นิเทศ-วารสาร ได้เวลาปรับตัว รับมือยุคดิจิทัล

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ มีอันต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด

แต่ในแวดวงการศึกษาก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

โดยเฉพาะคณะนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ ผู้เข้ามาศึกษาอาชีพด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในอดีตเคยเป็นคณะสุดฮิต บรรดานักศึกษาต่างหมายปองจะเข้าศึกษา เพื่อก้าวเข้าสู่แวดวงสื่อสารมวลชน แต่ระยะหลังเมื่อสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มได้รับความสนใจน้อยลง

ล่าสุดมีกระแสข่าวสะพัดว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพได้รับผลกระทบจนถึงขั้นต้องยุบภาควิชาสื่อสารด้านสิ่งพิมพ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ แต่ยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน

Advertisement

นายพีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท.) ชี้แจงว่า มกท.ไม่ได้ยุบภาควิชา แต่เป็นการรวมหลักสูตรกับภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และการรวม 2 ภาควิชาไม่ใช่การนำหลักสูตรมารวมกัน แต่เป็นการนำทรัพยากรที่มีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน ให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างไรก็ตามในส่วนของการปรับปรุงหลักสูตรวารสารอยู่ระหว่างดำเนินการ มกท.ดำเนินการทุก 2 ปี เพื่อให้หลักสูตรการเรียนการสอนมีความทันสมัย ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ที่ผ่านมา มกท.ทำงานกับภาคธุรกิจมาโดยตลอด

ดังนั้นจึงค่อนข้างเข้าใจว่าเอกชนต้องการผู้มีคุณสมบัติลักษณะใดเข้าไปทำงาน การผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันเด็กจบนิเทศศาสตร์ต้องสามารถทำงานได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น วารสาร วิทยุ ทีวี ไม่ใช่ทำได้เฉพาะสาขาที่เรียนอย่างที่ผ่านมา

โมเดลของ มกท.คือฝึกให้เด็กคิดคอนเทนต์มากกว่ารูปแบบ ถ้าเรายึดรูปแบบว่าเป็นวารสารต้องทำหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี อนาคตเด็กจบออกมาตกงานแน่นอน ดังนั้นเราต้องสร้างเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดวิเคราะห์ ให้เด็กสามารถปรับตัว ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม วารสารศาสตร์ยังต้องคงอยู่ เพราะไม่ใช่แค่รูปแบบในการทำงาน แต่เป็นศาสตร์ที่สำคัญของนิเทศ สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนและการทำงานทุกรูปแบบ ดังนั้นการรวมภาควิชาเพราะเด็กไม่อยากเรียนสื่อสิ่งพิมพ์แล้วจึงไม่ใช่เหตุผลที่เราปรับตัวครั้งนี้Ž นายพีรชัยกล่าว

Advertisement

นางพิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าวารสารศาสตร์ไม่ตาย การเรียนนิเทศศาสตร์แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเนื้อหาและส่วนที่เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค ขณะนี้มีความหลายหลาย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียเข้ามีบทบาทมากขึ้นทำให้สื่อมวลชนต้องปรับตัวถ้าไม่ปรับตัวเราก็ตายแน่นอน แต่ต้องไม่ใช่การนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปแปะในออนไลน์ ต้องสร้างจุดแข็ง ไม่เช่นนั้นหนังสือพิมพ์จะแพ้โซเชียล เพราะโซเชียลใครทำก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สื่อข่าว

ส่วนตัวยังเชื่อว่าการนำเสนอข้อมูลเข้มข้นเน้นความน่าเชื่อถือและหัวของสำนักข่าวยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนได้อยู่ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับตัวด้านธุรกิจทำสื่อโซเชียลควบคู่ แต่อาจต้องมองในเรื่องข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีความแตกต่างกับสื่อโซเชียลปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่ามีข้อมูลขยะค่อนข้างมาก

ต่อไปทิศทางการบริโภคสื่อของคนจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เช่น ทุกวันนี้โฆษณาจะเข้าเว็บเพจที่มียอดไลค์มาก แต่ทางกลับกันก็พบว่าเพจที่มียอดไลค์มากกลับมีคอมเมนต์จากคนอ่านค่อนข้างน้อย ดังนั้นยอดไลค์อาจไม่ใช่ตัวตัดสินความสนใจของผู้อ่านเสมอไป ทิศทางอนาคตโฆษณาดูที่ผู้อ่านมากขึ้น ทำให้สื่อต้องเน้นเนื้อหาข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบางฉบับปิดตัวลง แต่ไปเปิดตัวในรูปแบบออนไลน์ในลักษณะการแตกคอนเทนต์หลากหลาย ดึงดูดผู้อ่านเฉพาะกลุ่มที่สนใจเป็นเรื่องๆ เป็นต้น ดังนั้นสื่อจึงต้องปรับตัววิเคราะห์ทำความเข้าใจผู้อ่านด้วยŽ นางพิจิตรากล่าว

นางพิจิตรากล่าวอีกว่า ในส่วนของจุฬาฯเอง ท้ายที่สุดคงไม่ทิ้งการเรียนด้านวารสารศาสตร์ แม้ตัวเลขเด็กเข้าเรียนสาขาเป็นวิชาเอกจะลง แต่ก็มีเด็กจากสาขาอื่นมาเลือกเรียนวารสารเป็นวิชาโทมากขึ้น เพราะการเขียนและการเล่าเรื่องเป็นพื้นฐานการสื่อสาร แต่จุฬาฯเองก็ปรับตัวสอนนิสิตให้เน้นการทำงานบนฐานข้อมูล โดยร่วมกับภาคเอกชน ให้นิสิตได้ฝึกปฏิบัติจริง ขณะเดียวกันยังสอนเพิ่มเติม ด้านวารสารศาสตร์และธุรกิจเพื่อให้เด็กสามารถนำงานด้านวารสารไปปรับใช้ในการทำธุรกิจได้ด้วย

นางพรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บอกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่ใช่วารสารตาย ส่วนตัวแล้วไม่วิตกกังวลกับเรื่องนี้ ดูจากประวัติศาสตร์แล้วสื่อสารมวลชนมีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่เชื่อว่าวารสารศาสตร์จะยังคงอยู่ เพียงแต่ย้ายไปอยู่ในแพลตฟอร์มแบบใหม่ ดังนั้นการเรียนการสอนจึงต้องปรับตัว เช่น สอนทำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ให้เด็กได้ลงพื้นจริง ก็จะมีทั้งเรื่องสุขภาพ ชุมชนเป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของวารสารศาสตร์ มธ. ยังมีนักศึกษาเข้าเรียนใกล้เคียงกับที่ผ่านมา ไม่ได้ลดลงอย่างผิดปกติ

แต่ยอมรับว่านักศึกษาปัจจุบันสนใจงานเขียนเชิงสืบสวนสอบสวนน้อยลง แต่สนใจด้านความบันเทิง เช่น ท่องเที่ยวมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image