อาชีพไรเดอร์และวินมอเตอร์ไซค์ถือเป็นส่วนสำคัญ ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการคมนาคมในสังคมเมือง ด้วยความต้องการบริการส่งสินค้าและการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบอาชีพด้วยพาหนะสองล้อเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีอัตราสูง ปัญหาสุขภาพจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะ รวมถึงขาดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานสองล้อ เปิดเวทีสาธารณะเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบอาชีพด้วยพาหนะสองล้อ เพื่อนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้บริหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า สสส. ได้สนับสนุนทีมวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งพบว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร้อน มลภาวะ ความเครียด และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพในแบบพิเศษ จึงจัดวงที่จะพัฒนาข้อเสนอทางวิชาการ เพื่อนำไปสู่สิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มจักรยานยนต์สองล้อขึ้นมา สำหรับวันนี้จะเป็นรูปแบบเวทีทางวิชาการที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาควิชาการ กลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มไรเดอร์และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เข้ามาพัฒนาเพื่อให้เกิดความคมชัดทางข้อเสนอทางวิชาการ รวมถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ “สสส. เป็นเพียงหน่วยงานที่สนับสนุนเครือข่าย เรามีการทำงานกับเครือข่ายไรเดอร์ 10,000 คน และมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก 5,000 คน ฉะนั้นในกลุ่ม 15,000 คนนี้จะทำข้อเสนอที่คมชัดต่อเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะสิทธิทางสุขภาพของตนเอง และเสนอไปยังหน่วยงานเจ้าภาพที่ สปสช. และ กทม. ต่อไป การจะเสริมพลังเพื่อทำให้ข้อเสนอมีน้ำหนักในแง่ของกลุ่มเป้าหมาย กับในแง่ทางวิชาการ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน สสส. ขอเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนต่อสำหรับชุดสิทธิประโยชน์ของแรงงานสองล้อ” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. อธิบาย ที่ผ่านมา สสส.ดำเนินงานขับเคลื่อนด้านสิทธิสุขภาพไรเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมสุขภาพไรเดอร์ในทุกมิติ ทั้งการป้องกันโรค พัฒนาศูนย์สุขภาพดี วัยทำงาน จัดกลไกเชิงรุกตรวจคัดกรองสุขภาพ รวมถึงพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานสองล้อ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ การเข้าถึงสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ ให้ไรเดอร์มีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพ นำมาสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้วยพาหนะสองล้อ
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายว่า เรื่องการเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพจากการประกอบอาชีพ เป็นหน้าที่ที่ สปสช. ต้องรับเรื่องจากทุกๆ เครือข่าย สำหรับสิทธิประโยชน์เรื่องการประกอบอาชีพ อาจจะต้องพิจารณานำเสนอคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องของกรอบสิทธิประโยชน์ว่า จะมีการจัดการในส่วนของการพัฒนาสิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มเฉพาะ คือกลุ่มประกอบอาชีพอย่างไร ที่ผ่านมาเข้าใจว่ายังคงมีปัญหาอุปสรรคเยอะ เมื่อเสนอเข้าไปมักไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีพอ เป็นหน้าที่ของ สปสช. ที่จะต้องขับเคลื่อนต่อ โดยจะขับเคลื่อนร่วมกันเรื่องข้อมูลวิชาการ ข้อมูลผลกระทบทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดว่าจะได้เข้าสู่กรอบการเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพหรือไม่ หากได้ก็จะครอบคลุมคนทุกสิทธิ์ในระบบหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มประกันสังคม กลุ่มราชการ กลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ว่าจะดำเนินการหนุนเสริมเรื่องนี้อย่างไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรม “สปสช. เน้นย้ำว่า ถ้าเครือข่ายแข็งแรง เขาจะมาเป็นเจ้าของประเด็น และเข้ามาติดตามการขับเคลื่อนภายใต้ระบบหลักประกัน เรามีหลายสิทธิประโยชน์ซึ่งสำเร็จโดยการผลักดันของเครือข่ายผ่านทางระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ หรือระดับกระทรวง หรือแม้กระทั่งระดับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นคนกำหนดสิทธิประโยชน์ เราเชื่อว่าความสำเร็จอยู่ที่ความเข้มแข็งของเครือข่าย ซึ่งเราจะเน้นหนุนเสริมความแข็งแรงของเครือข่ายตรงนั้นด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. ย้ำ
นางธัญญ์นรี จารุประสิทธิ์ ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ จังหวัดกระบี่ เล่าให้ฟังว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์เกือบ 1 ล้านคน ซึ่งอาชีพนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพหรือชีวอนามัยของไรเดอร์อย่างจริงจัง เนื่องจากชีวิตประจำวันของไรเดอร์เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานหนัก โดยในแต่ละวันต้องวิ่งงานถึง 10 – 14 ชั่วโมง ส่งผลให้การดูแลสุขภาพและการพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะไรเดอร์ผู้หญิงที่เผชิญความเสี่ยงในด้านต่างๆ มากกว่าผู้ชาย ยิ่งทำให้รู้สึกว่าควรจะมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลสุขภาพของอาชีพนี้ “วันนี้เราได้รับโอกาสดีๆ จากทาง สสส. ที่เข้ามาทำโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของพี่ไรเดอร์ เราได้ไปรวบรวมปัญหาของไรเดอร์ทั่วประเทศ และนำมายื่นเสนอให้กับทาง สสส. เรามองว่าการมีสุขภาพที่ดีของไรเดอร์ ไม่เพียงช่วยให้อาชีพนี้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงอาชีพอิสระอื่นๆ ที่อยู่นอกระบบ หากเราเป็นโมเดลที่สามารถทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นต้นแบบที่ช่วยให้อาชีพอื่นๆ มีสุขภาพที่ดีและทำงานได้อย่างปลอดภัยในอนาคต” ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ ทิ้งท้าย