“Soul Connect Fest 2025” ชวนร่วมรับมือ Hate Speech ต้านกระแสขัดแย้ง-เกลียดชังในโลกออนไลน์.

ในยุคที่โลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน Hate Speech และ ข้อมูลบิดเบือน แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว สร้างความขัดแย้งและแบ่งแยกโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า เราจะรับมือกับกระแสความเกลียดชังในโลกออนไลน์ได้อย่างไร เพื่อหาทางออก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา 100 องค์กร จัด “มหกรรมพบเพื่อนใจ Soul Connect Fest 2025” และ การประชุมวิชาการระดับชาติ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา เสริมสร้างความเข้าใจตนเอง และขับเคลื่อนสังคมสู่ความเมตตาและการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

หนึ่งในเวทีสำคัญของงานคือ “รับมือความเกลียดชัง ข้อมูลลวงออนไลน์ยุค 4.0 ด้วยปัญญารวมหมู่” ที่สะท้อนถึงภัยคุกคามในโลกดิจิทัล ซึ่ง สภาเศรษฐกิจโลก จัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงระดับต้นของปีนี้ เวทีนี้รวมตัวแทนจากภาควิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน นักแสดง ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคม  เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางว่า “ปัญญารวมหมู่” และ “สุขภาวะทางปัญญา” จะช่วยรับมือปัญหานี้ได้อย่างไร พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น

ADVERTISMENT

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค กล่าวเปิดเวที ว่า Hate Speech และความขัดแย้งในโลกออนไลน์กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่โลกดิจิทัลมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้คนมากขึ้น “เพราะความรักและความเกลียดชังมาจากจิตส่วนลึกของมนุษย์ และถูกขยายให้ดังขึ้นด้วยโลกออนไลน์” นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญในการร่วมกันค้นหาทางออกที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม

ADVERTISMENT

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานกรรมการวิสาหกิจเพื่อสังคมจิตวิทยาสติ เผยถึงกระบวนการสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์ว่าเป็นเรื่องที่มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์มนุษย์อย่างยาวนาน โดยในมุมมองทางจิตวิทยา กระบวนการสร้างความเกลียดชังนั้นมีนัยสำคัญสองประการ ประการแรกคือ ความรุนแรง ซึ่งเริ่มต้นจากคำพูดหรือข้อความในโซเชียลมีเดีย เมื่อมีการแสดงออกถึงความเกลียดชังผ่านการสื่อสารเหล่านี้ จะกลายเป็นสัญญาณของการเกิดความรุนแรงที่ตามมา โดยความเกลียดชังจะไม่หยุดอยู่แค่ในรูปแบบของการพูด แต่จะขยายไปสู่การกระทำที่รุนแรงจริงๆ ประการที่สองคือ กระบวนการขั้นตอน ในการสร้าง Hate Speech ที่เป็นลำดับขั้นอย่างชัดเจน เริ่มต้นจากการมองความเห็นต่างเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด จากนั้นจะพัฒนาไปสู่การตัดสินว่าเป็นสิ่งดีหรือเลว และในที่สุดจะกลายเป็นการตัดสินว่าคนหรือสิ่งนั้นไม่สมควรอยู่ในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การกระทำที่เป็นอันตรายและรุนแรงในท้ายที่สุด

กระบวนการนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนความเห็นต่างให้กลายเป็นความถูกผิด จากนั้นเปลี่ยนเป็นดีเลว และสุดท้ายจะทำให้สิ่งนั้นไม่สมควรอยู่ในสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำลายสังคมอย่างยิ่ง ดังนั้น การสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ไม่สนับสนุนและไม่ส่งเสริมการสร้างความเกลียดชังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ในสังคมได้” นพ.ยงยุทธ กล่าวย้ำ ด้าน ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ซาเวียร์, OSU ผู้อำนวยการศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมระดับชาติ ได้แชร์มุมมองจากศาสนาคริสต์ในการรับมือกับความเกลียดชังในโลกออนไลน์ว่า การตอบโต้ด้วยความเกลียดจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น หากแต่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น สิ่งที่เราควรทำคือการตอบกลับด้วยความรัก แม้ว่าจะถูกโจมตีทางออนไลน์ สิ่งสำคัญคือการยกตัวอย่างตามคำสอนในพระคัมภีร์ ที่ระบุว่า “ความรักนั้นอดทนและมีเมตตากรุณา ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวด และไม่เกลียดชัง” (1 โครินธ์ 13:4-7) ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ตอบโต้ความเกลียดชังด้วยความเกลียดชัง แต่ควรใช้ความรักเป็นเครื่องมือในการเยียวยาจิตใจของทั้งตัวเราและผู้อื่น ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ยังทิ้งท้ายว่า หากเราตอบโต้การโจมตีด้วยการตอบโต้ที่มีแต่ความเกลียดชัง สิ่งนั้นจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงและความเกลียดในสังคม แต่หากเราทำใจให้อภัยและแสดงความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ ก็จะช่วยสร้างสังคมที่มีความเมตตาและความสามัคคีขึ้นมาได้

ในท้ายที่สุด เราไม่สามารถหยุดความเกลียดชังในโลกออนไลน์ได้ทันที แต่เราสามารถสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีและสร้างสรรค์กว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image