ควันหลงเวทีวิชาการ เมื่ออาจารย์ มธ. ถูกจี้เรื่อง “รัฐสวัสดิการ”- ขอข้อมูลยิบจนนึกว่าเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ”

ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการจัดนิทรรศการ “เจาะเวลาหาอนาคต” จัดโดยกลุ่ม Third Way Thailand มีการอภิปราย -เวทีเสวนาทางวิชาการหลายหัวข้อน่าสนใจ อาทิ 1. “ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ?” โดย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ 2. “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร?”โดย แสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 3. “ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของรัฐสวัสดิการไทย” โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4. “อุปสรรคของรัฐสวัสดิการไทยทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ” โดยจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การนำเสนอของแต่ละคนเป็นอย่างไร ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีวันนี้ ลองพิมพ์หัวข้อที่พวกเขานำเสนอใน “กูเกิ้ลก็น่าจะพบได้ไม่ยาก แต่ที่เป็น “ควันหลง” ซึ่งอาจารย์หนุ่ม ผศ.ดร. ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ได้เล่าให้ฟังวันก่อน นั้นน่าสนใจ และเป็นมุมที่ไม่ค่อยมีใครรู้ โดยเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งมานั่งรอฟังเขาตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม ต่อมาเมื่อเวทีเสวนาจบแล้วก็เข้ามาพูดคุยซักถามมากมาย ทั้งยังขอข้อมูล ให้ส่งให้ทางอีเมล์แบบชนิดละเอียดยิบ จนอาจารย์หนุ่มและภรรยานึกว่าถูก “เจ้าหน้าที่รัฐ” ตามติด

ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ?

ในเวทีดังกล่าว ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะนี่คือระบบที่เปลี่ยนสัตว์ให้เป็นมนุษย์ ทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยก็จะสมบูรณ์เมื่อมีรัฐสวัสดิการ หลายคนบอกว่าต้องเป็นประเทศรวยถึงจะมีรัฐสวัสดิการได้ งานวิจัยตนเองชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เคยยากจนเมื่อเริ่มต้นพัฒนารัฐสวัสดิการ ดูแลมนุษย์ สุดท้ายก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ว่านายทุนมานั่งคำนวณว่ารัฐสวัสดิการดีแล้วจัดให้ แต่มาจากการต่อสู้ เมื่อเกิดฉันทามติผ่านอำนาจทางการเมือง วิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็จะตามมา

Advertisement

ควันหลงงาน กรณีคนเข้ามาพูดคุยซักถามและขอข้อมูล ซึ่งแรกอาจารย์หนุ่มก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยมากนัก อาจเป็นเพราะเรื่องรัฐสวัสดิการที่เขาเคลื่อนไหว10 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยดีนัก โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นนั้น กระแสการปฏิรูปสังคมผ่านนโยบายประชานิยม ช่วงนั้น พยายามเสนอประเด็นว่า เราสามารถมีสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าพรรคการเมืองของนักธุรกิจแบบทักษิณ ที่แม้จะก้าวหน้าแล้วแต่มันยังไม่สุด เราต้องการมากขึ้นให้ถ้วนหน้า ครบวงจรจากเกิดจนตาย และคนรวยต้องรับผิดชอบ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า กระแสตอนนั้นทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่เอา เพราะเหมือนทำให้สิ่งที่ทักษิณทำไว้ดีขึ้น แถมซีกไทยรักไทยก็ไม่นิยมเรา เพราะเหมือนเราพยายามต่อต้าน พอหลังรัฐประหารปี พ.ศ.2549 กระแสของฝ่ายก้าวหน้าก็วนกลับไปเรื่อง การต้านเผด็จการ กลับมาคุยเรื่องสิทธิพื้นฐาน พูดตรงๆคือฝ่ายก้าวหน้าก็มองว่าเรื่องรัฐสวัสดิการไกลเกินไปไม่ควรพูดมันไม่ฮิต งานล้นมือซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆเผด็จการทำให้เราต้องกลับไปเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ 101 สู้กับปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเคลื่อนไหวเรื่องนี้นอกจากจำนวนจำกัดแล้ว ยังไม่ค่อยมีพื้นที่ โดนกรองจากเผด็จการ โดนกรองจากประเด็นการเคลื่อนไหว ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมาการจัดเสวนา คนเข้าร่วมน้อยมาก

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กำลังนำเสนอหัวข้อ “ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ” โดยมี จาตุรนต์ ฉายแสงกำลังนั่งฟังอย่างตั้งใจ

