โควิด-19 จากโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น ภัยเงียบที่อันตรายยิ่งกว่าไข้หวัดใหญ่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน สถานการณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งแม้ความรุนแรงของโรคนั้นลดลง เมื่อเทียบกับช่วงต้นการระบาด แต่เชื้อไวรัสมีการแพร่กระจายที่รวดเร็วขึ้น  ดังนั้นการเฝ้าระวังและการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของไวรัสยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ 

เพื่อทำความรู้จักพร้อมอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยให้มากขึ้น ชวนไปพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มในอนาคต ความสำคัญของการฉีดวัคซีน  และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องป้องกันเพื่อรับมือการเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19

บทสรุปเรื่องราวของเชื้อไวรัสโควิด-19

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ฉายภาพถึงช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ว่าในปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ด้วยความเป็นโรคอุบัติใหม่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักจำนวนมาก นอกเหนือจากความรุนแรงของโรคในช่วงแรกแล้ว โควิด-19 ยังสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาถือกำเนิดสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง ทว่าในปี 2564 วัคซีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ที่เข้ามาช่วยลดอัตราการตายและการแพร่ระบาดได้อย่างมาก

Advertisement

นับตั้งแต่การแพร่ระบาด ไวรัสโควิด-19 ได้เกิดการกลายพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทุกปี ซึ่งบางสายพันธุ์อาจมีความสามารถในการแพร่กระจายหรือมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าไวรัสจะปรับตัวให้ความรุนแรงลดลง แต่การแพร่กระจายกลับรวดเร็วขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์แรก เช่น สายพันธุ์อู่ฮั่น ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ จึงเน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนและการป้องกันส่วนบุคคลยังคงมีความสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงของโรค และควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

Advertisement

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร

“โรคโควิด-19 ในปัจจุบันกลายเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงลดลง แต่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น การมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อทำให้การระบาดของโรคในปัจจุบันไม่รุนแรงเท่าช่วงแรก อย่างไรก็ตาม การป้องกันและรักษายังเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและปกป้องสุขภาพของประชาชน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ กล่าว

เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ทำไมยังน่ากลัว

แม้ในปัจจุบันโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเฉกเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีความรุนแรงลดลง แต่เหตุผลที่โรคนี้ยังคงเป็นภัยที่ต้องระวังอยู่คือ การเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ทุก ๆ3-4 เดือน ซึ่งถือว่ารวดเร็วเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ดีขึ้นหรืออาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป การเกิดสายพันธุ์ใหม่จึงเป็นความท้าทายในการควบคุมการระบาดและการรักษาสุขภาพประชาชน ซึ่งทาง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ให้ข้อมูลเสริมว่า

ย้อนกลับไปช่วงเดือน ตุลาคม ปี 2566 เราทราบถึงข้อมูลคนไข้ที่นอนโรงพยาบาล กับ ผู้เสียชีวิต เดิมทีสถานการณ์การแพร่ระบาดมีอัตราการเสียชีวิต 1-2 คนต่อสัปดาห์ มียอดผู้ติดเชื้อป่วยหนักนอนโรงพยาบาลในระบบราว 1,000 คนต่อสัปดาห์ ทว่าเชื้อการเกิดไวรัส JN.1 ที่ระบาดในช่วงพฤษภาคมปีนี้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตของคนไทยไม่ใช่ 1 คน หรือ 2 คน ต่อสัปดาห์ แต่กลับเป็น 1 คน ต่อ 1 วัน จนกลายเป็นมีอัตราเสียชีวิต 7 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าไข้หวัดใหญ่

