จากกองภูเขาขยะสู่พลังงาน ทางเลือก ทางรอด ปัญหาขยะชุมชน

โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่
โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่

กระบี่…อีกหนึ่งจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากข้อมูลเมื่อปี 2566 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนกว่า 3.8 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทว่าท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวต้องแลกมากับปัญหาขยะล้นเมืองที่สั่งสมมาตลอด ซึ่งในอดีตตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาใช้วิธีสร้างพื้นที่ฝังกลบขยะขนาดใหญ่บนพื้นที่ 251 ไร่ 

ต่อมาขยะมูลฝอยมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะแค่เขตเทศบาลเมืองก็มีขยะใหม่เพิ่มเฉลี่ยวันละ 200 ตันต่อวัน ที่ส่วนใหญ่มาจากการกินใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เศษอาหารสด เปลือกมะพร้าว ถุงพลาสติก เศษกระดาษ เศษผ้า หลอดดูดน้ำ วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ชำรุด ฯลฯ ตกค้างเป็นกองภูเขาขยะรอกำจัดมากกว่า 8 แสนตัน จนเกิดการร้องเรียนของชาวบ้านเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็น แมลงวัน รวมถึงน้ำชะขยะที่ทำให้น้ำบ่อใต้ดินไม่สามารถใช้ได้

หลังศึกษาวิธีจัดการขยะที่เหมาะสมมานานกว่า 20 ปี ในที่สุดกระบี่ก็มีแนวคิดจะกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาในระบบปิดแล้วนำพลังงานความร้อนที่ได้มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าแบบเดียวกับที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เลือกใช้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับสิ่งแวดล้อมมากสุด จึงได้มีการออกเงื่อนไขการประกวดราคาเพื่อหาภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมาร่วมทุนกับเทศบาลฯ พร้อมเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินโครงการ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่” ขึ้นภายในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองกระบี่แห่งนี้ 

ในที่สุดก็ได้คัดเลือกบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ที่มีประสบการณ์ในการทำโรงไฟฟ้าขยะชุมชนร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นมาเป็นผู้รับผิดชอบ โดยใช้เทคโนโลยีเผาตรงระบบปิดแบบสุญญากาศเช่นเดียวกับที่ขอนแก่น และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วดังเช่นที่กล่าวข้างต้น อันเป็นโมเดลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนต้นแบบที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือผลกระทบใดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแน่นอน โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 รองรับการนำขยะมากำจัดได้สูงสุดวันละ 450 ตัน 

เทคโนโลยีเผาตรงระบบปิด ไร้กลิ่น ไร้มลพิษ ไร้น้ำเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จุดเด่นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแห่งนี้ คือ การใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบ Direct Incineration ที่เป็นวิธีการเผาตรงระบบปิดแบบสุญญากาศ สามารถกำจัดขยะที่มีความชื้นได้สูงถึง 80% ที่สำคัญคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะตลอดกระบวนการของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ด้วยระบบ Negative Pressure ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีการปล่อยน้ำออกนอกโครงการ โดยมีการบำบัดน้ำแบบครบวงจรและนำกลับมาใช้ตามหลัก Zero Discharge พร้อมติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศเชื่อมสัญญาณตรงไปยังกรมโรงงาน มอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง จึงปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้างเป็นอย่างมาก

ตรวจวัดคุณภาพอากาศรายงานตรงยังกรมโรงงาน 24 ชั่วโมง
ตรวจวัดคุณภาพอากาศรายงานตรงยังกรมโรงงาน 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนการขนถ่ายขยะก็มีการจัดการที่เป็นระบบ โดยรถขนขยะจากเทศบาลจะต้องมีการชั่งน้ำหนักก่อนเข้าโรงไฟฟ้า จากนั้นขยะทั้งหมดจะถูกนำไปเทลงบังเกอร์พักขยะ (Waste Bunker) ในอาคารที่มีการออกแบบก่อสร้างเฉพาะให้สามารถรองรับขยะได้สูงสุดถึง 5,000 ตัน ภายในบ่อพักขยะจะมีระบบควบคุมความดันอากาศคอยดึงไม่ให้กลิ่นใดๆ กระจายออกนอกบังเกอร์พักขยะได้ 

ขยะถูกเทลงในบ่อพักขยะที่มีระบบควบคุมความดันป้องกันกลิ่น 
ขยะถูกเทลงในบ่อพักขยะที่มีระบบควบคุมความดันป้องกันกลิ่น

