จัดเต็ม ตามคำขอ รัฐธรรมนูญ มีชัย รัฐธรรมนูญ คสช.

ไม่ผิดไปจากความคาดหมาย

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์ 2559” ออกมาตามแนวทางที่ คสช. ระบุเอาไว้เกือบจะโดยทุกประการ

ประธานร่างรัฐธรรมนูญอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ในบทเฉพาะกาลให้มี ส.ว.มาจากการสรรหา 250 คน ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย โดยมีหน้าที่ดูแลกฎหมาย ไปพร้อมกับหน้าที่การติดตามทวงถามเกี่ยวกับการปฏิรูป

ส.ว.สรรหา 250 คน ให้มีการเลือกกันทั้งประเทศเหลือ 200 คน แล้วให้ คสช. เลือกเหลือ 50 คน ส่วนอีก 200 คน ให้มีการตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกจากผู้สมัคร 400 คน เหลือ 194 คน

Advertisement

อีก 6 คน มาจากผู้นำเหล่าทัพ ให้มาดูเรื่องความมั่นคง หากมีปัญหาอะไรสุ่มเสี่ยง ก็ให้ ส.ว. 6 คนนี้มาชี้แจงต่อที่ประชุม จะได้ไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวนอกสภา

ส่วนที่ฝ่ายการเมืองกังวลว่า 6 ส.ว.สรรหา จากกองทัพ เป็นการสืบทอดอำนาจ คสช.นั้น

เชื่อว่าไม่น่ากระทบต่อการลงประชามติ

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ ที่ระบุว่าถ้ามี ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดของสภา ให้เสนอเรื่องต่อประธานสภา เพื่อให้ประธานสภาเรียกประชุมรัฐสภา พิจารณาประเด็นที่ขอให้มีการเสนอชื่อนายกฯที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีได้

และถ้าที่ประชุมรัฐสภาโดยคะแนนเสียง 2 ใน 3 เห็นชอบ แล้วให้สภาผู้แทนฯกลับไปพิจารณาเลือกนายกฯ จากบัญชีซึ่งอาจเป็นคนในบัญชีหรือนอกบัญชีก็ได้ ถือเป็นเรื่องใหม่จะเกิดอะไรขึ้นคงเดาได้ยาก กรธ.เขียนเปิดช่องไว้

แต่ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่ต้องใช้

หากสื่อช่วยอธิบายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะ กรธ.บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า การเสนอชื่อนายกฯให้เป็นมติของพรรคการเมือง

ซึ่งการเมืองก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ กรธ.

คือความเห็นของนายมีชัย

ฉับพลันทันควัน หนึ่งวันถัดมา

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยด้วยเหตุผลว่า

ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหวยิ่งขึ้น

สร้างให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือสภาและรัฐบาล

สร้างภาพว่าเพื่อปราบโกง โดยมุ่งสกัดกั้นนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่มิได้ปฏิรูปและวางระบบเพื่อแก้ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงแม้แต่น้อย

สร้าง “ยุทธศาสตร์บังคับเดิน 20 ปี”

ทำประเทศถอยหลัง

สร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม ความปรองดองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

และเสนอขอให้ประชาชนร่วมกันออกมาลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน และขาดความเป็นประชาธิปไตย

รวมทั้งให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนการลงประชามติให้ชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว พร้อมกับจัดเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน

หลังจากนั้นให้รัฐบาลจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการยกร่างจนถึงการให้ความเห็นชอบด้วยการลงประชามติ

โดยพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าจะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2560

เพราะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชนและนานาประเทศหลายครั้งหลายหน

ประเด็นน่าสนใจจากนี้ไปก็คือ

ประการหนึ่ง แล้วพรรคหรือนักการเมืองคนอื่น รวมไปถึงระบบเครือข่ายการเมืองของแต่ละพรรค จะมีท่าทีต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร

ประการหนึ่ง คสช.และรัฐบาลจะอาศัยมือไม้ กลไก และเครือข่ายผลักดันให้รัฐธรรมนูญนี้ผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติ ด้วยวิธีการและด้วยความพยายามระดับใด

ประการหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร และจะออกมาแสดงตนอย่างไรในการลงประชามติ 7 สิงหาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image