เปิดพื้นที่เรียนรู้ – เยียวยาจิตใจ เพื่อชีวิตที่มีความหมาย ท่ามกลางความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของโลกปัจจุบัน ได้สร้างยุคที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว จนเกิดคำถามสำคัญ ‘มนุษย์จะเชื่อมโยงกันโดยปราศจากความเกลียดชังได้อย่างไร’ แน่นอนว่ากุญแจที่จะไขคำตอบนี้ สุขภาวะทางปัญญา เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจตนเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่น และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
แนวคิดนี้ถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมในงาน Soul Connect Fest 2025 มหกรรมพบเพื่อนใจ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เวิร์กชอป เสวนา นิทรรศการ และกิจกรรมสร้างสรรค์กว่า 200 รายการ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายมากกว่า 100องค์กร เพื่อมุ่งสร้างสังคมที่แข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก ประเดิมมหกรรม ด้วยไฮไลท์ “Soul Connect : จิตวิญญาณการร่วมทุกข์และความหวัง” เวทีเสวนาที่มีนักคิด นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจ มาถ่ายทอดประสบการณ์การเยียวยาจิตใจ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมถึงบทบาทของสุขภาวะทางปัญญาในการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต การเชื่อมโยงกับผู้อื่น ตลอดจนหนทางสู่ความหวัง
ในวันที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. พูดถึง Margaret Mead นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่ถูกถามว่าสัญญาณแรกของอารยธรรมมนุษย์คืออะไร คำตอบของเธอไม่ใช่เครื่องมือหรืองานศิลปะโบราณ แต่เป็นกระดูกต้นขาที่เคยหักและได้รับการรักษาจนหายดี เนื่องจากในโลกของสัตว์ หากกระดูกหัก ย่อมหมายถึงความตาย เพราะไม่สามารถหาอาหารหรือหลบหนีอันตรายได้ แต่เมื่อมีหลักฐานว่ามนุษย์ช่วยเหลือกันจนผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบาก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรม จากนั้นเมื่อกาลเวลาผันผ่าน โลกเต็มไปด้วยความเปราะบาง ซับซ้อน และคาดเดาไม่ได้ สิ่งเหล่านี้สร้างความเครียด ความทุกข์ใจให้กับผู้คน ‘สุขภาวะทางปัญญา’ จึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้มนุษย์กลับมาเข้าใจตนเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่น พร้อมปรับตัวรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อนจะเชื่อมโยงกับผู้อื่น ต้องเริ่มจากการเข้าใจตนเองก่อนเป็นลำดับแรก ดังนั้น มหกรรม Soul Connect Fest 2025 จึงชวนทุกคนให้หันกลับมาสำรวจความคิด ความรู้สึก พร้อมยอมรับทั้งด้านดีและข้อบกพร่องของตนเอง ไม่โทษหรือกดดันตัวเองจนเกินไป เพราะเมื่อเข้าใจและให้อภัยตนเองได้ ก็สามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ลึกซึ้งขึ้น
นอกจากนี้ คุณญาณี ยังพูดถึงความเปราะบางของสังคม รวมถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงกันในฐานะมนุษย์ เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์และความท้าทาย แม้การเดินไปข้างหน้าเพียงลำพังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การ Connect กับผู้คนอาจช่วยให้ก้าวผ่านไปได้ ดังนั้น สุขภาวะทางปัญญาจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขหรือป้องกันปัญหาได้ในระยะยาว
