายสร้างสุขภาพขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน”
ผู้จัดการกองทุน สสส. บอกอีกด้วย ว่า ปัจจุบันเราเข้าถึงสื่อเข้าได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นแล้วนักสร้างสุขภาวะต้องรู้เท่าทันทุกวิธีการสื่อสาร ผ่านการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งตลอด 13 ปีของการสร้างสุขภาคใต้ สสส. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งด้านความรู้ การสื่อสาร และการจัดการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม แนวทางการแก้ปัญหาให้ลุล่วง
“เวทีนี้ จะเป็นพื้นที่ที่จะได้ร่วมสร้างค่านิยม ขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์เชิงรุกและรับ ขับเคลื่อนหลากหลายประเด็นตามบริบทของพื้นที่ นำสู่การผลักดันนโยบาย และเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืน” ดร.สุปรีดา เล่า
ด้าน นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะทำงานการจัดสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 บอกว่า การจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งนี้ เป็นการยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบายภาคใต้ 4 ประเด็นความมั่นคง ผ่านการดำเนินการขับเคลื่อนที่เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งสำคัญ คือ ภาคีระดับท้องถิ่นจะต้องเป็นหน้าด่านสำคัญ หยิบยกประเด็นปัญหามาขับเคลื่อน ดูแล ตลอดทั้งการนำเสนอเพื่อสะท้อนให้เกิดการพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ เชื่อมโยงเครือข่าย สานและเสริมพลัง และยกระดับแผนการขับเคลื่อนให้ถูกบรรจุเป็นวาระสำคัญของประเทศ
“แนวทางการขับเคลื่อนเหล่านี้ ต่างเป็นภารกิจของท้องถิ่นที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของมนุษย์ทั้งหมด เพื่อส่งเสริมการต่อยอดในระดับที่ใหญ่ขึ้น ท้องถิ่นสามารถหยิบยกประเด็นหลัก ทั้ง 4 แกน มาขับเคลื่อนได้ทันที ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้นนั่นเอง” นายก อบจ.ปัตตานี พูดหนักแน่น
ส่วน ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. พูดเสริมว่า การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างภาคี กับ สสส. โดยอาศัยแนวทาง ‘Together We Can’ ร่วมกันเราทำได้ คือ เกิดกลไกเชื่อมการทำงาน เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคี และเสริมสมรรถนะการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ‘ภาคใต้แห่งความสุข’
เมื่อเป็นงานที่ใหญ่จำเป็นต้องวางกลไกการขับเคลื่อนให้เป็นระบบ ด้วยการขับเคลื่อนให้เกิดกองทุนส่งเสริมสุขภาวะระดับจังหวัดทั้งภาคใต้ หรือการดึงภาคีกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเกิดมิติใหม่มากขึ้น ซึ่งจะก้าวไปสู่การพัฒนาศักยภาพภาคีให้เข้มแข็ง สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารออกไปในทิศทางที่กว้างมากขึ้น
“วันนี้กองทุนฯ มีการนำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด ประกอบด้วย กองทุนร่วมเสมือนใน 3 จังหวัด คือ สตูล ปัตตานี และพัทลุง เกิดการแลกเปลี่ยนยกระดับให้ 3 จังหวัดนี้ มีกระบวนการทำงานที่รวดเร็วขึ้น ขณะที่ สงขลา มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถนะของ สปสช. นั่นหมายความว่า ภายในปีนี้ ทั้ง 4 จังหวัดจะเป็นต้นแบบที่จะคอยผลักดันให้จังหวัดอื่นๆ มีกองทุนระดับจังหวัดเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะนำภาคใต้เดินหน้าสู่ภาคใต้แห่งความสุข เพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตต่อไป” ดร.ณัฐพันธุ์ เสริม
งาน ‘สร้างสุขภาคใต้’ นับเป็นเวทีที่ไม่เพียงสะท้อนพลังการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของภาคใต้เท่านั้น หากยังฉายให้เห็นภาพแห่งอนาคตที่ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันเชื่อมโยงเป็นภาคีเครือข่าย เสริมพลังสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วม เตรียมเครือข่ายให้มีความพร้อมสามารถปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. สรุปให้ฟังว่า
“การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ จะไม่สามารถเดินด้วยตัวคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีมิติอื่นๆ เข้ามารวมพลังกัน ภายใต้การคำนึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเป้าหมายต่างๆ ทั้งยังรวมไปถึงการอาศัยกระบวนการคิดและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อแก้ปัญหาและสร้างค่านิยมนโยบายไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน”