‘ธนวัฒน์ ยอดใจ’ นายกเล็ก กางแผนปั้น ‘แม่เหียะ’ จ.เชียงใหม่ สู่เมืองอัจฉริยะ

บทบาทการบริหารดูแลจัดการพื้นที่ เป็นตัวกำหนดว่าพื้นที่นั้นๆ จะมีการพัฒนาไปสู่เส้นทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงต้องมีผู้นำที่มีความตั้งใจและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน พร้อมลงมือเปลี่ยนแปลงและพัฒนาท้องถิ่น จับมือประชาชนก้าวไปสู่โลกอนาคต

เช่นที่ ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ที่คลุกคลีกับการบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า 22 ปี ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนี้ แสดงถึงความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ เพราะธนวัฒน์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไว้มากมาย ปรับปรุงเมืองแม่เหียะให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จัดทำฐานข้อมูลอัจฉริยะ พัฒนาการศึกษา ดูแลความปลอดภัย รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

“ในกระบวนการการพัฒนาเมือง ต้องรวมถึงการดูแลพี่น้องประชาชนในเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ประเพณีคงอยู่ การศึกษา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการการดูแลพี่น้องประชาชนนั้นดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว เข้าถึงง่าย เราถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเมืองของเรา ด้วยคนของเราเอง” นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะประกาศก้อง

จากความฝันสู่ความจริง

Advertisement

ธนวัฒน์เป็นคนพื้นที่เมืองแม่เหียะ ความที่พ่อแม่ทำนาค้าขาย แต่ตนเองมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกฎหมาย จึงไปเรียนด้านนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ในกระบวนการทำงานที่จะมาเป็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วย จึงไปสมัครเรียนต่อที่คณะศิลปศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนได้ก้าวสู่เส้นทางการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในปี 2542 

“ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเมือง ต้องใช้กฎหมายในการดูแลประชาชน อีกทั้งผมเองมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ จึงให้ความสำคัญด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ เป็นพิเศษ”

จากความตั้งใจและมุมานะในการดูแลเมืองแม่เหียะ ในที่สุดธนวัฒน์ก็ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ก้าวสู่นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ในปี 2564 เมื่อได้รับเลือกแล้ว ธนวัฒน์ก็มุ่งมั่นพัฒนาเมืองแม่ เหียะอย่างขันแข็ง มองเห็นปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมวางแผนพัฒนาเมืองแม่เหียะให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

Advertisement

ล่าสุด ธนวัฒน์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งการดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอัจฉริยะ การพัฒนารายได้ และศูนย์บริการเป็นเลิศ สมาร์ทซิตี้ ที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทโดดเด่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี พ.ศ.2563

มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะเต็มพิกัด ด้วยศูนย์บริการเป็นเลิศ

การติดต่อ หรือร้องทุกข์ แต่เดิมมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน ประชาชนในพื้นที่เมืองแม่เหียะต้องใช้เวลาเดินทาง ต่อคิว และนั่งรอเป็นเวลานานในการติดต่อธุระทางราชการ

นายกเล็กเล่าว่า สำนักงานเทศบาลมีความตั้งใจปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก และซับซ้อน จึงให้ไอเดียแก่นักออกแบบในการแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้งานได้สะดวก เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีความสุข สบาย ลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อประสิทธิภาพงานที่ดียิ่งขึ้น

การเปลี่ยนรูปแบบการบริการสาธารณะรูปแบบใหม่ของเทศบาลแม่เหียะ เป็นการใช้ไอเดีย ‘วัน สต็อป เซอร์วิส’ หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการบริการสาธารณะ เป็นแนวคิดที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้มาติดต่อราชการสามารถรับบริการจากหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ในที่แห่งเดียว นั่นคือ ‘ศูนย์บริการเป็นเลิศ’ เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

“ระบบของเราเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยการร่วมมือกันของเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการการทำงานแก่ประชาชน โดยใช้ระบบมือถือ เรียกได้ว่า ประชาชนอยู่ที่ไหน เทศบาลอยู่นั่น เพียงแค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เปิดแอปพลิเคชันก็เจอกันแล้ว” ธนวัฒน์กล่าว

แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมา เป็นแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าประชาชนจะร้องทุกข์ แจ้งรายงาน หรือขออนุมัติ สามารถทำได้ครบ จบที่แอพพลิเคชั่นเดียว ทั้งยังสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ด้วย เพราะสามารถประมวลผลการทำงานของแต่ละกองได้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ซึ่งธนวัฒน์สามารถติดตามดูรายงานได้ตลอดเวลา และเนื่องจากเป็นระบบออนไลน์ เทศบาลจึงต้องจัดทำฐานข้อมูล เพื่อวางแผนพัฒนาองค์กรต่อไปได้ 

ฐานข้อมูลที่แม่นยำ ส่งผลต่อการพัฒนาที่ดี

ระบบฐานข้อมูล เป็นการจัดการเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้บริหารองค์กร และวางแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งการมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ จะส่งผลต่อการทำงานของเทศบาลในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

