สายใจ เลิศวิริยะประภา “นายกเล็ก” เมืองเขาสามยอด ปักธงสร้าง “เมืองน่าอยู่” ยั่งยืน 

ใครที่มีโอกาสไปเยือนดินแดนประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ จะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หลายพื้นที่ได้รับการพัฒนาเปลี่ยนโฉมสู่ความเป็นเมือง ที่เต็มไปด้วยความครบครันของระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างน่าแปลกใจ

โดยเฉพาะ “เทศบาลเมืองเขาสามยอด” จังหวัดลพบุรี ที่เปลี่ยนจากสภาพทุ่งนาชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นเมืองที่มีทั้งอาคารทันสมัย ถนนคอนกรีต และสาธารณูปโภค เข้ามาเติมเต็มความสะดวกสบายให้คนในพื้นที่

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มาจาก สายใจ เลิศวิริยะประภา นายกเทศมนตรีเมืองเขาสามยอด ที่ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะนอกจากฝีมือการบริหารจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลงานโดดเด่นอย่างการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังนานนับเดือน และการจัดตั้งโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเปิดกว้างให้ลูกหลานชาวเขาสามยอดเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ด้วยเชื่อว่า การศึกษาสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้

สร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษา

Advertisement

นายกเทศมนตรีหญิงเก่งและแกร่ง เล่าให้ฟังถึงที่มาก่อนเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นว่า มาจากรุ่นพี่จุดประกายให้เกิดความคิดสร้างโอกาสและความเจริญเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมขังนานนับเดือนในฤดูฝนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมพัฒนาท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามยอดในเวลานั้น

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง มีการวางแผนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ในปี 2549 ขณะที่สายใจนั่งเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามยอด “โรงเรียนเขาสามยอดวิทยา” ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนหนังสืออย่างทั่วถึง

“ที่นี่เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 จนถึงชั้นประถมปีที่ 6 จากระยะแรกที่ยังไม่มีสถานที่ ต้องเช่าตึกแถวทำเป็นโรงเรียน ปัจจุบันเรามีอาคารเรียนถึง 3 หลัง มีการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ พร้อมทั้งเน้นเรื่องภาษา ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นของยุคนี้ มีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนอย่างห้องเรียนไอแพด เพื่อขยายโอกาสเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชน ขณะเดียวกันก็เป็นโรงเรียนที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม อย่างทุกวันพระต้องพานักเรียนไปทำบุญที่วัด”

Advertisement

เนื่องจากอัตลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี คือ เมืองทหาร โดยเฉพาะพื้นที่เขาสามยอด ที่มีหน่วยทหารถึง 9 หน่วย ชุดกีฬาประจำโรงเรียนจึงเป็นสีสันลวดลายแบบชุดทหาร เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ ซึมซับความมีระเบียบวินัยจากภาพลักษณ์ของชุดทหาร

และเมื่อถึงเทศกาลแต่งไทยร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทุกท้องถิ่นและหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนพร้อมใจกันแต่งชุดไทย น้องๆ ก็ได้สวมใส่ชุดไทยมาเรียนด้วยเช่นกัน

“เรายังส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว จะมีถังขยะที่ตั้งเรียงรายแยกถังแยกสีเพื่อสร้างขยะให้เป็นทุน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง เช่น ขวดพลาสติกที่ดื่มน้ำหมดแล้ว สามารถนำไปรีไซเคิลได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือขยะทั่วไป อย่างถุงพลาสติกที่นำไปทำพลังงานทดแทน ถ้าเป็นขยะอันตรายก็จัดเก็บอย่างระมัดระวังเพื่อนำส่งให้ อบจ. หาวิธีกำจัดอย่างปลอดภัย” 

บริเวณรอบๆ โรงเรียน จึงมีตุ๊กตาช้างน้อยน่ารัก ประดิษฐ์มาจากกล่องนมที่น้องๆ ดื่มเสร็จ เป็นอีกแนวทางการปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เห็นถึงคุณค่าของขยะที่ไม่ใช่ขยะ แต่สามารถนำมารีไซเคิลได้

“ส่วนขยะเปียกอย่างเศษอาหารก็มาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ เป็นการต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับลดรายจ่าย โดยน้องๆ สามารถแยกขยะกันเป็น และยังกลับไปทำที่บ้านของแต่ละคนด้วย เรียกว่าเป็นโมเดลที่เริ่มต้นจากในโรงเรียน ก่อนจะต่อยอดไปยังชุมชน”

