พลังคนรุ่นใหม่ พลิกฝันคนเมือง “ขอนแก่นโมเดล” ต้นแบบ “สมาร์ทซิตี้” เต็มสูบ

ขณะที่ภาครัฐเดินหน้าส่งเสริมแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี นโยบายที่มุ่งขับเคลื่อนและยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย

ภาคในประเทศเองก็มีการขยับขับเคลื่อนของเอกชนที่น่าสนใจยิ่งที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ฮือฮามาตั้งแต่ปี 2557 จาก “ซิตี้บัสโปรเจ็กต์” รถเมล์อัจฉริยะในฝันของคนไทยทั้งประเทศ ที่ให้บริการในเขตจังหวัดขอนแก่น ครบถ้วนด้วยเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์วิถีคนเมืองปัจจุบัน ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ชำระค่าโดยสารด้วยตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ หรือใช้บัตรโดยสารแบบสมาร์ทพาส มีไวไฟฟรี มีแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบตำแหน่งของรถแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีลิฟต์สำหรับให้บริการผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์อีกด้วย

“ขอนแก่น ซิตี้บัส” เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ โปรเจ็กต์ที่ภาคเอกชนเมืองดอกคูนเสียงแคนร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาเมือง ยังมีอีกโครงการที่ถือเป็นความท้าทาย เป็นปรากฏการณ์ของพัฒนาเมืองระดับภูมิภาค “โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา” (Light Rail Transit) ที่เกิดจากภาคพลเมืองคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นลงทุนเอง บริหารจัดการเองทั้งหมด

Advertisement

อยากได้ต้องสู้เอง หมดยุคแบมือรอ

มีโอกาสไปเยี่ยมยามเมืองดอกคูนเสียงแคน ตามคำเชื้อเชิญของเจ้าบ้าน-คุณนายผู้ว่าฯขอนแก่น สิริพร สงบธรรม นอกจากจะได้เยี่ยมชมกิจการของนักธุรกิจรุ่นใหม่ตั้งแต่เจ้าของกิจการบูทีคโฮเต็ล ร้านอาหารพื้นบ้าน ไก่ย่าง-ส้มตำ ที่ใช้ไก่สายพันธุ์ KKU1 จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ให้ค่ากรดยูริกต่ำ กิจการไอศกรีมโฮมเมด ที่จัดการตั้งแต่เลี้ยงวัว-รีดนมเอง และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำฟาร์มโคนมให้กับนักท่องเที่ยวของเมือง ฯลฯ

วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข.เป็นอีกเป้าหมายที่ไม่พลาด ไปทำความรู้จักกับอีกภาคมันสมองของเมือง เบื้องหลังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งปัจจัยสำคัญเมืองมหานคร “ขอนแก่นโมเดล”

“ขอนแก่นโมเดล” คือต้นแบบในการพัฒนาเมืองที่พยายามวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้แก่เมือง (Transit-Oriented Development: TOD) ผ่านการลงทุนของนักธุรกิจ 20 คนในจังหวัดขอนแก่น

Advertisement
ดร.ณรินทร์ เจริญทรัพยานนท์

ดร.ณรินทร์ เจริญทรัพยานนท์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มข. เล่าเบื้องหลังของภาคเอกชนที่ลุกขึ้นมาบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานเอง โดยเริ่มที่ด้านคมนาคมว่า เป็นการผนึกกำลังร่วมกันแต่ละภาคส่วนของชุมชน ทั้งที่เป็นภาคประชาสังคม ภาคส่วนที่เป็นท้องถิ่น ภาคส่วนที่เป็นเอกชน เช่น 23 ตระกูลแซ่ในขอนแก่น ที่มองไปข้างหน้าว่าในทศวรรษหน้าอยากเห็นขอนแก่นเป็นอย่างไร กระทั่งเกิดเป็นบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (ขอนแก่น ทิงก์ แทงก์) หรือ KKTT

แต่ทว่า กว่าจะขึ้นมาเป็น KKTT ไม่ได้ใช้เวลาแค่ไม่กี่ปี แต่เกิดจากการพูดคุยกันเป็นสิบๆ ปี พูดคุยกันจนตกผลึกได้วิสัยทัศน์ร่วมกัน ผ่านการจัดเวทีสานเสวนา โดยมี “สำนึกรักบ้านเกิด” เป็นจุดร่วม

“เราคุยกันจนทุกคนเบื่อ คุยแล้วคุยอีก ตั้งแต่ปี 2547 จนมีการตั้งมูลนิธิขอนแก่นเพื่อทศวรรษหน้า จนถึงการจัดตั้งสภาเมือง”