เช่นนี้ ภายในสำนักงานจึงมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำฐานข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโดรน กล้อง 360 องศา และกล้องวัดระยะ ซึ่งการทำงานของโดรน จะใช้สำหรับแยกประเภทที่ดินของเมือง เช่น พื้นที่ทำการพาณิชย์ พื้นที่เกษตรกรรม เพื่อทำการวางระบบจัดเก็บภาษี ปี 2565 

การพัฒนาท้องถิ่นทำได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับฐานข้อมูล จึงต้องมีการดำเนินการทำฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่เสียภาษี ว่าเป็นการเก็บภาษีที่ถูกต้อง ถูกระเบียบ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ในแง่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การทำถนน 

ฐานข้อมูลที่เทศบาลเมืองแม่เหียะจัดทำ ยังรวมถึงการเก็บสถิติจำนวนประชากร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ข้อมูลผู้ที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการ และสัตว์เลี้ยงทั้งหมดอีกด้วย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองแม่เหียะ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 

สร้างเมืองแห่งความปลอดภัย-วางรากฐานการศึกษา

เพราะชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เมืองแม่เหียะจึงติดกล้องจำนวน 250 ตัว ในพื้นที่ถนนสายหลักและถนนสายรอง เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทุกคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวว่ามีความปลอดภัยแน่นอน โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อยอยู่ในห้องมอนิเตอร์ คอยสอดส่องดูความผิดปกติ และมีวิทยุติดต่อประสานงานกับตำรวจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ ให้สามารถไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที

นายกเล็กยังมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตของเด็กๆ ในพื้นที่เทศบาล จึงจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองแม่เหียะบนพื้นที่ 5 ไร่ ให้ลูกหลานประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกล จัดให้เรียนฟรีทุกอย่าง เสื้อผ้าฟรี อุปกรณ์ฟรีทั้งหมด และเป็นโรงเรียนที่มีสอนถึง 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน พร้อมวางแผนเปิดการสอนระดับประถมศึกษาต่อไปในอนาคต เพื่อยกระดับเมืองแม่เหียะให้เป็นเมืองแห่งสังคมคุณภาพด้วยการศึกษา 

ผลักดันการท่องเที่ยวให้เฟื่องฟู

เมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ มีสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กประจำจังหวัด เช่น อุทยานหลวงราชพฤกษ์ วัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถนัดตา แต่นายกเล็กก็ใช้จังหวะนี้เดินหน้าปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถทำกินและมีรายได้

ธนวัฒน์เล่าว่า อย่างพื้นที่ประวัติศาสตร์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 470 ไร่ มีความโดดเด่นและสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ภายในแบ่งพื้นที่เป็นสวนดอกไม้ ที่แสดงดอกไม้สวนของประเทศต่างๆ ก็จะดูแลและปรับปรุงให้คงความสวยงามดังกล่าวไว้ ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ต่อไป 

อีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์คือ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการพาชมสัตว์ต่างๆ ในเวลากลางคืน มีแผนการพัฒนาต่างๆ เช่น ธุรกิจชุมชน สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ด้วยการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4 ตำบลโดยรอบเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้แก่ ตำบลแม่เหียะ ตำบลสุเทพ ตำบลหนองควาย และตำบลบ้านโป่ง ให้ดำเนินการจัดผักและผลไม้ส่งมาเป็นอาหารสัตว์ภายในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนหลายล้านบาทต่อปี 

นอกจากนี้ ยังผลักดันให้ประชาชนมีอาชีพเพิ่มเติมภายใต้โครงการหลวง ส่งเสริมสนับสนุนทั้งคนบนดอย และคนในพื้นที่ราบ ได้ดำเนินการปลูกผักผลไม้ส่งโครงการหลวง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้กินได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นผักสดๆ ดอกไม้สวยๆ และผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูป เช่น กาแฟ และชาต่างๆ ที่มาจาก 29 ดอย 

สุดท้าย วัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สำคัญ มีความเป็นมายาวนานกว่า 1,300 ปี และมีหลวงพ่อทันใจ ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะดูแลพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามยิ่งขึ้น 

นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ยังกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลง นั่นคือการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ 

“ในแอปพลิเคชันจะมีการแสดงพื้นที่รีสอร์ท ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ทั้งยังบอกให้ทราบถึงราคา โปรโมชั่น และสำหรับคนนอกพื้นที่ที่ต้องการมาลงทุน แอปพลิเคชันจะแสดงพื้นที่ที่สามารถซื้อที่ดิน และการลงทุนในลักษณะต่างๆ นี่คือกระบวนการที่อยากเปลี่ยนแปลง” 

ทั้งหมดคือสิ่งที่ ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งมั่นตั้งใจทำ เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างแท้จริง สมดังสโลแกนประจำตัว ที่เป็นเหมือนเป้าหมายให้ตนเองพาชุมชนก้าวไปข้างหน้าว่า…

“เมืองแม่เหียะ เมืองแห่งสังคมคุณภาพ สังคมคุณธรรม เมืองที่น่าเที่ยว เมืองที่น่าอยู่ เมืองแห่งความปลอดภัย”

#นายกเทศมนตรี #นายกเล็ก #เทศบาล #ธนวัฒน์ยอดใจ #เทศบาลเมืองแม่เหียะ #สมาร์ทซิตี้ #เมืองอัจฉริยะ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image