“ขอขอบคุณภาคีกว่า 100 องค์กร เครือข่ายร่วมจัดที่มาร่วมด้วยใจ พร้อมโอบรับผู้คนเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงและสัมผัสถึงความสุขความทุกข์ด้านในของเพื่อนมนุษย์ มางานนี้อยากให้ทุกคนเปิดใจเข้ามาลิ้มลองประสบการณ์ตรง รับรองว่าจะพบเพื่อนที่พร้อมจะโอบอุ้ม รับฟัง พร้อมพาเราไปในจุดที่งดงามและเป็นวิถีของการเรียนรู้” คุณญาณี เผย ด้าน คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เล่าว่า ปัญหาข่าวลวงและเนื้อหาด้านลบส่งผลให้ผู้คนเกิดความเครียด-วิตกกังวล ขณะเดียวกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยให้ความสำคัญกับการปรับตัวต่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีขั้นสูง (Deeptech) ทว่าสิ่งที่มักถูกมองข้าม คือ ความพร้อมทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์รับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม โคแฟค (ประเทศไทย) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ มองว่าผลกระทบของ Deeptech นั้นไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ด้านความคิด แต่ยังซึมลึกลงไปถึงจิตใจและจิตใต้สำนึก จึงเชื่อมโยงแนวคิดนี้เข้ากับ สสส. ร่วมด้วยภาคีสุขภาวะทางปัญญา เพื่อขับเคลื่อนทั้งในเชิงระบบและเชิงจิตวิญญาณ พร้อมสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ช่วยให้ผู้คนกลับมาดูแลเยียวยาจิตใจของตนเอง ดังนั้น เวทีนี้จึงไม่ใช่แค่การพูดคุยเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นพื้นที่ที่รวมตัวของผู้คนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสังคมและระดับจิตใจ
“ระดับของความทุกข์ ซึ่งเปรียบเทียบได้เป็น 3 รูปแบบ คือ ‘แม่น้ำ’ สำหรับผู้ที่มีทักษะจัดการอารมณ์ความทุกข์เป็นเหมือนหินที่ถูกโยนลงไปในน้ำ อาจเกิดระลอกคลื่น ทว่าสุดท้ายก็หายไป ‘ผืนทราย’ สำหรับบางคนที่ความทุกข์อาจฝากร่องรอยไว้ชั่วคราวเหมือนลายมือบนทราย แต่เมื่อคลื่นซัดมาก็จางหายไป และ ‘ศิลาจารึก’ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถปล่อยวาง ความทุกข์จะถูกจารึกลงในใจ ไม่ว่านานแค่ไหนก็ยังคงอยู่” คุณสุภิญญา เผย ขณะที่ คุณสรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา บอกว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ Intrapersonal การตระหนักรู้และสะท้อนตนเอง Interpersonal การเชื่อมโยงกับผู้อื่น และ Transpersonal ความสัมพันธ์ที่ก้าวพ้นตัวตนสู่การเข้าใจโลกและสรรพสิ่งรอบกาย ทั้งหมดนี้นำไปสู่แนวคิดเรื่องสุขภาวะทางปัญญา และด้วยแนวคิดนี้ มหกรรม Soul Connect Fest 2025 จึงถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้ธีม HUMANICE ซึ่งเป็นการเล่นคำที่สะท้อนถึงมนุษยธรรมและมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน เรียกได้ว่ามุ่งเน้นให้ผู้คนที่เหนื่อยล้าจากโลกที่วุ่นวายได้กลับมา Connect กับตัวเอง ผู้อื่น และสังคม เพื่อค้นพบพลังใจในการเดินทางทั้งในโลกภายนอกรวมถึงภายในจิตใจของตนเอง
“Soul Connect Fest 2025 ไม่เพียงเป็นเวทีแห่งความคิด แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เข้าใจตนเองตามหลักสุขภาวะทางปัญญา โดยมีแนวคิดหลัก คือ การตระหนักรู้ถึงตัวตนและความหมายของชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสังคม และสุขภาวะทางปัญญา เพราะแท้จริงแล้ว ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง หากไม่ยอมรับ เราจะเป็นทุกข์” คุณสรยุทธ ทิ้งท้าย
มหกรรม Soul Connect Fest 2025 : HUMANICE นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่พบปะผู้คน แต่ยังสร้างโอกาสให้กลับมาเข้าใจตนเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่น พร้อมค้นพบความหวังใหม่ในชีวิต ผ่านแนวคิดของ ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง มั่นคง และเปี่ยมไปด้วยความหมายในระยะยาว