“ฝ่ายขวารุม ทั้งเผด็จการและพวกนิยมตลาดเสรี ฝ่ายก้าวหน้าก็ไม่สนใจ NGO-ภาคประชาชนก็มีประเด็นเฉพาะหน้าของเรื่องตัวเอง ทั้งๆที่เรื่องนี้คือเบสิคของประชาธิปไตย ที่หากพูดเรื่องประชาธิปไตยแต่ไม่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมของคุณภาพชีวิตก็ไม่ใช่ โดยปกติผมก็จะดีใจที่มีคนมาสนใจเรื่องนี้ แต่จากประสบการณ์มันน้อยมากจริงๆ กระทั่งมาเป็นอาจารย์ได้เปิดวิชานี้ ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักในช่วงแรกๆ ทุกครั้งที่มีคนสนใจ มันแปลกใจ และดีใจไปพร้อมกัน” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

Advertisement

เจ้าหน้าที่รัฐแอบถามหรือเปล่า?

แม้ว่าประเด็นรัฐสวัสดิการปกติแล้วคนสนใจน้อย ไม่อยู่ใน spotlight แต่ว่าฝ่ายรัฐก็จะเฝ้าระวังมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อมีคนสนใจเรื่องนี้ โดยเฉพาะชายคนนั้นที่มารอตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม เฝ้ารอจนงานเลิก และมีคำถามมากมาย อีกทั้งยังขออีเมล์และให้อาจารย์หนุ่มส่งอีเมล์ให้อีก จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อนำเรื่องนี้ไปเล่าให้กับภรรยาฟัง จะโดนเตือนกลับมาว่าทำไมไว้ใจคนง่ายจัง คนที่มาขอข้อมูลอาจเป็นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจไปเค้นหาสิ่งที่ล่อแหลมในข้อมูลเหล่านั้น แล้วแจ้งความเอาผิดเขาได้ไม่ยาก

“แฟนผมบอกให้ผมระวังไว้ เพราะรัฐและชนชั้นนำถึงเห็นแบบนี้ก็ก้าวไวกว่าเราเสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่จะสั่นคลอนอำนาจเขาได้จริงๆ ซึ่งรัฐสวัสดิการคือสิ่งที่พวกเขากลัว สาเหตุหนึ่งที่พวกเขาต้านประชาธิปไตยก็เพราะกลัวมันจะพัฒนาเป็นการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ นี่เป็นคำแนะนำที่แฟนผมบอกผมไว้โดยตลอด และในงานสัมมนาที่คนเยอะๆ ก็มักมีสันติบาล มีเจ้าหน้าที่รัฐมาด้วยทุกครั้ง แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจส่งข้อมูลที่ชายคนนั้นขอให้ไป เป็นรายละเอียดวิชาที่สอน ชื่อ เศรษฐกิจการเมืองในประเทศรัฐสวัสดิการ เอกสารอ่านเพิ่มเติม พาวเวอร์พอยต์ ซึ่งก็มีงานเขียนของผมปนอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่ความลับอะไรก็เป็นทรัพยากรการศึกษาที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ เป็นเรื่องที่ดีเสียอีกที่จะมีคนสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กับทุกคน” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข้อมูลเปิดเผย ใช้สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นปกติ แต่ลึกๆ เขาและภรรยาก็ย่อมติดใจ กับการที่มีคนมาจี้ถามข้อมูล ขอข้อมูล และสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการเข้มข้นจริงจังอย่างนี้ เพื่อความสบายใจ อาจารย์หนุ่มจึงลองใช้อีเมล์ของชายคนดังกล่าว ค้นดูว่าเป็นใคร สุดท้ายก็ได้รู้ว่าเป็น “หมอ”

‘หมอ’ กับรัฐสวัสดิการ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ เล่าให้ฟังว่า ลองนำ email ไป search ก็ขึ้นว่าเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล เลยคิดว่ามันน่าสนใจมาก เพราะในปี พ.ศ. 2560 กระแสเรื่องรัฐสวัสดิการเริ่มสูงมากขึ้น มีนักวิชาการรุ่นใหม่ที่พูดเรื่องความเปราะบางในกระแสเสรีนิยมใหม่มากขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามว่า ชีวิตของพวกเขาในทางเศรษฐกิจมันแย่ แต่คนรุ่นเก่าบอกสูตรเดิมให้ ขยันอดทน ซึ่งมันสมเหตุสมผลน้อยลงทุกที ความสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการและการตั้งคำถามว่ามันมีหนทางแบบอื่นที่ไม่ใช่ การแข่งขันและถีบตัวเองให้สูงขึ้นมีจริงไหมสังคมที่โอบอุ้มทุกคน เทอมที่ผ่านมาสอน วิชารัฐสวัสดิการ ที่ มธ.ลำปาง ครั้งแรกจากที่ 2ปี ก่อนเปิดเฉพาะที่ท่าพระจันทร์ มีคนลงเรียนเกือบ 40 คน ถือว่าเยอะมากของวิชาเลือก กระแสของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม เริ่มใช้รัฐสวัสดิการเป็นแนวทางหลักมากขึ้น เป็นอวสานแนวคิด NGO แบบพื้นที่ใครพื้นที่มัน ขบวนการที่ตั้งคำถามเชิงโครงสร้างเริ่มก่อรูปร่างขึ้นมา ก็เลยคิดว่าไม่น่าแปลกใจนักที่จะมีหมอ กลุ่มอาชีพที่ใกล้ชิดกับความเปราะบางของคนไทยมากที่สุด มากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายเท่า หันมาสนใจ

“พอมองด้านนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะมีคนรุ่นใหม่ในวิชาชีพนี้ ซึ่งก็ตั้งคำถามเหมือนคนรุ่นใหม่ในอาชีพอื่นๆว่า ระบบที่เราใช้อยู่มันไม่ดีต่อใคร ไม่ดีต่อชนชั้นล่าง ไม่ดีต่อชนชั้นกลาง แม้เป็นชนชั้นสูงก็อาจไม่มั่นคง เราจะปล่อยให้คน 90% ของประเทศที่อยู่ใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่ดีขึ้น และชนชั้นนำจ้องจะยกเลิก แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร ที่ผ่านมา เรามักมองว่า แพทย์ คือฝั่งตรงข้ามกับแนวทางรัฐสวัสดิการ ซึ่งจริงๆแล้วมีแพทย์ที่ไม่ชอบนโยบายสามสิบบาทจริง ที่ปฏิเสธระบบนี้ในฐานะนโยบายคุณภาพชีวิตก็คงมี แต่ผมมองว่าส่วนน้อย และอาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ที่ไม่ชอบสามสิบบาทก็เยอะ ผมเชื่อว่าโรงเรียนแพทย์ในไทยมีคุณภาพที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องการสอนทางเทคนิกเท่านั้น การเปลี่ยนลูกหลานชนชั้นกลางระดับสูงที่สนใจแต่เรื่องตัวเอง สู่แพทย์ที่ทำงานหนัก เป็นหนึ่งใน 5 หมื่นคนที่ดูแลคนกว่า 65 ล้าน สะท้อนความสำเร็จของระบบการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ นักกายภาพ ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล แพทย์ คือกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลที่ดีที่สุด การปฏิรูประบบค่าจ้างแพทย์ ดีขึ้นมาก นับจากการเริ่มใช้นโยบายสามสิบบาท แต่ก็ต้องดีขึ้นอีก เป็นอาชีพที่ผมจะไม่ลังเลหากรัฐจะทำให้ค่าจ้างของพวกเขาสูงที่สุดในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชนให้เท่าไรให้ได้เท่ากัน และเพิ่มจำนวนให้ได้อีกเท่าตัว ประเทศไม่ล้มละลายด้วยการที่คนมีสุขภาพดี

“น่าเสียดายที่ทิศทางของรัฐบาลตั้งแต่ปี 57 ตรงกันข้าม 30 บาทยังคงอยู่แต่จำกัดการใช้งบประมาณ จำกัดการขยายสิทธิประโยชน์ สุดท้ายอาจเหลือแต่โครง แถมเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลรัฐประพฤติเยี่ยงเอกชนมากขึ้น หากำไรต่างๆ ทรัพยากรบุคคลหายไปกับการแสวงหากำไร ส่งเสริมทุนด้านสาธารณสุขเชิงพาณิชย์จนใหญ่โตร่ำรวย ภายใต้สโลแกนทำให้เป็น hub การรักษาพยาบาลเชิงพาณิชย์ งบประมาณรัฐหมดไปกับการรณรงค์เรื่องสุขภาพ ผ่านบางองค์กร แต่หัวใจหลักของสุขภาพที่ดีในการมีหน่วยงานปฐมภูมิที่มีคุณภาพและเพียงพอ ในท้องถิ่นถูกมองข้าม ดังนั้น ผมดีใจและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารของผมจะเป็นประโยชน์และจุดประกายคุณหมอท่านนั้นต่อไป” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

ทั้งหมดฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรจะพุ่งเป้าไปที่เรื่องราวที่คุยกันในวงเสวนามากกว่า แต่ก็ใช่ไหมว่า “ควันหลง” นี้ ระหว่างบรรทัด ระหว่างความคิดของ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี น่าคิดและใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่เรากำลังให้ “พี่ตูน” อาทิวราห์ คงมาลัย ร็อคเกอร์ชื่อดัง วิ่งระดมทุนมามอบให้โรงพยาบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image