ในความสำเร็จของการเป็นโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของเทศบาล แต่มีการจัดการศึกษาที่ไม่แตกต่างไปจากโรงเรียนในเมือง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากเทศบาลอย่างต่อเนื่อง โดยมีครูเป็นผู้เขียนแผนงาน พร้อมกับให้คณะผู้บริหารสมาชิกสภาเทศบาล มาพัฒนาและบริหารจัดการโรงเรียนร่วมกัน

“การที่เรามาทำงาน ได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชน ทำให้เมืองเปลี่ยนได้ ก็เพราะมีการจัดการศึกษาที่ช่วยให้เด็กๆ ได้รับโอกาสที่ดี สำคัญที่สุด คือ ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึง ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค เด็กได้รับการศึกษาเท่ากันทุกคน”

บริหารจัดการขยะ สร้างภูมิทัศน์สะอาดตา

จากการบริหารจัดการขยะที่เริ่มต้นจากโรงเรียน และต่อยอดไปยังชุมชน โดยมีศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ ที่บ้านพันเอกสมยศ พลเยี่ยม ประธานชุมชนเขาสามยอดที่ 8 ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ตั้งแต่การคัดแยกขยะต้นทาง ของใช้ เศษอาหารหรือใบไม้ สามารถนำมาทำปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าเป็นกล่องกระดาษกับถุงพลาสติกใช้แล้วก็ขายได้ ซองกาแฟกับหลอดพลาสติกนำไปทำพลังงานทดแทนได้ ส่งขายไปผลิตไฟฟ้า ถือเป็นขยะเพิ่มมูลค่า

ประโยชน์ที่ได้รับตั้งแต่ต้นทาง คือ ปริมาณขยะน้อยลง ช่วยให้เทศบาลประหยัดงบประมาณ เพราะลดรอบจัดเก็บ ในมุมของสิ่งแวดล้อมชุมชนก็ส่งผลให้เกิดเป็นเมือง ที่มีภูมิทัศน์สวยงามสะอาดตา ไม่มีถังขยะตั้งหน้าบ้าน เพราะไม่มีขยะทิ้งแล้ว

“คำว่าขยะเกิดเพราะเรามองเป็นขยะ แต่จริงๆ แล้ว ของทุกอย่างที่ทิ้งล้วนมีมูลค่า นำกลับมาใช้ใหม่หรือขายได้ แล้วยังเป็นการปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะให้ประชาชน ที่สำคัญเราไม่ได้มุ่งหวังเพียงเขาสามยอด แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ลพบุรีเป็นเมืองสะอาดด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จึงได้ขยายผลจากศูนย์เรียนรู้ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างเป็นเครือข่าย มีการนำวิทยากรลงพื้นที่ พร้อมสรุปผลงานความคืบหน้าทุกๆ เดือน

“จากการบันทึกสถิติ พบว่ามีผลตอบรับจากปริมาณขยะที่ลดลง เราสามารถวัดผลได้อย่างชัดเจนจากการจัดเก็บแต่ละรอบของรถเก็บขยะ”

นำศาสตร์พระราชาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง

อย่างที่กล่าวข้างต้นถึงปัญหาซ้ำซากของน้ำท่วมขังแต่ละครั้งที่นานนับเดือนไม่สามารถแก้ไขได้ หลังศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำไม่สามารถระบายออก พร้อมกับหาแนวทางแก้ไขแบบบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยทหาร ก็ได้ขอจัดสรรพื้นที่ภายในศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธฯ ค่ายจิรวิชิตสงคราม ขุดเป็นแก้มลิงแต่ละเฟส หลังจากน้ำเต็มแล้วก็จะไหลไปตามทางออกที่ทำไว้ พร้อมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ใช้หลักการเดียวกันก็คือ ต้องหาทางให้น้ำออกไปให้ได้ ไม่ให้ขังอยู่กับที่

