นักศึกษาธรรมศาสตร์ เลือกอ่านวิจารณ์หนังสือการเมืองเล่มใด? – เกษียร เตชะพีระ

นักศึกษาธรรมศาสตร์เลือกอ่านวิจารณ์หนังสือการเมืองเล่มใด โดย เกษียร เตชะพีระ

นักศึกษาธรรมศาสตร์ เลือกอ่านวิจารณ์หนังสือการเมืองเล่มใด?

ในฐานะงานเก็บคะแนนส่วนหนึ่งของนักศึกษาวิชา ร.321 การเมืองการปกครองของไทย ในระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผมสอนอยู่ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมาทุกภาคการศึกษาที่ผมเปิดสอนวิชานี้ที่จะคัดเลือกเอกสารหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยมาให้นักศึกษาแต่ละคนเลือกวิจารณ์สั้นๆ คนละ 1 รายการ (ความยาวบทวิจารณ์ 2 หน้ากระดาษ A4 ตัวพิมพ์ Font 14 เว้นขอบหน้ากระดาษ 4 ด้านเพื่อให้ผมเขียนคอมเมนต์กลับไปให้นักศึกษาได้)

หากนักศึกษาสนใจจะเลือกเอกสารหนังสือที่นอกเหนือจากรายการที่ระบุไว้ ให้นำมาขอความเห็นชอบจากผู้สอนก่อนเป็นรายๆ ไป

ในภาคการศึกษานี้ ผมคัดเลือกเอกสารหนังสือสำหรับให้นักศึกษาเลือกวิจารณ์มารวมทั้งสิ้น 52 รายการ (ดูรายชื่อเอกสารได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/98112122/PO%20321%20Outline58%20copy.pdf) และเพิ่งเก็บงานวิจารณ์นักศึกษาทั้ง 112 คนมาเพื่อตรวจช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ผมพบว่ามีข้อสังเกตน่าสนใจบางอย่างเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบรับและคำวิจารณ์ของนักศึกษาต่อเอกสารหนังสือเหล่านี้ และจะขออนุญาตนำมาเล่าต่อเป็นบางเล่มบางรายการพอหอมปากหอมคอ

Advertisement

ในรายการเอกสารสำหรับเลือกอ่านวิจารณ์ 52 รายการ รายการยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ :

1. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี, 2556 (มีนักศึกษาเลือก 9 คน)

2. สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. กบฏจีนจนบนถนนพลับพลาไชย, 2555 (มีนักศึกษาเลือก 8 คน)

Advertisement

3. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ประชาธิปไตย คนไทยไม่เท่ากัน, 2557 (มีนักศึกษาเลือก 8 คน)

ซึ่งบังเอิญทั้ง 3 เล่มล้วนตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเหมือนกันพอดี

ข้อสังเกตที่ผมมีต่องานอ่านวิจารณ์ของนักศึกษาร้อยกว่าคนรอบนี้ในภาพรวมคือ :

– ระดับความเข้าใจของนักศึกษาต่อเอกสารหนังสือที่ค่อนข้างอ่านยาก ใช้แนวคิดทฤษฎีหรือวิธีศึกษาวิเคราะห์ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมและซับซ้อนมากหน่อย จัดว่าดีผิดคาด พวกเขาสามารถจับประเด็นตั้งข้อสังเกตวิจารณ์ได้แหลมคม

เช่น หนังสือ กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ และ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง : ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล, หนังสือ รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ : จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ของ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย, ชุดบทความรัฐราชการของผมเอง, และหนังสือ ความรุนแรงกับการจัดการความจริง : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ ของ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นต้น

– นักศึกษาสนใจอ่านงานที่ทวนกระแส เสนอมุมมองใหม่ แหวกกรอบแนวคิดและมุมมองแต่เดิมมากขึ้น เช่น ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ของ อ.คริส เบเคอร์ กับ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร, งานทั้ง 2 เล่มของ อ.ธงชัย ที่เอ่ยถึงข้างต้น, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500) ของ อ.ณัฐพล ใจจริง, ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี ของ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นต้น

– นักศึกษาสนใจอ่านงานเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ (จีน, มลายูมุสลิม) และวัฒนธรรม (ชุดบทความว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย, หนังสือ อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทยๆ และบริโภคความเป็นไทย ของ คุณประชา สุวีรานนท์ และผม) มากขึ้น

สําหรับประเด็นวิจารณ์ของนักศึกษาที่โดดเด่นขึ้นมาและดูจะเป็นปมค้างคาใจ น่าอภิปรายถกเถียงสืบต่อได้แก่เรื่อง “อคติ” และ “ความจริง”

นักศึกษาบางคนตั้งข้อสังเกตเชิงวิจารณ์ว่าผู้เขียนบางท่านน่าจะมีอคติลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในเรื่องที่ตนเขียนถึง ไม่เป็นกลางทางวิชาการ ทำให้ผลงานไม่ใคร่น่าเชื่อถือ เช่น อ.สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ เองก็เป็นลูกจีนชนชั้นกลางระดับล่างในกรุงเทพฯ เหมือนพวกกบฏจีนจน หรือ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ก็เป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้ประสบเหตุรุนแรงและผู้ต้องหากรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมเห็นว่า พูดให้ถึงที่สุด สิ่งที่เราเรียกแรงๆ ว่า “อคติ” (bias) นั้น หากเรียกในทางวิชาการอย่างเยือกเย็นก็คือ “มุมมอง/จุดยืน” (perspective/standpoint) นั่นเอง

ในการค้นคว้าคิดเขียนงานวิชาการชิ้นหนึ่งย่อมเป็นธรรมดาและเลี่ยงไม่ได้ที่คนเราจะทำจากมุมมองหรือจุดยืนหนึ่งๆ งานเขียนและผู้เขียนที่ปลอดอคติ หลุดพ้นจากมุมมองและจุดยืนทั้งปวง และสามารถมองได้จากทุกมุมหรือไม่ยืนตรงจุดไหนเลย (แปลว่าเขาลอยตัวเหนือพื้น? เหาะได้?) นั้นไม่มี เพราะเราไม่มีตาทิพย์ ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า ที่จะมองได้จากทุกมุมและหลุดพ้นจากโลกวิสัยไปได้ มนุษย์ขี้เหม็นอย่างเราก็เป็นอย่างนี้แหละ มีอคติ มุมมอง จุดยืน ถึงเป็นนักวิชาการและนักวิจัยแล้ว ก็ยังขี้เหม็นอยู่เหมือนเดิม จะไม่เหม็นและกลายเป็นขี้หอมไปได้อย่างไร การเรียกร้องให้ปุถุชนบรรลุโมกขธรรม ชำระล้างอคติ เป็นอริยบุคคลให้ได้ก่อนทำงานวิชาการสักชิ้นจึงเป็นเรื่องเหนือจริงเกินไป

แต่ที่เราพอทำได้กับอคติ/จุดยืน/มุมมองที่ติดเนื้อติดตัวเราคือ

1. สำนึกรู้เท่าทันมัน

2. ประกาศมันออกมาอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ให้คนอ่านคนฟังระวังรู้ตัวไว้แต่แรก ดังผู้เขียนที่เอ่ยถึงทั้งสองก็ได้กระทำ

3. พยายามกำกับกำราบควบคุมมัน ด้วยหลักวิชา วิธีวิทยา จรรยาบรรณ ข้อมูลข้อเท็จจริง มุมมองอื่นๆ อาจารย์ที่ปรึกษา กรรมการวิทยานิพนธ์ นักวิจารณ์ นักศึกษา ฯลฯ หรือด้วยเครื่องมือคุมตัวเองอื่นๆ อันอยู่ในวิสัยที่มนุษย์ในสังคม/สถาบันพึงมี โดยเข้าใจว่าแม้จะทำให้มันหายหมดสิ้นไปไม่ได้ แต่ต้องคุมมันให้อยู่ ไม่ให้มันกำเริบร่านจนส่งผลเสียให้เราทำงานโน้มเอียงผิดหลักเหลวไหลผิดพลาดบิดเบือน

หรือหากจะดูแบบอย่างครูเบ็น แอนเดอร์สัน ที่เคยสาธิตแนะแนวให้ลูกศิษย์อย่างผมก็คือ…ยูจะมีอคติ จุดยืน มุมมองอะไรก็มีไป แต่เวลาศึกษานั้น ให้เล่าเรื่องออกมาอย่าง “เลือดเย็น”, ทำได้ไหมเล่า?

