ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มัจจุราชควันที่พัฒนาในรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเทรนด์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย 40,164 คน ทั่วประเทศ ช่วงกลางปี 2567 ของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร พบว่ามีกลุ่มเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18.6% เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเยาวชน 61,688 คน กลางปี 2566 ในภาพรวมของประเทศมีเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 9.1% ตัวเลขจำนวนนักสูบที่ก้าวกระโดดขนาดนี้ ว่ากันว่า มาจากความเข้าใจผิด คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ หรือนิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน บ้างก็สูบเพราะเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าก็คือ นับวันบุหรี่ไฟฟ้าแทรกซึมเข้าไปอยู่กับน้องๆ หนูๆ วัยประถมมากขึ้น เพราะมีการผลิตออกมาในรูปทรงคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนดัง ที่เรียกว่า ทอย พอด มีการเติมกลิ่น ผลไม้ (เคมี) เวลาสูบจะมีกลิ่นหอม แล้วถ้าวางปนกับของเล่น ผู้ปกครองจะแยกไม่ออกระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับของเล่นจริง
เพื่อหยุดยั้งภัยของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้ลูกหลาน สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ นิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี (art4d) เปิดนิทรรศการโชว์ผลงานสื่อรณรงค์ “ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า” ฝีมือเยาวชน 15 ทีม จากทั่วประเทศ ณ พิพิธบางลำพู เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568
ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เล่าว่า ทั้ง 15 ผลงานเกิดจากโครงการ Design Hero 2024 : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E-Cigarettes ภายใต้โครงการ “รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาวะ” “โครงการ Design Hero 2024 เป็นการพัฒนานักสื่อสารสร้างสรรค์รุ่นใหม่มาออกแบบผลงานเพื่อนำไปต่อยอดในการสื่อสารเรื่องประเด็นสุขภาวะต่อสาธารณชนในวงกว้าง โดยให้นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ นำเสนอไอเดียที่จะช่วยให้เกิดการสื่อสารสร้างความเข้าใจในเรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านสื่อต่างๆ 4 ประเภท ได้แก่ Graphic Design, ผลงานศิลปะหรือของตกแต่ง, Art Toy และคลิปวิดีโอ”
“น่ายินดีที่มีเยาวชนจากสถาบันระดับมัธยมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัยรวม 60 แห่ง ส่งไอเดียเข้ามาถึง 472 ทีม คณะกรรมการคัดสรรเหลือ 30 ทีม เพื่อเข้ารับการบ่มเพาะในกิจกรรมเวิร์กชอปกับวิทยากรมืออาชีพจากแบรนด์ต่างๆ ขณะเดียวกันก็คัดจนได้ 15 ทีมสุดท้ายเพื่อรับทุนสำหรับผลิตชิ้นงานจริงกับแบรนด์ Q Design & Play, WISHULADA, TOYLAXY สำหรับประเภทคลิปวิดีโอได้ร่วมผลิตผลงานเพื่อเผยแพร่จริงกับช่อง Biggy Carey”
คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา เสริมถึงโครงการ Design Hero 2024 ว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของน้องๆ เยาวชนให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ติดตั้งอาวุธในการเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ในวันนี้จึงได้เห็นผลงานมากมายที่มีความสร้างสรรค์ นำไปใช้ได้จริงในสถานศึกษา
“การทำแคมเปญรณรงค์ลด ละ เลิก บุหรี่ ในระยะหลังมุ่งเน้นมาที่กลุ่มเยาวชน เพราะมีการเพิ่มผู้สูบขึ้นอย่างมาก แม้ว่าเทียบกับนานาชาติแล้ว ไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่กว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังมีคนสูบบุหรี่ 9.9 ล้านคนรวมทุกช่วงวัย ถ้าเจาะจงเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่เทรนด์พุ่งสูงขึ้น เพราะผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มสตรี ใช้กลยุทธ์ที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย”
ผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ย้ำว่า เวลานี้มีเด็กและเยาวชนวัย 15 – 24 ปี ประมาณ 24,000 คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติด และมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เด็กๆ เข้าถึงการซื้อขายอย่างอิสระทั้งที่ผิดกฎหมาย มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเฟรนด์ลี่ เข้าถึงเด็กได้อย่างกลมกลืน ซึ่งผู้ปกครองบางคนแม้แต่โรงเรียนก็ยังไม่เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย จนหละหลวมในการป้องกัน
“ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายต้องพยายามรณรงค์และพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนผ่านนักสื่อสารสุขภาวะซึ่งเป็นการบอกต่อในภาษาของวัยรุ่นที่เป็นภาษาเดียวกัน ซึ่งผลงานทั้ง 15 ทีมได้รับการตัดสินจนเหลือ 4 ทีม ได้รับรางวัล The Best of Art Toy Design, The Best of T-Shirt Design, The Best of Video Content และ The Best of Art Project นอกจากนี้ ยังมี The Best of The Best สุดยอดผลงานต้นแบบสื่อสร้างสรรค์ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
หลังจากนี้ สสส. จะสนับสนุนการทำต้นแบบ นำไปใช้นำร่องขยายผลในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ ตลอดจนสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงโทษที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป