เพราะสุขภาพดีเป็นรากฐานสำคัญของคุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมของเยาวชนคือกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข’ หรือ ยุว อสม. ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยผนึกกำลังภาคี สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต่อยอดไปสู่เครือข่ายอาสาสร้างสุขภาพ (Gen H) พร้อมนำร่อง 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.อุบลราชธานี จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผยว่า สสส. มุ่งขับเคลื่อนการลดปัญหาภัยสุขภาพในกลุ่มเด็ก-เยาวชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน และปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโจทย์หลักที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน จึงผสานความร่วมมือ ยท. หนุนเสริม ‘โครงการ ยุว อสม.’ และ ‘เครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ’ เพื่อจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสร้างคนรุ่นใหม่ที่เอื้ออาทรและต้องการเห็นสังคมที่ดีขึ้น
“การทำงานร่วมกันครั้งนี้จะเป็นการจับมือที่สำคัญในการขยาย ยุว อสม. ซึ่งเป็นจิตอาสาช่วยแก้ปัญหาเชิงรุก โดย ยุว อสม. ชักชวนเพื่อนให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพ พร้อมวิเคราะห์ปัญหา และที่สำคัญต้องวางแผนจัดการ จุดนี้นับเป็นการสร้างเสริมให้เด็กฝึกคิด วางแผน และหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง” ผู้จัดการกองทุน สสส. เผย ขณะที่ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการ ยท. เสริมว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับ ยท. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผลักดันให้ 4 จังหวัดต้นแบบ จัดตั้งเครือข่ายยุว อสม. และอาสาสร้างสุขภาพในสถานศึกษาหรือชุมชน เกิดแกนนำอาสาสร้างสุขภาพ 400 คน โดยมีผลงานขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ เขตดินแดง กรุงเทพฯ ซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด ได้ลงนาม MOU 40 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา
นอกจากนี้ จ.เชียงราย พัฒนาศักยภาพเด็กนักเรียนให้รู้จักช่องทางรับบริการสุขภาวะทางเพศในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงพัฒนาความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้กับแกนนำนักเรียนทุกอำเภอ ขณะเดียวกัน จ.อุบลราชธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพแกนนำนักเรียนจำนวน 25 โรงเรียน ร่วมเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา เพื่อนำส่งข้อมูลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินสุขภาพเบื้องต้น เรียนรู้เรื่องค่าดัชนีมวลกาย (BMI) รวมถึงช่องทางการรับบริการสุขภาพ
“ยุว อสม.เป็นกลไกให้บริการสุขภาพเบื้องต้นในชุมชน โดยมุ่งให้ทำงานผ่าน 3H ได้แก่ Health Communicator เป็นผู้สื่อสารด้านสุขภาพ Health Influencer ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดด้านสุขภาพ และ Health Creator ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เรียกว่านอกจากเด็กจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ร่วมกันขับเคลื่อนคือการทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานของรัฐเพื่อปกป้องสุขภาพของเยาวชน” เลขาธิการ ยท.ทิ้งท้าย