พึงเข้าใจว่า อคติ (จุดยืน/มุมมอง) ต่อให้เป็นอคติ ก็ผลิตออกมาซึ่งความรู้ (knowledge) ได้ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ก็เช่นเดียวกับความรู้ทั้งหลาย ความรู้ซึ่งมาจากจุดยืน/มุมมอง/อคติแน่นอนหนึ่งๆ นั้น ก็ย่อมผิดพลาดได้ ไม่รอบด้านได้ ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ดังศาสนาหรือโอวาทของศาสดาหรือพระเจ้าที่ห้ามท้าห้ามเถียงห้ามโต้แย้งเช่นกัน

สําหรับเรื่อง “ความจริง” ดูเหมือนนักศึกษาบางคนจะยึดติดคติที่ว่าความจริงคือตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่าตกลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ฯลฯ และในแง่นั้น ก็บ่นว่างานบางเล่มไม่ได้ให้คำตอบที่ทั่วถ้วนถึงใจเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นต้น

ถ้ามอง “ความจริง” ในแง่นั้น (มองอย่างปฏิฐานนิยม หรือ positivism, positivist history) แม้งานบางเล่มจะพยายามขุดค้นนำเสนอข้อเท็จจริงและหลักฐานประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและไม่เคยมีการเข้าถึงมาก่อนบางส่วน (เช่น งานของ อ.ธงชัย พูดถึงเอกสารคดี 6 ตุลา ที่หอจดหมายเหตุสำนักงานอัยการสูงสุด, คำให้การพยานตำรวจคดี 6 ตุลา, ฯลฯ) แต่ถึงกระนั้น มันก็คงยังไม่ใช่การนำเสนอ “ความจริง” ของเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จหมดจดสำเร็จรูป และเอาเข้าจริง นั่นก็ไม่น่าใช่วัตถุประสงค์ของงาน

งานอย่างของ อ.ธงชัย และ อ.ชัยวัฒน์ ที่พูดถึงเหตุการณ์รุนแรงในอดีตนั้น ไม่ได้มุ่งเสาะหา “ความจริง” ของเหตุการณ์ เท่ากับพยายามแสวงหาและทำความเข้าใจปัญหาอุปสรรคและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การรำลึกถึงเหตุการณ์ของฝ่ายต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยต่างหาก มันเป็นด้านอัตวิสัย (ความหมาย, การตีความ, ความทรงจำเชิงอัตวิสัย หรือ subjective meaning, interpretation, memory) ของ “ความจริง” เชิงเหตุการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป

แต่การที่มันเป็นด้านข้างใน ด้านอัตวิสัยภายในที่แตกต่างหลากหลายของบุคคลกลุ่มฝ่ายต่างๆ ก็มิได้ทำให้มัน “จริง” น้อยลง หรือ “ไม่จริง” หรือ “มีค่าความจริงน้อยกว่า” ความจริงเชิงเหตุการณ์แต่อย่างใด

ดูจะกลายเป็นนิสัยสันดานติดตัวเรามาแล้วกระมัง ว่าไม่อาจเห็นอะไรเป็น “ความจริง” นับมันเป็นส่วนหนึ่งของ “ความจริง” ได้ ถ้ามันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น… แล้วเราก็ตัดตอน ตัดขาด ตัดหางปล่อยวัดอีกส่วนหนึ่งของโลก นั่นคือโลกด้านอัตวิสัยที่เกิดขึ้นจริง คือมีคนคิดเห็นและรู้สึกนึกคิดแบบนั้น จดจำแบบนั้นจริงๆ ออกไป หาว่ามันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลก, ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความจริง

ดังที่เรามักตัดอุดมคติหรือยูโทเปียของมนุษย์ออกไป ว่ามันไม่จริง ทั้งๆ ที่ผู้คนเขาก็มีอุดมคติและใฝ่ฝันอยากได้สังคมในฝันแบบนั้นจริงๆ ความฝันนั้นไม่ได้จริงน้อยลงเนื่องจากมันเป็นความฝันเลย เพราะคนฝันถึงมันอย่างนั้นจริงๆ และในโลกความจริงของคนเราที่มีหลายมิติหลายด้านนั้น เราจะตัดด้านความฝัน อุดมคติ หรือในที่นี้คือความหมายความทรงจำเชิงอัตวิสัย ทิ้งออกไปอย่างพลการว่ามันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความจริงได้อย่างไร ถ้าทำแบบนั้น ความจริงที่เหลืออยู่ก็ย่อมพร่องพิการ ไม่ได้โอบรับแทนตนความจริงทุกมิติทุกด้านของคนเราทั้งหมดอยู่ดี มิใช่หรือ?

(ตอนหน้าผมจะยกตัวอย่างบทวิจารณ์ของนักศึกษาต่องานบางชิ้นที่น่าสนใจมานำเสนอ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image