สธ.ยันไม่มีวัคซีน แอสตร้าฯให้ฉีดแล้ว รับรู้ข้อมูลลิ่มเลือดอุดตัน ก่อนแล้ว ให้ปรับใช้เหมาะสม

สธ.ยันไม่มีวัคซีน แอสตร้าฯให้ฉีดแล้ว รับรู้ข้อมูลลิ่มเลือดอุดตัน ก่อนแล้ว ให้ปรับใช้เหมาะสม

จากกรณีที่ อินดิเพนเดนท์ รายงานว่าในคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักร ถึงผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนโควิด-19 โดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้น

ขณะที่ บริษัทแอสตร้าฯ โต้แย้งข้อกล่าวอ้างเหล่านั้น แต่ก็ยอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารของศาลฉบับหนึ่งว่า วัคซีนสามารถทำให้เกิด TTS หรือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้ในบางกรณี นอกจากนั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีวัคซีนแอสตร้าฯ หรือวัคซีนใดๆ สาเหตุในแต่ละกรณีจะเป็นเรื่องของหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการยอมรับของแอสตร้าฯ ครั้งนี้ ขัดแย้งกับคำยืนกรานของบริษัทในปี 2003 ที่ว่า ไม่ยอมรับว่า TTS เกิดจากวัคซีนในระดับทั่วไป

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนโควิด-19 โดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า นั้น จริงๆ ทางบริษัทฯ ก็ได้มีการแจ้งข้อมูลที่เป็นวารสารทางการแพทย์ออกมาตั้งแต่ในช่วงที่มีการอนุญาตในลักษณะฉุกเฉิน (EUA) แต่ในขณะนี้มีการอนุญาตใช้โดยทั่วไปแล้ว จึงมีการเก็บข้อมูลผลข้างเคียงในลักษณะที่เป็นหลักฐาน รวมถึงมีเรื่องของการฟ้องร้องดังกล่าวด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อมีคำแนะนำหรือข้อมูลทางวิชาการออกมา กระทรวงสาธารณสุข ก็นำคำแนะนำนั้นมาปรับในแนวทางการให้วัคซีน เช่นที่บริษัทแอสตร้าฯ มีข้อมูลการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย สธ.ก็ออกคำแนะนำให้ฉีดในกลุ่มผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป

“ข้อมูลการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมีการเปิดเผยมาตั้งแต่ช่วงที่วัคซีนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งทางบริษัทฯ เองก็มีการนำเสนอข้อมูลนี้ให้กับทุกประเทศที่ใช้วัคซีนรวมถึงไทยด้วย ซึ่งในขณะนั้นเขาระบุว่ามีการพบและสงสัยว่าอาจจะเกี่ยวข้องกัน จึงมีการระวังและลดใช้ในระยะหลัง ซึ่งประเทศไทยก็มีการเก็บข้อมูลผลข้างเคียงหลังการรับวัคซีนทุกชนิด ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมควบคุมโรคและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” นพ.สุรโชคกล่าว

นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ในการใช้ยารวมถึงวัคซีน จึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามผลหลังจากการรับยานั้นๆ ซึ่งการฉีดวัคซีนก็เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่จะต้องติดตามและรายงานผล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลังจากมีการใช้วัคซีนทุกชนิดทั้งโควิด-19 และวัคซีนโรคอื่นๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้น 1-2 ปี ก็เริ่มเห็นข้อมูลมากขึ้น ก็จะมีการออกคำแนะนำและเฝ้าระวังมากขึ้น

Advertisement

เมื่อถามว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนแอสตร้าฯ สำรองอยู่เท่าไหร่ นพ.สุรโชคกล่าวว่า ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เราได้ซื้อมาไปจนหมดแล้ว และไม่ได้มีการจัดซื้อจัดหาเพิ่มเติมในปีนี้ ดังนั้น วัคซีนที่ประเทศไทยมีฉีดในตอนนี้คือไฟเซอร์และโมเดอร์น่า

ถามต่อว่าเมื่อมีข้อมูลออกมา จะส่งผลต่อความกังวลในการรับวัคซีนหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงสูง นพ.สุรโชคกล่าวว่า ในผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนทุกชนิดต่างมีประโยชน์และผลข้างเคียงมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ดังนั้นการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ การอนุญาตให้ใช้ยาหรือวัคซีนใดๆ จะต้องผ่านการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียง เช่น อาจจะเกิดผลข้างเคียง 1 ในแสนคน หรือ 1 ในล้านคน แล้วมาชั่งน้ำหนักว่า หากมีผู้ป่วยที่อาจจะอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ฉะนั้นทุกอย่างต้องมีการชั่งน้ำหนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image