นอกเหนือจากอัตราการเสียชีวิตที่ยังคงสูงกว่าโรคประจำถิ่นอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ที่ผู้คนคุ้นชินแล้ว สิ่งที่ยังคงน่าเป็นกังวลคือเรื่องของอาการป่วยเรื้อรังตามหลังจากการติดเชื้อในชื่อ Long Covid ที่เมื่อติดเชื้อมีโอกาสที่ไวรัสจะเข้าไปเกาะที่หัวใจ ไต ตับอ่อน ร่วมด้วย ทำให้สภาพร่างกายไม่เหมือนเดิมในระยะยาว แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะลดลง แต่การป่วยเรื้อรังเหล่านี้ล้วนลดคุณภาพชีวิต และสร้างภาระหนักให้กับระบบบริการสาธารณสุข

อีกทั้งความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น การเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจมีลักษณะการแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่า ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เราต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การเตรียมความพร้อมและการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงยังคงมีความสำคัญในการจัดการกับโรคนี้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร

ใครที่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตที่ควรจะฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้รับหลังจากการฉีดวัคซีนจะเริ่มลดลงภายในระยะเวลา 6-12 เดือน ผนวกกับแนวทางการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 มีการปรับปรุงทุกปี เพื่อให้ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงสุดสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ซึ่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์
ธีระพงษ์ ได้ให้ความเห็นถึงกลุ่มเสี่ยงหลักที่ควรได้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปี ดังนี้

  1. กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งทุกคนในกลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีน
    โควิด-19 เป็นประจำทุกปี โดยไม่คำนึงถึงจำนวนครั้งที่เคยฉีดมาแล้ว และจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า70-75 ปีทุกคนเนื่องจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว ก็เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเช่นกัน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง การฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและการป่วยหนักได้อย่างมาก
  2. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ถือเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ไม่เพียงแต่เพื่อป้องกันแม่เท่านั้น แต่ยังเพื่อป้องกันลูกน้อยในช่วง 6 เดือนแรกที่ยังไม่ได้รับวัคซีน การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก ทำให้มีความเสี่ยงน้อยลงที่จะป่วยหนักหากติดเชื้อในช่วงวัยแรกเกิด
  3. บุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าบุคลากรที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี จะไม่ได้มีความเสี่ยงสูงเท่าผู้สูงอายุ แต่การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์จะต้องจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากวัคซีนมีจำกัด บุคลากรที่มีความจำเป็นและดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นประจำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ยังเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ การรับวัคซีนอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ แต่ยังช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสไปยังผู้อื่นด้วย สิ่งนี้เองทุกคนในฐานะประชาชน จึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนและการดูแลสุขภาพเป็นสำคัญ 

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจเป็นกังวลเรื่องผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ซึ่งในความเป็นจริงวัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบันล้วนแต่มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับวัคซีนแต่ละคนได้ทั้งสิ้น แต่จะมีอาการอย่างไร มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับร่างกายและการตอบสนองของแต่ละคน เช่น อาการปวดแขน เป็นไข้ หรืออาการรุนแรง โดยการวิจัยพัฒนาวัคซีนแต่ละชนิด จะต้องมีการศึกษาเพื่อหาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อเตรียมเฝ้าระวังและสร้างมาตรการในการรับมือและรักษา แต่หากเปรียบเทียบกับความเสี่ยงจากการป่วยหนักจากโรค หรือ โควิด-19 สิ่งนี้ยังคงแสดงให้เห็นว่า วัคซีนยังคงเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงจากการป่วยหนักซึ่งอาจนำไปสู่ค่ารักษาพยาบาลสูงหรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิตที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ 

คำแนะนำสำคัญเลย โควิดมันยังอยู่กับเรา เป็นโรคที่แม้ว่าเชื้ออ่อนแรงลง คนฉีดวัคซีนแล้วก็ยังอันตราย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นถามว่าคนกลุ่มนี้จะดูแลยังไง สิ่งสำคัญคือต้องให้เขาเป็นโรคน้อยที่สุด สองก็คือฉีดวัคซีนได้ก็ควรจะฉีด สามคือถ้ารู้ว่าเป็นก็ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะว่ากลุ่มนี้อาจจะรุนแรง จำเป็นต้องได้ยารักษาอย่างทันท่วงที” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image