จากความสำเร็จในการนำศาสตร์พระราชามาช่วยบริหารจัดการน้ำ การมีจุดกักเก็บน้ำยังเกิดเป็นแนวคิดต่อยอดช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเมื่อเกิดภัยแล้ง รวมถึงขยายพื้นที่เพิ่มเป็น “เมืองแห่งสุขภาพ” ด้วยการใช้ดินที่ขุดขึ้นมาทำเป็นคันดินสำหรับลู่วิ่งและเลนสำหรับปั่นจักรยาน ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่สวยงามของธรรมชาติ ทุกวันนี้มีพี่น้องประชาชนมาใช้บริการแต่ละวันเกือบ 400 คน

“จากน้ำท่วมที่เป็นวิกฤต ก็มาแปรให้เป็นโอกาส ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้อีกทางหนึ่ง และยังนำไปสู่ผังเมืองที่ดีอีกด้วย”

นายกฯ สายใจ บอกว่า ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธฯ แห่งนี้ ถูกวางให้เป็นโมเดลต่อยอดเรื่องศาสตร์พระราชาและเมืองแห่งสุขภาพ ทั้งยังมีการขยายผลไปถึงหน่วยงานทหารอื่นๆ ต้องยอมรับว่า หากไม่มีหน่วยทหารช่วยแก้ไขปัญหา น้ำก็ต้องท่วมขังซ้ำซาก ยากที่จะประสบความสำเร็จ

“จนถึงวันนี้ ปัญหาน้ำท่วมถือว่าแก้ไขได้เกือบ 100% สามารถทำให้เมืองเปลี่ยนได้ ก็เพราะหน่วยทหารช่วยอนุเคราะห์พื้นที่ แล้วเราก็มีการดูแล ต่อยอด ศึกษาในเรื่องโครงการต่างๆ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มองเพียงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเดียว แต่กำลังพัฒนาเป็นนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งจากการที่มีจุดกักเก็บน้ำ เรียกว่าเป็นนวัตกรรมกักเก็บน้ำ-ระบายน้ำ”

เปิดช่องทางดิจิทัลรับเรื่องร้องทุกข์

อีกนวัตกรรมของเทศบาลเมืองเขาสามยอดที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เป็นช่องทางสำหรับชาวบ้านสะท้อนความคิดเห็น บอกกล่าวปัญหาหรือเรื่องราวของแต่ละชุมชนได้โดยตรงก็คือ แอปพลิเคชัน ‘เขาสามยอด’ สามารถอัปเดตสถานการณ์จากพี่น้องประชาชน รับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ รวมถึงเวลาเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ

  “เทศบาลมีการทำงานร่วมกับหน่วยทหาร รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 10 แห่ง จากเดิมที่ประชาชนจะต้องเดินทางมาเขียนคำร้อง ปัจจุบันใช้ช่องทางดังกล่าวในการเข้าถึงและแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา แอดมินจะทำงานร่วมกันกับหน่วยทหาร มีการแบ่งพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนของแต่ละหน่วย  แอปพลิเคชันจะทำหน้าที่สื่อสาร รับรู้และแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น นับว่าสะดวก รวดเร็ว ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าพึงพอใจ”

ปักธงเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

จากวันแรกที่ได้ลงมือพัฒนาท้องถิ่นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 23 ปี ต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ อีกทั้งปัญหาแต่ละช่วงจากแต่ละรัฐบาล เมื่อถามไปตรงๆ ถึงความเหนื่อยยากในการทำงาน หรือต้องปรับตัวอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า

“เราเป็นท้องถิ่น จำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะทำงานร่วมกับทุกกระทรวง ทุกกระทรวงยกมาอยู่ในท้องถิ่น ทั้งนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์จังหวัดจะต้องมีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ถ้าไม่ปรับตัวก็ลำบาก เพราะเทศบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จะต้องบริหารจัดการเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข”

ผลจากการลงมือทำงานอย่างจริงจัง สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนให้พื้นที่เทศบาลเมืองเขาสามยอด แม้แต่ที่ทำการในปัจจุบัน จากอดีตก็เป็นเพียงพื้นที่ท้องนา ก่อนถูกพัฒนาให้เป็นสำนักงานทันสมัย เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนที่มีถึง 7 หมู่บ้าน 34 ชุมชน นับได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งใน “เมืองน่าอยู่” ของประเทศไทย นักพัฒนาหญิงแกร่งยังได้ทิ้งท้ายอีกว่า

“จากอดีตที่เทศบาลเมืองเขาสามยอดได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับโครงการใหญ่ๆ ในอนาคต ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเติมเต็มในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image