พายุวิพากษ์ ‘สะพานท่าพระจันทร์’ ‘เพิ่มทางเลือก’ หรือ ‘สร้างภาระ’

สะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ท่าศิริราช งบฯก่อสร้าง 1,710 ล้านบาท มีทางจักรยาน ลิฟต์ บันไดเลื่อน มี 2 ชั้น ความสูงระหว่างชั้น 4 เมตร

ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในชั่วข้ามคืน เมื่อมีการเปิดเผยรูปแบบล่าสุดของ “สะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ท่าศิริราช” โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการทบทวนรูปแบบโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษา สำรวจ และออกแบบสะพานดังกล่าว ณ ห้องประชุมนันทอุทยานสโมสร กองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

มีการนำเสนอข้อมูลว่า สะพานดังกล่าวจะใช้สำหรับเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยาน ทางผู้พิการ และสวนสาธารณะ โดยคำนึงวิถีวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยว เสริมภาพลักษณ์ของ กทม. เชื่อว่าสิ่งที่จะได้รับคือการดึงดูดการท่องเที่ยว เพิ่มทางเลือกของการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งสะดวก ปลอดภัย พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเครือข่ายทางคนเดินและเส้นทางจักรยาน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากการสำรวจ ออกแบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ และการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุมนันทอุทยาน กองทัพเรือ กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอรูปแบบล่าสุดของสะพานซึ่งมี 2 ชั้น ความสูงระหว่างชั้น 4 เมตร มีลิฟต์ บันไดเลื่อน และรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ รพ.ศิริราช ใช้งบประมาณ 1,710 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ลดลงจากเดิมกว่า 2 พันล้านบาท หลังการปรับรูปแบบจากสะพานชั้นเดียวที่ไม่มีตอม่อ ซึ่งใช้งบมากกว่า เหตุจากก่อนหน้านี้ถูกชาวบ้านคัดค้านว่าไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองไทยซึ่งร้อนแทบทุกฤดู และหากฝนตกขณะเดินกลางสะพานจะไปหลบที่ไหน นำมาซึ่งสะพานรูปแบบใหม่ที่เป็นที่พอใจของ “ชาวฝั่งธนฯ” ในที่ประชุมเป็นอย่างมาก

บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น แม้มีข้อท้วงติงบ้างในบางช่วงบางตอน แต่ภาพรวมยิ่งกว่าผ่านฉลุย ตัวแทนชาวบ้านซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมนับร้อยรายจาก 38 ชุมชนชวนกันยกมือยืนยันการเห็นพ้อง ปรบมือพอใจกึกก้องห้องประชุม ทว่าเมื่อแบบสะพานถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ในวันเดียวกัน กระแสคัดค้านกลับหลั่งไหลอย่างที่หลายฝ่ายไม่คาดคิด เพราะโครงการนี้ก็เคยเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสื่อในแง่ของรูปแบบสะพาน ซึ่งแม้ไม่ใช่เวอร์ชั่นล่าสุด แต่ถ้าไม่สังเกตเรื่องหลังคาหรือจำนวนชั้น ก็แทบไม่ต่างกันหากมองโดยภาพรวม อีกทั้งเมื่อปี 2559 กรุงเทพมหานครก็ออกมายืนยันว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” เห็นด้วยกับโครงการ จึงเตรียมดำเนินการก่อสร้างในปี 2561

Advertisement

นำไปสู่คำถามที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่จากการสำรวจของภาครัฐคือใคร เหตุใดล่าสุดจึงเกิดกระแสค้านอย่างถล่มทลายเช่นนี้?

เปิดวาร์ป ‘สกายวอล์ก’ 1,000 ล้าน
ย้อนอดีตโครงการเก่ากึ้ก!

ความจริงแล้วโครงการนี้ไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง เพราะ กทม.คิดไว้อย่างน้อยเกือบ 10 ปีมาแล้ว ภายใต้การผลักดันของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯในยุคนั้น โดยได้ไอเดียจากต่างประเทศซึ่งมีสกายวอล์กหรือทางคนเดินลอยฟ้า มีการให้ข่าวโดยสำนักการโยธาว่าเป็นเพราะห่วงใยในสวัสดิภาพของประชาชนที่ต้องนั่งเรือข้ามฟากซึ่งเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณี “โป๊ะล่ม”

มูลค่าการก่อสร้างที่ประมาณการไว้ในช่วงนั้น ปรากฏเป็นข่าวในหน้าสื่ออยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาท สำหรับทางเดินเท้าข้ามเจ้าพระยามี “ทางเลื่อน” เลนจักรยาน ลิฟต์ ตัวสะพานสูงจากพื้นมากกว่า 5 เมตร สร้างจากโครงเหล็ก ติดกระจกเพื่อชมวิวได้สะดวก และอาจติดแอร์ระหว่างช่องทางเดินด้วย

Advertisement

แน่นอนว่าในยุคนั้นก็มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมปรากฏในบทความต่างๆ สะท้อนเสียงคัดค้านตั้งแต่รากหญ้าจนถึงชนชั้นกลางไลฟ์สไตล์บรรเจิด ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า-แม่ค้า ชาวเรือ ไปจนถึงนักท่องเที่ยว โดยเคลือบแคลงถึง “ความคุ้มค่า” ทัศนียภาพ และการทำลายวัฒนธรรมของผู้คนริมฝั่งน้ำ

อย่างไรก็ตาม สะพานดังกล่าวไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้อย่างที่คิดกัน หากแต่มาโผล่ขึ้นอีกครั้งในรัฐบาล คสช. โดยเมื่อปลายปี 2559 อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยส่งจดหมายถึงผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 กันยายน เรื่องความคิดเห็นของสมาคมฯต่อโครงการดังกล่าว โดยส่งสำเนาถึงรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบดูแลสำนักการโยธา และตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท แพลนโปร จำกัด บริษัท ไฟนอล ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด

เนื้อหาโดยสรุปมีอยู่ว่า ขอให้ทบทวน “ความเหมาะสมของตำแหน่ง” และศึกษาให้รอบด้าน โดยเฉพาะ “การเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชน ระบบรางโดยรอบ” เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดก่อนการออกแบบและเขียนแบบ เนื่องจากเป็นโครงการไม่เร่งด่วน อีกทั้งสมาคมฯเห็นด้วยกับคำแนะนำของผู้แทนกรมเจ้าท่าว่าไม่ควรก่อสร้างให้มีเสาตอม่อรับสะพานขนาดใหญ่ในลำน้ำเจ้าพระยา เพราะอยู่ในคุ้งน้ำที่ไหลค่อนข้างแรง อาจส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพตลิ่ง ทั้งยังควรคำนึงระยะความสูงใต้ท้องสะพานให้เรือสัญจรได้ในช่วงหน้าน้ำ และไม่ควรมีระดับความสูง “ข่มพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมสำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์”

ลวดลายบนสะพานได้แรงบันดาลใจจากหยดน้ำ

นอกจากนี้ สมาคมฯยังมองว่า โครงการดังกล่าวมีนัยยะสำคัญที่อาจส่งผลกระทบวงกว้างในด้านเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม จึงขอให้ กทม.ทบทวนและพิจารณาแยกการดำเนินงานจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก ควรให้สำนักผังเมืองดำเนินการเป็นโครงการจัดจ้างที่ปรึกษา ศึกษาและออกแบบวางแผนแม่บทหรือออกแบบเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับทราบและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง แล้วจึงนำมาปฏิบัติเป็นขั้นตอนที่ 2 ต่อไป โดยให้สำนักการโยธาจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อกำหนดเป็นโครงการออกแบบรายละเอียดและเขียนแบบเพื่อการก่อสร้าง จึงจะถูกต้องเหมาะสม

แน่นอนว่า คำแนะนำเหล่านี้ไม่เป็นผล

ฝั่งธนฯเชียร์สุดใจ
‘ประชาชนส่วนใหญ่’ เห็นพ้อง จริงหรือ?