ขยะที่รับเข้ามาจะถูกนำมาลดความชื้นด้วยเทคโนโลยีพิเศษของโรงไฟฟ้า ในขั้นตอนนี้จะดึงน้ำเสียออกจากขยะมูลฝอยมาผ่านระบบบำบัดน้ำแบบครบวงจร ก่อนที่น้ำจะไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการบำบัดน้ำ เพื่อบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำใสสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการของโรงไฟฟ้า ขยะจะถูกพักรอในบังเกอร์พักขยะ (Waste Bunker) จนมีความชื้นลดลงและมีค่าความร้อนสูงขึ้น จากนั้นกระเปาะขนาดใหญ่จะป้อนขยะเข้าห้องเผาไหม้ระบบปิดแบบสุญญากาศ ก่อนนำไปเผาด้วยอุณหภูมิ 850 ถึง 1,100 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้เกิดไอลมร้อนสำหรับผลิตไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า 

ขยะกำลังถูกนำไปเผาในระบบปิดแบบสุญญากาศ
ขยะกำลังถูกนำไปเผาในระบบปิดแบบสุญญากาศ

การเผากำจัดขยะของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ แต่ละวันจะแบ่งสัดส่วนเป็นการกำจัดขยะเก่าในบ่อฝังกลบ 50% ส่วนอีก 50% เป็นการกำจัดขยะใหม่ที่เทศบาลนำส่งเข้ามาแต่ละวัน โดยหลังจากที่โรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการมาได้กว่า 3 ปี สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ กองภูเขาขยะเก่าที่เคยมีมหาศาลก็ลดลงกว่าครึ่ง ข้อร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับกองขยะที่เคยมีก่อนที่จะมีโรงไฟฟ้าก็หายไป นอกจากนี้ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต่างก็มีความเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญ คือ การที่พนักงานกว่าครึ่งของโรงไฟฟ้าเป็นคนในชุมชนรอบพื้นที่ที่ได้เข้ามาทำงานและเห็นกระบวนการทำงานจริง 

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังจัดให้มีทีมงานชุมชนสัมพันธ์ (CSR) ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนและชาวบ้านเพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโรงพยาบาล โรงเรียนในพื้นที่ การมอบทุนการศึกษา การส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมร่วมกับทุกศาสนา ตลอดจนมีบริการตรวจสุขภาพประจำปีและร่วมดูแลด้านสุขอนามัยให้กับชุมชนสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้เพราะโรงไฟฟ้าจะอยู่ไม่ได้ หากขาดการยอมรับและความเชื่อใจจากชุมชน 

ห้องควบคุมระบบปฏิบัติการ
ห้องควบคุมระบบปฏิบัติการ

ต่อยอดสู่ Cluster กำจัดขยะของจังหวัด

นอกจากกำจัดขยะในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองกระบี่แล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังได้มีส่วนในการสนับสนุนนโยบายบริหารจัดการขยะแบบรวมกลุ่ม (Cluster) ของจังหวัดกระบี่ ด้วยการเปิดรับขยะจากพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดมากำจัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นอำเภออ่าวลึก ปลายพญา เขาพนม เหนือคลอง คลองท่อม เป็นต้น โดยขยะที่รับมากำจัดมีทั้งที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงขยะในพื้นท่องเที่ยว เช่น อ่าวนาง เกาะพีพี ด้วย 

“โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่” เป็นหนึ่งในต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้หน่วยงานการศึกษา หน่วยงานปกครองท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้ามาศึกษาแนวทางบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรอย่างยั่งยืนที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแห่งนี้

หน่วยงานและชุมชนต่างๆ เข้ามาเยี่ยมชม
หน่วยงานและชุมชนต่างๆ เข้ามาเยี่ยมชม

ทั้งนี้ จากการให้ข้อมูลของเทศบาลเมืองกระบี่และ ACE ในช่วงการพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้เมื่อปี 2563 ระบุว่าได้มีการวางแผนร่วมกันในอนาคตว่า ถ้าสามารถจัดการพื้นที่หลุมฝังกลบขยะ (Landfill) แห่งนี้ไม่ให้มีขยะฝังกลบเหลืออยู่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็จะต่อยอดพัฒนาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์พื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับชาวกระบี่ สอดรับตามนโยบาย Krabi Go Green อย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image