ดร.ณรินทร์บอกพร้อมรอยยิ้ม แน่นอนว่าหลังจากทุกคนผ่านความเครียด ความเหนื่อยหน่าย วันนี้ด้วยความมุ่งมั่นกับอนาคตที่เลือกเอง ความฝันความหวังจึงจุดขึ้นอีกครั้ง และว่า…

ขอนแก่นโมเดลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มี 3 สิ่ง คือ การสร้างองค์ความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม และอำนาจรัฐ เพราะจะมัวรอกลไกของรัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แล้วยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมากรณีแนวคิดของการสร้างรถสาธารณะเมื่อปี 2547 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมายให้ มข.ศึกษาภายใต้งบประมาณ 5 ล้านบาท และได้ออกมาเป็น “บีอาร์ที” แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ทุกอย่างก็หยุดชะงัก

เป็นที่มาของการจับมือร่วมกันขององค์กรท้องถิ่นดำเนินการด้วยตนเอง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเมือง โดยมี “สำนึกรักบ้านเกิด” เป็นจุดเชื่อมโยง และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่ว่าเราจะพัฒนาเมืองอย่างไรจึงจะพึ่งพิงงบประมาณจากส่วนกลางให้น้อยที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ทำอย่างไรจะพึ่งพิงตนเองทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด พึ่งพิงทุนทางสังคมให้ได้เยอะที่สุด

การจะบรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งไว้ ดร.ณรินทร์อธิบายว่า ต้องอาศัยพาหนะพิเศษหลายอย่าง อย่างแรกคือ KKTT “ขอนแก่น ทิงก์ แทงก์” (Khon Kaen Think Tank) เป็นการร่วมมือกันของนักธุรกิจหนุ่มภาคเอกชน 20 คน ลงขันคนละ 5 ล้านบาท ก่อตั้งเป็นบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้นมาทำงานเพื่อช่วยรัฐในการพัฒนาเมืองตนเอง

“ส่วนมากเป็นนักธุรกิจรุ่นที่ 3-4 เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นที่มีปู่ย่าตายายอยู่ที่นี่ ที่ตั้งใจจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเมืองนี้ เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ทางสังคมของเมืองนี้”

“โครงการแรกคือ การออกแบบหอประชุมนานาชาติ ซึ่งเมื่อแบบออกมาแล้วเอกชนเริ่มเห็น หลังจากนั้นซีพีก็เข้ามาสร้าง KKTT ก็ถอนตัวออกมา เพราะมองว่าจะเป็นใครก็ได้ถ้าเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองให้ถือเป็นสิ่งดี”

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มข. ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องนี้ เล่าให้ฟังต่อไปว่า ขอนแก่น ทิงก์ แทงก์ เข้ามาทำในหลายๆ เรื่อง นอกจาก “ซิตี้บัส โปรเจ็กต์” ยังมี “ขอนแก่น ไมซ์ แมเนจเมนต์” หรือ KKMM โครงการพิเศษที่เป็นวันสต๊อป เซอร์วิส อำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการงานประชุม โดยจะประสานงานจัดหาทุกอย่าง รวมไปถึงห้องพัก อาหาร-เครื่องดื่ม

ความต่างระหว่าง ‘คุ้มค่า’ กับ ‘คุณค่า’

สำหรับ “ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม” หรือ KKTS จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัด เพื่อดำเนินการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้ารางเบา เป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ ถือหุ้นโดย 5 เทศบาล เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลเมืองเก่า และเทศบาลเมืองศิลา

ดร.ณรินทร์เล่าถึงที่มาโครงการนี้ว่า ที่ผ่านมาถ้าเป็นเรื่องรถไฟโดยมากจะดำเนินการภายใต้กระทรวงคมนาคม โดยมีองค์กรที่รับผิดชอบ 2 องค์กรคือ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

“ปรากฏว่า เราไปเจอใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระจายอำนาจว่ามีการให้อำนาจท้องถิ่นทำได้ แสดงว่าท้องถิ่นสามารถทำรถไฟได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ที่อนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อให้บริการสาธารณะได้ จึงเป็นช่องของการตั้ง KKTS

“เรามองว่าถ้าเราจะสร้างรถไฟฟ้าในขอนแก่น ถ้าใช้ พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เราจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และเราก็ยังไม่รู้ว่าในช่วงเวลา 3 ปีจะเกิดอะไรขึ้น หรือจะได้เงินมาจากไหน จึงตั้ง KKTS ให้ KKTS ไประดมทุน และ KKTS เป็นคนทำ โดยอาจจะจ้างเอกชนมาสร้างมาเช่า”

นั่นคือการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเป็นเจ้าของ ลงทุนเองโดยการระดมเงินทุน และสร้างเอง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการขอสิทธิให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการทำทีโออาร์ มีการประมูลการจัดสร้าง ทำรางไปพร้อมๆ กัน โดยรถไฟฟ้าสายแรกระยะทาง 22.6 กิโลเมตร จากท่าพระถึงบ้านสำราญ รวม 16 สถานี พาดผ่านถนนมิตรภาพ ซึ่งเป็นถนนเส้นทางหลักของเมือง โดยในเบื้องต้นเพื่อรองรับคนที่อยู่ในเมืองขอนแก่น

ทว่า ใช่ว่าเมื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จทุกอย่างก็จบ เมื่อเดินเครื่องแล้ว ลำพังแค่ค่าโดยสารย่อมไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงดำเนินการไปในระยะยาวได้

“เรามองว่าถ้าแค่ค่ารถอย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเอง เป็นที่มาของการขอพื้นที่ไข่แดงใจกลางเมืองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือพื้นที่ของศูนย์วิจัยในปัจจุบันราว 200-300 ไร่ สำหรับสร้างอาคารควบคุมการเดินรถไฟฟ้าและพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่มาใช้ในการดำเนินการทำรถรางตรงนี้”

ดร.ณรินทร์อธิบายต่อไปว่า ถ้าถามถึงความคุ้มค่าของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอาจจะไม่คุ้ม แต่ถ้ามองในแง่ของ “คุณค่า” ในเชิงประโยชน์สาธารณะ มันมีแน่นอน เปรียบเทียบได้กับการสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการ ถ้ามองในแง่ของการคุ้มค่าอาจจะไม่คุ้มแต่มีคุณค่ามากมาย

คิดใหม่-ทำใหม่ แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ดร.ณรินทร์บอกว่า ข้อดีของขอนแก่นอย่างหนึ่งคือ การมีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเสียสละเพื่อสร้างเมือง อย่างถ้าเป็นหอการค้าก็จะมีหอการค้าหนุ่ม คนเหล่านี้คือที่มาของการพัฒนาเมือง เป็นที่มาของการลงขันคนละ 5 ล้าน โดยไม่มองเรื่องของกำไรเป็นที่ตั้ง

“เราเป็นนักธุรกิจก็จริงแต่เรามีหมวกหลายใบ หมวกของการเป็นพลเมืองขอนแก่น หมวกของการเป็นนักธุรกิจ หมวกของการเป็นเจ้าของกิจการ ฉะนั้นเวลาทำ KKTT ให้ถอดหมวกของการเป็นนักธุรกิจออก และใส่หมวกของการเป็นพลเมือง เพราะต้องการทำอะไรให้เมืองของเราดีขึ้น

“อย่างมีคนเคยตั้งคำ ถามว่าออกแบบหอประชุมนานาชาติแล้วปล่อยให้ซีพีเข้ามาทำ ถ้ามองในเชิงธุรกิจเขาคงไม่ปล่อย แต่เรามองว่าทุกอย่างเป็นการต่อยอด เพื่อปิดจุดที่เคยเป็นปัญหา เมื่อก่อนจะทำอะไรก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเงิน แค่คิดก็ยังต้องจ้าง”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทุนที่ใช้ในเบื้องต้นที่ได้จากการลงขันของ 20 นักธุรกิจ แต่ฐานล่างจริงๆ ของการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาเมืองไม่ได้มีแค่นักธุรกิจ แต่ยังมีภาคส่วนต่างๆ ภาคประชาสังคมต่างๆ รวมทั้ง 23 องค์กรจีนที่เข้ามาร่วมระดมความคิดเห็นกันจากการสานเสวนาที่ถกเถียงกันมาตลอด 4-5 ปี กว่าจะตกผลึกออกมาเป็นบทสรุปร่วมกัน

“แนวคิดของเราไม่ได้อิงการพัฒนาหรืออะไร แต่เป็นการประสานความร่วมมือ ใครทำได้-ทำ จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ พัฒนาเมืองนี้ถ้าเราไปก๊อบปี้เขา อย่างดีที่สุดคือ เท่าเขา แต่ถ้าเราคิดใหม่ แล้วเราทำได้ เราทำก่อนคนอื่น เราจะไปข้างหน้าเขา ฉะนั้นตอนนี้เราไม่อยากจำกัดว่าต้องอิงแบบเดิม ขอเงินแบบเดิม ร่วมมือกับเอกชนแบบเดิม แต่มองว่ามีวิธีไหนมั้ย”

แม้ว่าจะยังมีเสียงติง เกรงว่าที่สุดแล้วเมื่อมีทุนใหญ่เข้ามา ที่สุดจะปิดโอกาสคนชั้นล่างหรือไม่ อย่างไร เป็นความท้าทายที่คนขอนแก่นต้องให้คำตอบ แต่อย่างน้อยหวังว่าจะเป็นโมเดลที่ปลุกกระแสให้เมืองอื่นหันมามอง และลุกขึ้นพัฒนาเมืองตนเองด้วยมือตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image