ตัดฉากมายังปัจจุบัน ชาวบ้านนับสิบชุมชนยืนยันว่าสนับสนุนสุดแรง โดยเชื่อว่าจะเป็นแลนด์มาร์กของฝั่งธนบุรีที่เป็น “ลูกเมียน้อย” มานาน

“เป็นสิ่งแรกที่ กทม.ทำถูกใจประชาชน” บัญชา เทียนศิริ ประธานชุมชนวังหลัง เขตบางกอกน้อย กล่าว พร้อมอธิบายว่า โครงการนี้ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์สำเร็จเป็นครั้งแรกของ กทม. เพราะชาวบ้านได้มีส่วนร่วม โดยเคยออกโรงคัดค้านรูปแบบสะพานเดิมที่มีชั้นเดียว เพราะห่วงเรื่องความร้อนและพายุฝน เมื่อมีการปรับแบบจนถูกใจ ก็รอวันที่จะได้เห็นสะพานดังกล่าวเมื่อเสร็จสมบูรณ์

สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ กทม. ที่เคยเผยข้อมูลตั้งแต่ปลายปี 2559 ว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ เพราะเสียงประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ สะพานดังกล่าวกลับถูกวิจารณ์อย่างหนักโดยคนไทยในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องรูปแบบทางกายภาพ ซึ่งจำนวนมากวิพากษ์ว่า “ไม่สวย” เฉิ่มเชย ล้าสมัย ไปจนถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีไปกับสิ่งที่มองว่ายังไม่จำเป็นเร่งด่วน จึงควรนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาสาธารณูปโภคอื่น หรือบริจาคให้โรงพยาบาลจะเหมาะสมกว่า

ชาวฝั่งธนฯ 38 ชุมชนยกมือเห็นพ้องสร้างสะพาน ดีใจได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนา

บ้างก็ตั้งคำถามถึงประเด็นที่อ้างความสะดวกของผู้ป่วยว่า ในชีวิตจริงจะมีกี่คนที่นั่งรถสาธารณะมาลงเชิงสะพานเพื่อต่อ “รถกอล์ฟ” เข้าศิริราช สู้นั่งแท็กซี่ต่อเดียวถึงไม่ดีกว่าหรือ? ถ้ามาด้วยรถส่วนตัวยิ่งแล้วใหญ่ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องใช้สะพานนี้ อีกทั้งในอนาคตอันใกล้จะมีรถไฟใต้ดินอยู่แล้ว หรือถ้ามองเรื่องการท่องเที่ยว สะพานดังกล่าวจะกลับตาลปัตรเป็นการ “สร้างภาระ” ให้เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่?

นอกจากนี้ มีผู้แสดงความเห็นว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ว่าจุดไหนก็เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเท่านั้น กระแสการคัดค้านที่เป็นอยู่จึงสวนทางกับสิ่งที่ภาครัฐเปิดเผยเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเดินหน้าโครงการดังกล่าว

‘เอฟโออาร์’ ขยับ ‘โปร่งใส ทำไมต้องรีบ’ ?

ด้านกลุ่ม Friends of the river หรือเพื่อนแม่น้ำ ก็ขยับตัวตั้งคำถามทันทีว่า เหตุใดโครงการที่ใช้งบประมาณนับพันล้านบาทเช่นนี้ สังคมจึงรับรู้น้อยมาก และเหตุใดต้องเร่งรีบดำเนินการ โดยมีการออกแบบในระยะเวลาจำกัด ทั้งยังระบุว่าเป็นตัวอย่างของ การพัฒนาที่ขาดความโปร่งใส ไม่ต่างจากการสร้างทางเลียบแม่น้ำ นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบรูปแบบระหว่างสะพานดังกล่าวกับสะพานมิลเลเนียมที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้ค่าก่อสร้างเพียง 970 ล้านบาท ออกแบบโดยนอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชื่อดัง ด้วยโครงสร้างเบาบาง เพื่อเปิดมุมมองสู่เมืองเก่า ลดผลกระทบในการเป็นสิ่งแปลกปลอมของเมือง

อ.สถาปัตย์ชี้ ‘ทัศนอุจาด’
บนหัวแหวนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ประเด็นเรื่องสิ่งแปลกปลอม ต้องส่งไม้ต่อไปที่ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร จัดหนักว่า สะพานนี้ “ดูจะเป็นทัศนอุจาดมากกว่าจะส่งเสริมเมืองเก่า” เนื่องจากความสูงและผลกระทบทางสายตาที่มีต่อโบราณสถานโดยรอบ แถมลานคนเมืองท่าพระจันทร์ก็จะหายไปเกือบทั้งหมด เพราะถูกทำเป็นทางขึ้นของฝั่งพระนคร พร้อมกับตั้งคำถามว่า รูปแบบสะพานในฐานะที่เป็นหน้าตาของเมือง ทำไมไม่เปิดให้มีการประกวดแบบเพื่อให้ได้แบบที่ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่นำมาซึ่งการสร้างความมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงด้วย

“จากรูปที่เผยแพร่ออกมา โดยส่วนตัวเห็นว่ามิได้มีความสวยงามเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ หน้าตาแบบนี้เป็นได้แค่โครงสร้างทางวิศวกรรมมากกว่าจะเรียกว่าเป็นงานสถาปัตยกรรม ไม่คิดว่านี่จะเป็นความน่าภูมิใจของกรุงเทพฯอย่างแน่นอน ทำไมกรมศิลปากรและคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่นี้โดยตรงไม่ออกมาให้ข้อมูลแก่สังคมเลยว่าโครงการนี้เหมาะสมไหม ทำลายคุณค่าของเมืองเก่าหรือไม่”

ชาตรียังยืนยันว่า โครงการนี้ไม่มีความจำเป็น ไม่ว่าจะในเชิงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม หากจะสร้างจริง ยังมีข้อกังวลมากมายที่ควรจะต้องชี้แจงแก่สาธารณะ เช่น การวางตอม่อขนาดใหญ่ลงกลางแม่น้ำและยื่นออกมาจากตลิ่งสองฝั่ง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำอย่างมาก ทั้งยังตั้งคำถามเกี่ยวกับ EIA หรือการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้ นวรัตน์ เกี้ยวมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าผลการศึกษาจากรูปแบบล่าสุดของสะพานมีผลกระทบต่อการให้บริการเรือข้ามฟากและการเดินเรือขนาดใหญ่ รวมถึงเรือพระราชพิธี อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน สำหรับการคมนาคมขนส่งทางน้ำถือว่ากระทบในระดับปานกลาง เนื่องจากมีการใช้ตอม่อ กล่าวคือ ถ้าไม่มีตอม่อ จะมีผลกระทบน้อยกว่า

ภาพเปรียบเทียบสะพานคนเดินข้ามเจ้าพระยา กับ สะพานมิลเลเนียมลอนดอน โดยกลุ่ม ‘เอฟโออาร์’

หวั่นโศกนาฏกรรมจากความ ‘ไม่รอบด้าน’

เรื่อง “ตอม่อ” อันเดียว ที่ดูจะไม่น่าส่งผลกระทบใดๆ แต่คนเรือตัวจริงยืนยันหนักแน่นว่าน่ากังวลมาก

อิสรพน เปรมกมล ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน แต่กังวลอย่างยิ่งในเรื่องอุบัติเหตุ

“ที่ผ่านมา เวลากระแสน้ำแรงๆ เคยฟาดตอม่อสะพานพระปิ่นเกล้าหลายครั้ง รวมถึงบริเวณท่าน้ำศิริราช ในเมื่อจะมีการสร้างสะพานใกล้กัน เลยห่วงว่าอาจมีอุบัติเหตุที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม การบังคับเรือเข้าโค้งมันยาก ต่างจากรถยนต์ ถ้าเป็นไปได้อยากให้สร้างสะพานที่ไม่ต้องมีตอม่อได้หรือไม่”

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวละอองน้ำของพายุแห่งการวิพากษ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ การเดินหน้าหรือหยุดพิจารณาคำทักท้วงจากหลากแง่มุม คงเป็นบทพิสูจน์ว่าภาครัฐรับฟังเสียงจากภาคประชาชนอย่างทั่วถึงจริงตามที่ลั่นวาจาไว้หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image